ผู้ปรุงและสัมผัสอาหาร ต้องสวมหน้ากากป้องกันโควิด
ผู้ปรุงและสัมผัสอาหาร ต้องสวมหน้ากากป้องกันโควิด
ในสถานประกอบการร้านอาหารต่างๆ ผู้ให้บริการใกล้ชิดแก่ลูกค้า รวมถึงพนักงานครัวที่จัดเตรียมวัตถุดิบและประกอบปรุงอาหาร ยังต้องสวมหน้ากากเพื่อป้องกันโรค


ในสถานประกอบการร้านอาหารต่างๆ ผู้ให้บริการใกล้ชิดแก่ลูกค้า รวมถึงพนักงานครัวที่จัดเตรียมวัตถุดิบและปรุงอาหาร ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้แม้จะมีประกาศให้สวมหน้ากากอนามัยตามความสมัครใจแบบมีเงื่อนไข โดยแนะนำให้สวมหน้ากาก เมื่อไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ อยู่ในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงกลุ่มเสี่ยง 608 ที่เสี่ยงติดเชื้อมีอาการรุนแรง ผู้ติดเชื้อและสัมผัสเสี่ยงสูง

"การออกประกาศแบบนี้เพื่อให้เป็นทางเลือก ให้การสวมหน้ากากไม่ถูกตีตรา เพื่อสร้างสมดุล 2 เรื่อง คือ ยังเตือนผู้คนที่มีความเสี่ยงให้สวมหน้ากาก และคุ้มครองสิทธิของคนอยากสวมหน้ากากไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติว่า ป่วยหรือไม่ ถ้าป่วยไม่ให้เข้าสถานที่ หรือถูกบูลลี่ว่าป่วย การออกมากลางๆ แบบนี้ จึงเป็นแบบสมัครใจและมีเงื่อนไข จะช่วยให้เปลี่ยนผ่านระยะนี้ไปได้" นพ.สุวรรณชัย กล่าว

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในสถานประกอบการร้านอาหารต่างๆ ผู้ให้บริการใกล้ชิดแก่ลูกค้า รวมถึงพนักงานครัวที่จัดเตรียมวัตถุดิบและประกอบปรุงอาหาร ยังต้องสวมหน้ากากเพื่อป้องกันโรคด้วย

"ก่อนหน้านี้ เรากำหนดให้สวมหน้ากากด้วยเงื่อนไขของโรคโควิด-19 แต่ตอนนี้เวลาเปลี่ยนผ่าน เราจะกำหนดให้เป็นสุขอนามัยและสุขลักษณะของร้านตามปกติ ซึ่งได้เพิ่มเรื่องการสวมหน้ากากลงในข้อกำหนดและคำแนะนำเกี่ยวกับสุขลักษณะของสถานที่สะสมอาหาร หรือสถานที่ทำอาหารของกรมอนามัยแล้ว เหมือนการกำหนดให้สวมหมวกคลุมผม ผ้ากันเปื้อน และหากต้องสัมผัสอาหารโดยตรง ก็ต้องสวมถุงมือ ถ้าเราเชื่อและพยายามพาสังคมไปแบบนี้ โรคติดต่อทางเดินหายใจและโรคติดต่อทางเดินอาหารก็จะลดลง เพราะสวมหน้ากาก ล้างมือ ทำความสะอาด เช็ดโต๊ะกันมากขึ้น เราพยายามยกระดับเพื่อให้สุขภาพดี การบริการนักท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศ" นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อผ่อนคลายมาตรการต่างๆ อาจจะทำให้กลับไปมีพฤติกรรมตามเดิม จะคงการรักษาสุขอนามัยของร้านอาหารต่างๆ ต่อไปอย่างไร นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า คงดำเนินการ 2 ทาง คือ 1.เมื่อยกระดับถึงจุดหนึ่งเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา ขณะเข็นมักหมดแรงเราต้องหาไม้หมอนมาหนุน ไม้หมอนสำคัญคือมาตรฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาเป็นตัวนำ และ 2.มาตรการที่เป็นการส่งเสริมให้คนที่ทำดี ได้รับการยอมรับ

"สองส่วนนี้สำคัญที่จะดำเนินการ หากไปดูต่างประเทศเวลาร้านอาหารเจอหนูตัวหนึ่งเขาสั่งปิดไว้ก่อนแล้วให้ร้านยืนยันรับรอง (Declare) แต่บ้านเราเจอหนู วันรุ่งขึ้นเปิดเลย ก็มีข้อสงสัยว่า ตกลงหยิบหนูออกแล้วทุกอย่างเหมือนเดิมหรือไม่ แต่เมืองนอกต้องคลีนทั้งหมดแล้ว Declare ตอนนี้เชื่อว่าช่วงผ่านสถานการณ์โควิด-19 คนและผู้ประกอบการเริ่มคุ้น แต่อย่าย้อนกลับไป คือ จะต้องมีกฎหมายมาค้ำ ซึ่งจะกำหนดมาตรฐานไว้ และอีกส่วนคือ พลังของผู้บริโภคที่จะบอกว่าร้านไหนสะอาดหรือไม่สะอาด ร้านไหนสะอาดก็ต้องอุดหนุน ร้านไหนไม่สะอวดก็ให้คำชี้แนะ ถ้าร้านไหนมีปัญหา ผู้บริโภคไม่ไปอุดหนุน ร้านก็ปรับโดยอัตโนมัติ แต่ที่ผ่านมาเราเจอปัญหาเราเลือกแต่อร่อย แต่ไม่สะอาด หากสังเกตหลายร้านไม่สะอาด แต่บางทีอร่อย ซึ่งไม่รู้อร่อยจากอะไรก็ตาม แต่เรายังไปอุดหนุน ผู้ประกอบการก็จะรู้สึกว่าปัจจัยสะอาดไม่มีความจำเป็น แต่เราต้องทำให้อร่อยควบคู่กับสะอาดก็จะขับเคลื่อนไปได้" นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์ ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต



ปฏิกิริยาของคุณ?