มุมมอง
“ปัง”
เจสสิกา (ทิลดา สวินตัน) ตื่นขึ้นตอนเช้าตรู่ด้วยท่าทางเหนื่อยอ่อน ไม่แน่ชัดนักว่าเสียงนั่นทำให้เธอตื่นขึ้นหรือเธอตื่นอยู่แล้ว เมื่อเดินตามเธอไปเราจะได้รู้ว่าเธอคือหญิงชาวสก็อตแลนด์ผู้มาเยี่ยมเยือนน้องสาวที่เข้าโรงพยาบาลอย่างกะทันหัน ณ กรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย ภาษาสเปนของเธออยู่ในขั้นสื่อสารได้ แต่ไม่คล่องนัก
ขั้นแรกเจสสิกาคิดว่าเสียงที่เธอได้ยินมาจากงานก่อสร้างข้างบ้านที่เธอไปพักอยู่ แต่ไม่ใช่เพราะนอกจากจะไม่มีการก่อสร้างอะไรเธอยังได้ยินเสียง “ปัง” ขณะอยู่ที่อื่นด้วยและดูเหมือนว่าเธอจะได้ยินมันอยู่เพียงคนเดียว เสียงนั้นรบกวนจิตใจของเธออยู่ตลอดเวลา เจสสิกาจึงเริ่มต้นค้นคว้าตามหาว่าเสียงที่ดังก้องในหัวเธอคือเสียงอะไร โดยได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นจากซาวด์เอ็นจิเนียร์ที่น้องเขยเธอแนะนำให้
ทว่ายิ่งตามหา เสียงที่เจสสิกาอธิบายว่ามันฟังดูเหมือนลูกคอนกรีตลูกใหญ่ตกลงไปในบ่อน้ำทำจากโลหะที่ล้อมรอบด้วยน้ำทะเลนั้น เธอก็ยิ่งค้นพบว่ามีอะไรบางอย่างแปลก ๆ เกิดขึ้นกับการรับรู้ของเธอ และนั่นทำให้เธอตัดสินใจออกจากรุงโบโกตา ผ่านด่านตรวจค้นของทหาร ไซต์งานก่อสร้างที่เกิดการค้นพบทางโบราณคดี เฝ้ามองผู้คน ผ่านผืนป่าแล้วพักในหมู่บ้าน
ก่อนที่เสียงปังนั่นจะพาเธอไปพบกับสิ่งที่รอคอยเธออยู่
.
การเดินทางตามหาต้นตอของเสียง “ปัง” ไปกับเจสสิกา ใน Memoria ภาพยนตร์โดยการกำกับของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
จุดเริ่มต้นของคนดูไม่ต่างจากเจสสิกา เราทั้งหมดถูกโยนลงไปยังสถานที่และสถานการณ์ที่ห่างไกลความเคยชินเต็มไปด้วยความรู้สึกแปลกแยกผิดที่ผิดทาง ต่างถิ่น แปลกหน้า ชวนว้าเหว่และสับสนมากขึ้นเมื่อได้ยินเสียงดังปังนั้น ขณะที่การเดินทางของเจสสิกาเริ่มขึ้น คนดูจึงเหมือนได้เดินทางไปพร้อมกับเธอ
ไม่เพียงแต่ตามหาเสียงนั้น แต่เหมือนเจสสิกากำลังตามหา ‘ที่ทาง’ ของตัวเองในประเทศนั้น… และอาจจะในโลกใบนี้ด้วยเช่นกัน
ระหว่างการเดินทางนั้นเองที่เต็มไปด้วยความงดงามและความหมายบางประการ ผ่านงานภาพเรียบง่าย ทรงพลัง และน่าค้นหา เพียงใบไม้ไหว เมฆเคลื่อน ฟ้าเปลี่ยนสี หรือแม้แต่ผ้าม่าน มุมห้อง แสงสาด สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดบ้างปล่อยเปล่าให้นิ่งคิด บ้างขับเน้นความรู้สึก ผสานกับการแสดงที่ละเอียดอ่อนและทรงพลังของ ทิลดา สวินตัน ชวนมองและติดตาม
องค์ประกอบหลักและสำคัญอย่างยิ่งของ Memoria คือ ‘เสียง’ และ Memoria เปิดประสาทสัมผัสด้านเสียงของผู้ชมได้อย่างน่ามหัศจรรย์
ไม่ใช่แค่เสียงดัง “ปัง” ที่หลายคนอาจเฝ้ารอได้ฟัง แต่เสียงของเมือง ธรรมชาติ อากาศ ต้นไม้ใบหญ้า เสียงหายใจ และแม้แต่ความเงียบ ทุกเสียงล้วนก้องกังวาลและมีความหมายอย่างประหลาดไปจนถึงตอนท้ายที่สุด
เสียงที่เหมือนจะกังวาลสะท้อนสะเทือนมายาวนานตั้งแต่อดีตกาล
ไม่เพียงเท่านั้น การนั่งชม Memoria นี้เหมือนจะขยายกรอบประสบการณ์นั้นเกินไปกว่าประสาทสัมผัสภายนอก และแตะลึกไปถึงจิตวิญญาณ
เมื่อจดจ่อกับภาพและเสียงรวมถึงความเงียบในบางขณะ จังหวะของเรื่องไม่ได้ชวนให้เราจมจ่อมกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าเท่านั้นแต่ดึงเรากลับสู่ตัวเองได้อย่างน่าประหลาด
และนี่คือประสบการณ์ที่น่าดื่มด่ำเหลือเกิน
.
ทว่าเราคงไม่กล้าตัดสินแทนใครได้ว่าภาพยนตร์ของอภิชาตพงศ์เรื่องนี้ดูง่ายหรือดูยาก ขณะเดียวกันก็ไม่แม้แต่จะบังอาจตีความฟันธงว่าสารที่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอมีเพียงสิ่งหนึ่งสิ่งเดียว เพราะนั่นย่อมต่างไปตามสายตาผู้ชมซึ่งประสานสารเข้ากับประสบการณ์และความคิดของตัวเอง
แต่ Memoria ควรค่าอย่างยิ่งที่จะไปเปิดรับประสบการณ์และประสาทสัมผัสของคุณในโรงภาพยนตร์
เพราะเมื่อเสียงสุดท้ายในภาพยนตร์สิ้นสุดคุณอาจกระซิบกับตัวเองเบา ๆ ในประโยคเดียวกับที่อภิชาติพงศ์เอ่ยไว้
LONG LIVE CINEMA
ภาพยนตร์จงเจริญ
…
เกวลิน ลิขิตวิทยาวุฒิ
The post Memoria เมื่อ ‘เสียงปัง’ นำพา appeared first on มติชนออนไลน์.