มุมมอง
NFT กลายเป็นคำที่ทุกคนได้ยินบ่อยครั้งในช่วงหลังๆ และหลายคนอาจจะสนใจ NFT ในแง่มุมต่างๆ ทั้งศิลปินที่สนใจผลิตงานเพื่อขายเป็น NFT หรือจะเป็นการลงทุน ในงาน Bangkok Design Week 2022 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ทาง SC Asset ก็แถลง แผนที่จะเข้าไปในตลาด NFT และ Metaverse เพื่อสร้างบริการรูปแบบใหม่ๆ พร้อมกับจัดงานสัมมนา NFT 101 presented by SC Asset ที่เชิญผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายถึงสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ NFT และโอกาสต่างๆ
NFT คืออะไร
คุณเอ็ดดี้-ภรากร ไทยวรศิลป์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม NFT and Crypto Art Thailand อธิบายถึงแนวคิดของ NFT หรือ non-fungible token ว่าเป็น token ที่แต่ละอันทดแทนกันไม่ได้ ต่างจากเงินคริปโตทั่วๆ ไป เช่น Ethereum ที่ token ใดๆ ก็เหมือนกันขอให้เป็นสกุลเดียวกันเท่านั้น
ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งคือ NFT จะมีลักษณะเป็นชิ้น กระบวนการโอนจึงเป็นการส่งต่อทั้งชิ้นไม่สามารถแบ่งโอนไปได้ และแต่ละชิ้นก็มีความเป็นตัวตนของตัวเอง ไม่สามารถทดแทนกันได้สมบูรณ์ แม้ NFT บางงานนั้นผู้ผลิตจะกำหนดให้ผลิตออกมาหลายชิ้น แต่ก็มีจำนวนจำกัด
ความสำคัญของ NFT
ที่ผ่านมาบริษัทขนาดใหญ่มีความสนใจใน NFT มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นในการแถลงถึงวิสัยทัศน์ Metaverse ของบริษัท Meta นั้นก็มีการพูดถึงการใช้ NFT มาเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินทรัพย์ในโลก Metaverse หรือบริการวิดีโออย่าง YouTube ก็ระบุว่ากำลังสำรวจการใช้งาน NFT เพื่อสร้างรายได้ให้ครีเอเตอร์บนแพลตฟอร์ม ไปจนถึงบริการที่ชัดเจนที่สุดคือ Twitter Blue ที่เปิดให้แสดงความเป็นเจ้าของ NFT และนำมาแสดงเป็นภาพโปรไฟล์ในเว็บทวิตเตอร์เอง โดยแสดงภาพเป็น 6 เหลี่ยมแสดงว่าได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเจ้าของจริง ไม่ได้เพียงแค่นำภาพมาใช้เฉยๆ
สำหรับแบรนด์เจ้าของงานลิขสิทธิ์ต่างๆ ก็มีความสนใจใน NFT ไม่ต่างกัน ตัวอย่างเช่นแบรนด์ Burberry ที่ร่วมมือกับบริษัท Mythical Games สร้างคอลเลคชั่นพิเศษเป็นไอเท็มในเกม Blankos Block Party
NFT เริ่มมีการใช้งานมาไม่นานนัก มีการสำรวจว่าเมื่อปี 2017 นั้นมีการซื้อขายกันอยู่ราว 30 ล้านดอลลาร์เท่านั้น แต่ในปีที่ผ่านมาเฉพาะการซื้อขาย NFT ในกลุ่มการ์ดสะสมนักกีฬาก็มีมูลค่าสูงกว่า 1,100 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 36,000 ล้านบาทไปแล้ว แสดงให้เห็นความเติบโตในวงการนี้และความสำคัญในอนาคต และเฉพาะเดือนมกราคมที่ผ่านมาก็มีมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์
NFT กับ Metaverse
กระแส Metaverse ได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่อ Facebook เปลี่ยนชื่อเป็น Meta พร้อมกับระบุถึง NFT อยู่ช่วงหนึ่งในการแสดงวิสัยทัศน์นี้ คุณเอ็ดดี้ระบุว่า NFT จะทำให้เราสามารถแสดงความเป็นเจ้าของวัตถุต่างๆ ในโลกเสมือนได้เหมือนโลกจริงยิ่งขึ้น สามารถส่งต่อวัตถุเหล่านั้นได้ไม่ต่างจากการขายสินค้าในโลกจริง รวมถึงเมื่อเราเป็นเจ้าของแล้วก็มีโอกาสที่จะนำวัตถุเหล่านั้นไปใช้งานข้ามบริการต่างๆ
