เล่าเรื่องหนัง : Lead Me Home วิกฤต ‘คนไร้บ้าน’ และปัญหาทางมนุษยธรรม
เล่าเรื่องหนัง : Lead Me Home วิกฤต ‘คนไร้บ้าน’ และปัญหาทางมนุษยธรรม
เล่าเรื่องหนัง : Lead Me Home วิกฤต ‘คนไร้บ้าน’ และปัญห […] The post เล่าเรื่องหนัง : Lead Me Home วิกฤต ‘คนไร้บ้าน’ และปัญหาทางมนุษยธรรม appeared first on มติชนออนไลน์.


เล่าเรื่องหนัง : Lead Me Home

วิกฤต ‘คนไร้บ้าน’ และปัญหาทางมนุษยธรรม

แม้สารคดีสั้นเรื่อง “Lead Me Home” ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาสารคดีสั้นยอดเยี่ยมจะไปไม่ถึงรางวัลออสการ์ที่เพิ่งประกาศผลไป แต่คุณค่าของเรื่องราวที่สะท้อนชีวิตคนไร้บ้านในเมืองหลวงก็ยังติดตา ติดความรู้สึกจนใครที่ดูร้อยทั้งร้อยก็แทบจะต้องน้ำตาไหลรื้น เพราะมันเล่าเรื่องจริงของชีวิต “คนไร้บ้าน” ในสังคมเมือง ที่ถูกทำให้เป็นคนชายขอบของโครงสร้างสังคมที่นับวันจะเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ จนแทบไม่รู้ว่าพวกเขาจะหาทางสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ตรงไหนบ้าง

สารคดีสั้นความยาว 40 นาทีเรื่องนี้ใช้เวลา 3 ปี ในการติดตามดูชีวิตคนไร้บ้านในเมืองใหญ่ๆ ทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ซีแอตเทิล ซานฟรานซิสโก และลอสแองเจลิส ว่าพวกเขามีกิจวัตรประจำวันอย่างไรบ้าง และแต่ละคนต้องดิ้นรนกันอย่างไรเมื่อต้องออกมาใช้ชีวิตกินนอนข้างถนน ตลอดจนถ่ายทอดให้เห็นความฝันและความหวังของพวกเขาที่อยากจะหนีออกจากวงจรคนไร้บ้านนี้

โดยสองผู้กำกับสารคดี “Pedro Kos” และ “Jon Shenk” มุ่งหวังที่จะให้สารคดีเรื่องนี้เป็นสื่อกลางที่จะให้สังคมหันมามองกลุ่มคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ตามท้องถนนในเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐหลายแสนคน ได้มีโอกาสได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมในการเข้าถึงบริการสำคัญๆ ขั้นพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตตามมาตรฐาน และมนุษยธรรมที่พึงได้รับ ทั้งอาหาร ที่พัก อาชีพการงาน โอกาสในการมีชีวิตที่ไม่ถูกปัดทิ้งออกจากโครงสร้างสังคมที่บิดเบี้ยวขึ้นไปทุกที

“Lead Me Home” บอกเล่าเรื่องราวที่สะเทือนอารมณ์ของคนไร้บ้านที่ต่างก็เผชิญทุกข์โศกกันคนละแบบแตกต่างกันไป แต่ทุกคนมีสิ่งเดียวกัน คือ การต่อสู้เพื่อเอาชีวิตให้รอดในแต่ละวัน ซึ่งในสารคดีใช้วิธีสัมภาษณ์ พูดคุย และถือกล้องติดตามชีวิตคนเหล่านี้ ซึ่งแต่ละคนนั้นนอกจากเป็นคนไร้บ้านแล้ว พวกเขาต่างบอบช้ำทางจิตใจ หลายคนมีปัญหาด้านสุขภาพจิต และไม่น้อยมีภาวะซึมเศร้า

ด้วยเวลา 40 นาที ที่พาเราไปดูเรื่องราวคนตัวเล็กตัวน้อยที่ต้องใช้ชีวิตแร้นแค้นในเมืองอันศิวิไลซ์ มีทั้งชายไร้บ้านที่พยายามจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ด้วยรายได้ที่หาได้ไม่พอโอกาสที่แม้แต่จะหาห้องเช่าราคาถูกในเมืองใหญ่ๆ ยิ่งเป็นเรื่องยาก และแม้จะทำได้ เขาก็ทำได้ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อไม่สามารถมีอาชีพประจำ สร้างรายได้ต่อเนื่องที่จะจ่ายค่าเช่าห้องได้ สุดท้ายก็ต้องกลับมากางเต็นท์นอนข้างถนน หรืออย่างดีก็มีบ้านเป็นรถยนต์เก่าๆ หนึ่งคันจอดพักค้างริมฟุตปาธแต่ละคืน

มุมมองของผู้กำกับถูกถ่ายทอดผ่านการเคลื่อนกล้องที่นำเสนอให้เราเห็นถึงเมืองใหญ่ทันสมัยที่ฉูดฉาด ผู้คนชนชั้นกลางอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียมสูงกลางเมือง มองเห็นไลฟ์สไตล์แต่ละคนผ่านการเคลื่อนกล้องจากหน้าต่างห้องต่างๆ แม้ข้างนอกสภาพอากาศจะเลวร้ายหนาวเหน็บแค่ไหน เราก็ยังเห็นวิถีชีวิตคนบนตึกที่ยังดูปกติทั่วไป ตัดกลับมาที่ภาพของชุมชนคนไร้บ้านที่รวมตัวกันหลวมๆ กางเต็นท์ใกล้ๆ กันในยามค่ำคืน เป็นโลกที่ตัดกันสองขั้วที่ปรากฏในสารคดี

