มุมมอง
เมื่อ Pet แปลว่า "สัตว์เลี้ยง"
แล้ว Exotic Pet คืออะไร?
อธิบายสั้น ๆ Exotic Pet ก็คือ "สัตว์แปลก" หรืออีกความหมายหนึ่งในภาษาไทยแปลว่า "สัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ" และตามตำราของสัตวแพทย์ให้คำจำกัดความถึงสัตว์เลี้ยงชนิดใดก็ได้ ที่ไม่ใช่สุนัขและแมว (ในชนิดปกติ) ไม่นับรวมสัตว์ในภาคปศุสัตว์
จากความหมายที่ว่ามาทั้งหมด บางคนอาจจะนึกไม่ออกว่า Exotic Pet นั้นมีอะไรบ้าง?
แต่ถ้าเอ่ยถึงชื่อเหล่านี้ล่ะ!
อูฐ, อัลปาก้า (Alpaca), ม้าแคระ, วัวแคระ, นกฟลามิงโก (Flamingo), เฟนเน็คฟ็อกซ์ (Fennec Fox) และกระต่ายแองโกล่า (Angora Rabbit)
เราต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี แม้จะเป็นสัตว์เหมือน ๆ กัน แต่ด้วย "ความแปลก" จึงทำให้สัตว์เหล่านี้ถูกจัดอยู่ในประเภทสัตว์เลี้ยงพิเศษ หรือ Exotic Pet นั่นเอง
Exotic Pet สามารถจำแนกออกเป็น 6 กลุ่ม
- กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน เช่น อีกัวน่า, กิ้งก่า beard dragon
- กลุ่มสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น poison frog, Salamander
- กลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น ด้วง
- กลุ่มสัตว์ปีก เช่น นกคอคคาเทล, นกแก้วมาคอร์
- กลุ่มปลาแปลก
- กลุ่มเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น กระต่าย เฟอเรท แฮมสเตอร์
ความเกี่ยวข้องของ Exotic Pet กับ "กฎหมายของไทย" นั้น แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
1. กลุ่มที่เป็นสัตว์ต่างถิ่น คือ มิได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย สัตว์กลุ่มนี้ การนำเข้าส่งออกจะอยู่ภายใต้อนุสัญญาไซเตส ซึ่งมีการระบุชัดเจนว่า ชนิดพันธุ์ใดสามารถนำเข้าโดยไม่ต้องอนุญาตนำเข้า (non-CITES), ชนิดพันธุ์ใดสามารถเลี้ยงและครอบครองได้ แต่ต้องมีการขออนุญาตนำเข้า(CITES ii) และชนิดใดไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปครอบครอง(CITES i) เว้นแต่สวนสัตว์หรือหน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเท่านั้น โดยสัตว์ชนิดนี้ เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการนำเข้าแล้ว จะไม่มีข้อผูกพันกับ พ.ร.บ.สัตว์ป่าคุ้มครองของไทย เนื่องจากไม่มีรายชื่อปรากฏใน พ.ร.บ.สัตว์ป่าคุ้มครองของไทย แต่จัดว่าเป็นสัตว์เลี้ยง จึงต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ เฉกเช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงในภาคปรกติทั่วไป
2. กลุ่มสัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย หากไม่มีรายชื่อใน พ.ร.บ.สัตว์ป่าคุ้มครองของไทย ผู้เลี้ยงสามารถเลี้ยงได้โดยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์
สำหรับสัตว์ที่มีรายชื่อใน พ.ร.บ.สัตว์ป่าคุ้มครองของไทย ผู้เลี้ยงจะต้องมีเอกสาร สป.2 (ในกรณีที่นำสัตว์จากป่า หรือสัตว์มิได้อยู่ในรายชื่อสัตว์ป่าที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้) และเอกสาร สป.9 (ในกรณีที่เป็นสัตว์ในกลุ่มที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้ และเกิดจากสถานที่เพาะพันธุ์ที่ได้รับใบอนุญาต)