ความเป็นไปได้ในอนาคตเช่น SC Asset เองที่มีแบบบ้านต่างๆ ก็อาจขายแบบบ้านเหล่านี้เป็น NFT เพื่อให้คนซื้อแบบบ้านไปวางในโลก Metaverse ของตัวเอง โดยอาจจำกัดจำนวนผู้ซื้อบ้านแต่ละแบบเหมือนกับที่โครงการต่างๆ มีผู้ซื้อได้จำกัดเช่นเดียวกัน
คุณพราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด Zipmex Thailand ระบุว่า Metaverse จะทำให้ NFT ต่างๆ มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างมากเพราะมีที่ใช้งานวัตถุเหล่านี้ ในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมาคนทำงานจากที่บ้านและอยู่ในโลกเสมือนมากขึ้นแทนที่จะเจอหน้า ทำให้การซื้อไอเท็มในโลกเสมือนเพื่อแต่งตัวอวาตาร์ก็เป็นเหมือนการซื้อเสื้อผ้าแต่งตัวในโลกความเป็นจริง
งานประเภทไหนบ้างที่มีการผลิตเป็น NFT
คุณเอ็ดดี้เล่าถึงงานประเภทต่างๆที่มีการซื้อขายในโลก NFT ว่ามี 7 กลุ่ม ได้แก่
- 1-on-1: เป็นงานที่มีชิ้นเดียวโดดๆ ไม่เกี่ยวข้องกับชิ้นอื่นๆ อีก
- คอลเลคชั่น: เป็นงานที่สร้างขึ้นมาเป็นชุด เช่น 3LAND WORLD ศิลปินคนไทยสร้างงานขึ้นมาเป็นชุดจำนวน 241 ชิ้น
- Generative Art: เป็นกลุ่มที่เราเห็นบ่อยๆ คือภาพลิงในกลุ่ม Bored Ape Yacht Club ที่มีประมาณหมื่นภาพ โดยใช้คอมพิวเตอร์สร้างภาพขึ้น
- Performance Art: เป็นงานที่เกี่ยวกับร่างกายของผู้สร้างเอง เช่น การเต้นหรือแสดงต่างๆ
- NFT Photo: ภาพถ่ายต่างๆ เช่น The Green Symphony ขายภาพแสงเหนือ
- Experiment and Conceptual Cryptoart: เป็นงานทดสองในแบบต่างๆ เช่นงาน The Merge ของ Pak ที่ขายลูกบอลดิจิทัล 2,800 ชิ้น และหากใครซื้อจำนวนมากลูกบอลก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ หรือภาพของ Robert de Niro ที่เปลี่ยนสีหน้าไปตามราคา Ethereum
- NFT Music: ศิลปินด้านดนตรีสามารถแปลงเพลงมาเป็น NFT โดยศิลปินบางคนก็ทำงานเป็นมิวสิควิดีโอแล้วขายเป็น NFT ทั้งวิดีโอ โดยวงการนี้ก็เป็นอีกส่วนที่มีการเติบโตค่อนข้างมาก
แพลตฟอร์มใดบ้างที่สามารถนำ NFT ไปขายได้
แพลตฟอร์ม NFT นั้นมีจำนวนมาก แม้แต่ในไทยเองก็มีผู้ให้บริการเตรียมจะเปิดกันหลายราย แต่ในระดับโลกแพลตฟอร์มที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคงเป็น OpenSea คุณเอ็ดดี้ระบุว่าแต่ปีนี้แพลตฟอร์ม LooksRare ที่เพิ่งเปิดมาได้ไม่นานกลับได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเพราะค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า OpenSea มาก
โอกาสสำหรับศิลปินในโลก NFT
คุณเอ็ดดี้แนะนำศิลปินว่าหากสนใจขายงานในโลก NFT นั้น ต้องอาศัยการสร้างแบรนด์ดิ้งของผู้สร้างเอง ทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างทวิตเตอร์ หรือ Clubhouse โดยควรมีปฎิสัมพันธ์กับนักสะสมบ้าง และใส่ข้อมูลงานใน bio ของแพลตฟอร์มให้ครบถ้วน และสุดท้ายแล้วการขาขงานไม่ได้เลยในคอลเลคชั่นแรกๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนัก
ควรตระหนักว่า NFT นั้นมีต้นทุนการลงงาน (mint) พอสมควร คุณเอ็ดดี้ระบุว่าในสมัยก่อนเขาสามารถวางงานได้ในราคาไม่กี่ร้อยบาท แต่ทุกวันนี้อาจจะมีต้นทุนนับพันบาท นอกจากนี้อาจจะมีแพลตฟอร์มบางแห่งที่ไม่มีค่าธรรมเนียมวางงานเลย แต่เสียค่าธรรมเนียมต่อเมื่อขายงานได้เท่านั้น