“Lead Me Home” ได้เข้าไปสำรวจสังคมแบบที่แตกต่างกันระหว่างชนชั้นกลางในเมืองกับคนชายขอบในเมืองว่ามีช่องว่างที่ถ่างกว้างมากขึ้นไปทุกที และน่าหดหู่ถึงขนาดที่ว่ามีความพยายามจากหน่วยงาน องค์กรรัฐ และภาคประชาสังคม ที่จะหาทางแก้ปัญหานี้ อย่างน้อยๆ คือการหาพื้นที่ที่จะให้คนไร้บ้านได้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง แต่การรับฟังประชาพิจารณ์ก็ดูไม่ใช่จะทำได้ง่ายเลย เมื่อผู้คนและชนชั้นกลางที่อยู่อาศัยจำนวนหนึ่งคัดค้านแนวคิดการจัดสรรพื้นที่ว่างให้กลุ่มคนไร้บ้านได้มาอยู่อาศัยใกล้ละแวกบ้านเรือนของพวกเขา มีทั้งด้วยเหตุผลกังวลถึงความปลอดภัย และบางความเห็นก็สะท้อนถึงการลดทอนความเป็นมนุษย์

และนี่คือสิ่งที่สองผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้อยากจะสื่อถึงคนอเมริกันชนชั้นกลางในเมืองว่ายังมีเพื่อนร่วมชาติพวกเขาหลายแสนคนตกสถานะเป็นคนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตนอนหลับอยู่ข้างถนนทุกคืน ซึ่ง “Lead Me Home” แม้จะเลือกเล่าชีวิตของคนไร้บ้านตามเมืองใหญ่เพียงไม่กี่คน แต่มันก็แทบจะแสดงให้เราเห็นถึงขนาดของปัญหาที่เข้าขั้นวิกฤตนี้ว่ามีมากแค่ไหน ยิ่งเมื่อมีตัวเลขรายงานว่ามีคนไร้บ้านในเมืองใหญ่ต่างๆ ของสหรัฐมากถึง 6 แสนคน นั่นจึงเป็นความหวังว่าสารคดีเรื่องนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสการช่วยเหลือให้เหล่าคนไร้บ้านในเมืองให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งผ่านการผลักดันนโยบายการจัดสรรพื้นที่ให้พวกเขา

ประเด็นมนุษยธรรมถูกใส่ไว้ในสารคดีเรื่องนี้ทั้งผ่านบทสนทนากับกลุ่มคนไร้บ้าน รวมทั้งภาพฟุตเทจที่บันทึกความเคลื่อนไหวให้เราเห็นตรงหน้า ตลอดจนการได้เห็นผู้ที่ทำงานแนวหน้าช่วยเหลือคนไร้บ้าน รวมทั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวที่พอจะสงเคราะห์และเยียวยาคนไร้บ้านได้ในระยะสั้น แต่นั่นก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ เมื่อสุดท้ายวงจรคนไร้บ้านในเมืองก็มักจะต้องกลับไปลงเอยบนท้องถนนอีกครั้งด้วยโครงสร้างสังคมที่ผลักดันพวกเขาออกมาอีกครั้ง

แม้ “Lead Me Home” จะไม่ได้รางวัลออสการ์ แต่การได้เป็นสารคดีที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงก็เสมือนได้ทำหน้าที่ป่าวประกาศปัญหานี้ต่อสังคม ซึ่งเวทีออสการ์ก็ได้ช่วยให้เรื่องราวจริงในสารคดีเรื่องนี้ถูกรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น เพราะสารคดีเรื่องนี้พยายามอย่างยิ่งที่จะให้สังคมเข้าใจปัญหานี้ในมุมคนเปราะบางว่าการไร้บ้านของพวกเขาไม่ได้เกิดจากการกระทำของเขาด้วยเหตุผลแค่นั้น แต่มันยังมีบริบท รายละเอียดอันอ่อนไหว และเหนือการควบคุมมากมายที่ส่งผลให้พวกเขาตกเป็นเหยื่อ และต้องออกมาอยู่อาศัยบนท้องถนน ไม่ว่าจะเพราะเหตุผลถูกผลักไสจากคนในครอบครัว ความพิการ การเป็นคนข้ามเพศที่ถูกปฏิเสธ การถูกทารุณกรรมจากคนใกล้ชิดจนต้องหนีออกมา ความรุนแรงทางเพศ รวมทั้งบางคนก็มาจากภาวะซึมเศร้า และจากกรณีของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์คนไร้บ้านมากขึ้นไปอีก จนดูเหมือนว่าการแก้ไขปัญหานี้ในระดับโครงสร้างยิ่งยากขึ้นไปอีกขั้น

โดยภาพรวม สารคดีสั้น “Lead Me Home” จึงน่าชื่นชมในแง่ที่ผู้สร้างได้พยายามสื่อสารสนทนาประเด็นปัญหานี้กับผู้คนผ่านช่วงเวลา 40 นาที ที่ฉายภาพให้เราได้ตระหนักและเห็นถึงวิกฤตทางมนุษยธรรมนี้

ติสตู
(ภาพประกอบ Youtube Video / Netflix)

The post เล่าเรื่องหนัง : Lead Me Home วิกฤต ‘คนไร้บ้าน’ และปัญหาทางมนุษยธรรม appeared first on มติชนออนไลน์.



ปฏิกิริยาของคุณ?