มุมมอง
เปิดต้นปีเสือมาก็เจอกับโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ทำให้ต้องปรับแผนกันตั้งแต่ต้นปีที่จะกลับมาเรียนออนไซต์ก็ต้องตั้งหลักเรียนที่บ้านอีกรอบ เช่นกันกับการงาน หลายองค์กรแม้จะปรับเป็น “ไฮบริดเวิร์ก” แล้วก็ยังต้องกลับไป WFH รอดูสถานการณ์
ตั้งแต่รู้จักโควิด-19 มาร่วม 2 ปี “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ซีอีโอ “เอไอเอส” เชื่อว่าทุกธุรกิจจะได้เรียนรู้ใน 2 เรื่อง คือ 1.การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ในมุมผู้บริโภคที่เห็นชัด คือ การสั่งซื้อของออนไลน์ และการใช้โมบายแบงกิ้ง ในแง่องค์กร เช่น เอไอเอสทำให้การประชุมทางไกลผ่าน “ไมโครซอฟท์ทีม” เป็นเรื่องปกติ และเชื่อว่าจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการทำงาน การทำธุรกิจ และการใช้ชีวิตในอนาคต ไม่เฉพาะกับเอไอเอส
และ 2.เกิดสิ่งที่ไม่คิดว่าจะทำได้ เช่น เอไอเอสเคยประกาศให้มีเวิร์กกิ้งสเปซ และ no room policy ผู้บริหารไม่ต้องมีห้อง พนักงานไม่ต้องมีโต๊ะเก้าอี้ของตัวเอง หลายคนเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ และมองว่าการทำงานที่ดีต้องมีโต๊ะส่วนตัว กระทั่งโควิดมาต้องอยู่บ้าน ไม่เข้ามาออฟฟิศก็ทำงานได้
“ผมเคยประกาศว่าอยากให้องค์กรเราทำงานสัปดาห์ละ 4 วันที่ออฟฟิศ อีก 1 วันที่ไหนก็ได้ HR บอกเป็นไปไม่ได้ พนักงานไม่คุ้นชิน แต่พอเกิดโควิดสิ่งเหล่านี้เป็นออโตเมติก เร็ว ๆ นี้เราจะมีนโยบาย 60 : 40 ให้มาทำงานที่ออฟฟิศ 3 วัน อีก 2 วันทำที่ไหนก็ได้ นี่คือตัวอย่างสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ ก็เป็นไปได้”
ไม่เฉพาะการบริหารจัดการภายใน บางเรื่องที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดก็เป็นไปแล้ว เช่น กรณีที่เกิดกับธุรกิจที่เคยมั่งคั่ง มั่นคงอย่างสายการบินโลว์คอสต์แอร์ไลน์
“สมัยก่อนเรารู้ว่าธุรกิจบางอย่างล้าสมัย เช่น ฟิล์มโกดัก, กล้อง, โทรเลข ถึงเวลาก็ต้องไป แต่ธุรกิจที่กำลังเจริญรุ่งเรืองอย่างสายการบิน ไม่มีใครคิดว่าแทบจะหายไปได้เลยเมื่อโควิดมา”
ถามว่า “เอไอเอส” ได้แนวคิดอะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้น
“สมชัย” บอกว่า ที่ผ่านมาแม้จะโชคดีที่ทำเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมานาน แต่ “โควิด” ช่วยให้สิ่งที่คิดและทำ เกิด “เร็ว และแรงขึ้น” ทำให้ได้คิดว่าจะอยู่รอดได้ต้องปรับตัวเร็วขึ้นและแรงขึ้นด้วย
ในทุกวิกฤตจะมีคนอยู่ 3 กลุ่ม 1.คนที่อยู่ได้เพราะปรับตัวได้ 2.อยู่ไม่ได้ล้มหายตายไป และ 3.คนที่แข็งแรงขึ้น
เมื่อเทคโนโลยี “ดิจิทัล” กลายเป็น “ทางรอด” ไม่ใช่ “ทางเลือก” “เอไอเอส” เป็นผู้ให้บริการมือถือและสารพัดบริการดิจิทัล ย่อมได้ประโยชน์เพราะคนต้องใช้ แต่ในดีย่อมมีเสีย “สมชัย” บอกว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และเอไอเอสในฐานะที่อยู่ในอีโคซิสเต็มของระบบเศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบเช่นกัน พร้อมอธิบายว่าเมื่อมีการใช้เพิ่ม 20-30% ย่อมหมายถึงการลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะต้องเพิ่มขีดความสามารถของระบบให้รองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่รายได้ไม่ได้เพิ่มตามยอดการใช้และการลงทุน
“รายได้เพิ่มขึ้นไม่ทันกับต้นทุน ถ้าเศรษฐกิจดี ราคา (ค่าบริการ) จะถูกจะแพงอยู่ที่การแข่งขัน แต่ตอนนี้ถูกหรือแพง ไม่ใช่แค่การแข่งขันอย่างเดียว ต้องดูเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคด้วย เมื่อก่อนเคยเก็บ 500 บาท ตอนนี้อาจเก็บแค่ 300 บาท ทั้ง ๆ ที่ลูกค้าใช้มากขึ้น ดังนั้น โดยรวม ๆ แล้วโควิดมีข้อเสียมากมายทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ ประชาชนฐานรากลำบาก ธุรกิจบางเซ็กเตอร์ก็ลำบาก”
หลังเผชิญโควิดนานกว่า 2 ปี “สมชัย” ประกาศขับเคลื่อนองค์กรไปอีกขั้น โดยมุ่งไปยัง “Cognitive Telco” หรือองค์กรอัจฉริยะ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างหลากหลาย และเปลี่ยนแปลงรวดเร็วให้ได้ ปีนี้จึงมีแผนลงทุนต่อเนื่องอีกไม่น้อยกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท
“บริการของเราเป็นพื้นฐานของการช่วยธุรกิจอื่น ๆ ถ้าออนไลน์ล่ม ทำงานที่บ้าน เรียนที่บ้านไม่ได้ก็ยิ่งจะหนักไปกันใหญ่ ในฐานะธุรกิจใหญ่ที่มีกำลังก็ต้องลงทุนต่อ ไม่อย่างนั้นโดยรวมจะยิ่งไปไม่ได้ แต่มากกว่าเอกชนรายใหญ่ที่เป็นปลาใหญ่ต้องช่วยรายเล็ก ๆ คือ รัฐบาล ต้องกล้าจัดสรรเงินลงไปช่วยรายย่อยอย่างจริงจัง เพราะต่อให้เอกชนจะใหญ่มากขนาดไหนก็ยังเป็นส่วนที่น้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับ budget ของรัฐบาล”
- AIS ผนึกพันธมิตรพลิกเกม ลุยดีลร่วมทุนยักษ์ค้าปลีก
อ่านข่าวต้นฉบับ: บทเรียนปลาใหญ่