เทคนิคหนึ่งในการสร้างความสนใจคือการร่วมมือข้ามสายการ เช่น ช่างภาพร่วมมือกับนักดนตรี หรือจะเป็นการส่งงานในโลกจริงให้ผู้ซื้อไปด้วยพร้อมกันเพื่อสร้างความสนใจเพิ่มเติมแต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป คุณติ๊ก ชิโร่ เล่าถึงประสบการณ์การขายเนื้อเพลงรักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ฉบับแรกที่ขายให้ผู้ซื้อชาวสิงคโปร์ไปก็ไม่ได้ขายต้นฉบับไปแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีโอกาสเพิ่มเติมสำหรับการขายงานที่ระบุว่าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมกลับมาให้ผู้สร้างในกรณีที่มีการส่งต่อ ก็เป็นโอกาสสร้างรายได้ในระยะยาวของศิลปิน
อันตรายในโลก NFT
เมื่อโลก NFT มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็มีอันตรายต่างๆ เข้ามา ตัวอย่างเช่นการขโมยงานคนอื่นๆ เช่น Bored Ape Yacht Club ที่โด่งดังนั้นก็จะมีคนสำเนางานไปวางขายบน OpenSea เองอยู่เรื่อยๆ คุณเอ็ดดี้แนะนำให้ตรวจสอบเครื่องหมาย Verified ของ OpenSea เพิ่มเติมรวมถึงตรวจสอบรายการซื้อขายย้อนหลังว่าเป็นบัญชีที่สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกคนให้เข้าใจผิดหรือไม่ อย่างไรก็ดี กระบวนการขอ Verified นั้นใช้เวลาขอค่อนข้างนาน เช่น ศิลปินไทยหลายคนก็ยังไม่ได้ ทำให้การดูรายการซือย้อนหลังได้ผลมากกว่า นอกจากนี้ยังควรตรวจสอบจากช่องทางอื่นๆ เช่น ทวิตเตอร์หรือเว็บไซต์ ที่ระบุลิงก์ OpenSea หรือหมายเลขบัญชีบน Ethereum ที่เราสามารถตรวจสอบได้ว่าตรงกันหรือไม่
คุณพราวเตือนถึงการลงทุนในโทเค็นต่างๆ รวมถึง NFT ที่มีโอกาสที่เสียหายถึงขั้นสินทรัพย์ทั้งหมดที่ลงทุนไปหมดค่าไป โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่สร้างงานขึ้นมาขายในโลก NFT มักจะเปิดเผยตัวตนพร้อมประสบการณ์ทำงาน และเมื่อเกิดเหตุโกงต่างๆ ขึ้นมาแล้วกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมายก็ทำได้ค่อนข้างลำบาก เช่น OpenSea เองที่ซื้อขายผ่านเงินคริปโต เช่น Ethereum ซึ่งตามตัวได้ยาก
นอกจากบัญชีปลอมแล้ว เว็บปลอมของแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น OpenSea, MetaMask ก็มีเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน การเข้าใช้งานก็ต้องตรวจสอบให้ถูกต้อง
สุดท้ายคุณเอ็ดดี้ระบุว่าผู้สนใจ NFT ควรศึกษาการใช้งาน hardware wallet เพราะหลายครั้ง NFT กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง การป้องกันจึงควรเริ่มตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ และทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรมใดๆ ควรทำด้วยความระมัดระวังเสมอ
SC Asset เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับกระแส Cryptocurrency และ NFT มาอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ทาง SC Asset ก็ประกาศความร่วมมือกับ Zipmex แพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล เตรียมเปิดตัว SC Morning Coin ที่เป็น Utility Token เปิดให้ลูกบ้านจำนวนมากสามารถใช้กับสินค้าและบริการต่างๆ ในเครือได้ หรือจะเป็นการวางแผนถึงการบุก NFT นำไปสู่การขายอสังหาในโลก Metaverse ในอนาคต และการจัดงาน NFT 101 presented by SC Asset ก็เป็นการตอกย้ำกว่า SC Asset ให้ความสนใจและสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ NFT ในวงกว้าง