กินอาหารหวานมันเค็มสูง เสี่ยงเป็นโรค NCDs
กินอาหารหวานมันเค็มสูง เสี่ยงเป็นโรค NCDs
การบริโภคอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็มสูงเหล่านี้ และหากบริโภคบ่อยๆ อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)


การบริโภคอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็มสูงเหล่านี้ และหากบริโภคบ่อยๆ อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคเบาหวาน ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และอาจารย์ประจำหน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า จากการสำรวจภายใต้โครงการข้อมูลความเสี่ยงด้านอาหารที่เกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของอาหารพร้อมส่งพร้อมรับประทานยอดนิยมในกรุงเทพฯ ประเทศไทย มีรายงานการวิเคราะห์สารอาหารของอาหารและเครื่องดื่ม 40 รายการ ในแอปพลิเคชันอาหารออนไลน์ ปี พ.ศ.2565 แบ่งเป็นอาหารจานเดียว 25 รายการ ขนมหวาน 5 รายการ และเครื่องดื่มรสหวาน 10 รายการ

การวิเคราะห์สารอาหารเหล่านี้ยังไม่รวมเครื่องปรุง เช่น น้ำปลาพริก น้ำจิ้ม พบอาหารจานเดียว 23 รายการ จากทั้งหมด 25 รายการ มีปริมาณโซเดียมสูงกว่า 0.6 กรัมต่อมื้อ ตามที่กรมอนามัยแนะนำให้บริโภค โดยอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงสุด คือ ส้มตำปูปลาร้า มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ย 5 กรัมต่อ 1 จาน ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 2 กรัมต่อวัน ซึ่งหมายความว่าส้มตำปูปลาร้า 1 จาน มีปริมาณความเค็มสูงเกือบ 3 เท่าของการบริโภคโซเดียมตลอด 1 วัน หรือคิดเป็นปริมาณโซเดียมสูงมากถึง 8 เท่าต่อ 1 มื้อ อีกทั้งยังพบปริมาณโซเดียมสูงมากเกินกว่า 0.6 กรัมต่อมื้อ ในกาแฟเย็น ซาลาเปาไส้หมูสับ ชิฟฟอนใบเตยและปาท่องโก๋ นับเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งช่วยกันแก้ไข

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวเสริมว่า ในส่วนของเครื่องดื่มรสหวานจาก 10 รายการ มีจำนวน 8 รายการที่มีน้ำตาลเกินกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 25 กรัมต่อวัน และมีเพียงเมนู 2 รายการเท่านั้นคือ อเมริกาโนเย็นและน้ำเต้าหู้ที่มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ยไม่ถึง 16 กรัม ชาน้ำผึ้งมะนาวมีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 53.1 กรัม ซึ่งมีปริมาณน้ำตาลเกิน 2 เท่าต่อ 1 วัน หรือเทียบเท่าน้ำตาลเกือบ 13 ช้อนชา หากคิดต่อ 1 มื้ออาหารควรมีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ยประมาณ 8 กรัมต่อมื้อ ซึ่งทั้ง 10 รายการ มีปริมาณน้ำตาลเกิน 8 กรัมต่อมื้อ โดยชาน้ำผึ้งมะนาวมีปริมาณน้ำตาลเกือบ 7 เท่าต่อมื้อ ซึ่งถือว่าปริมาณน้ำตาลเกินกว่าความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน

ด้าน รศ.พญ.ประพิมพ์พร ฉัตรานุกูลชัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำไม่ควรบริโภคไขมันเกิน 30% ของปริมาณพลังงานที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน หรือคิดเป็นปริมาณไขมันต่อ 1 มื้อ เฉลี่ยอยู่ที่ 25 กรัม และอาหารที่มีไขมันสูง เช่น หมูสามชั้นทอด มีไขมันเฉลี่ยสูงถึง 67.1 กรัม ซึ่งถือว่ามีปริมาณไขมันสูงเกือบ 3 เท่าต่อมื้อ หรือคิดเป็นร้อยละ 86 ของปริมาณพลังงานที่ร่างกายควรได้รับใน 1 วัน ส่วนหมูปิ้ง (55.6 กรัม) คอหมูย่าง (48.6 กรัม) มีปริมาณไขมันเกินถึง 2 เท่าต่อมื้อ และคิดเป็นร้อยละ 71 และร้อยละ 62 ของปริมาณพลังงานที่ร่างกายควรได้รับตลอดทั้งวัน

"ดังนั้นการแสดงปริมาณสารอาหารโดยเฉพาะเกลือ น้ำตาลและไขมัน ในรายการอาหารบนแอปพลิเคชันอาหารออนไลน์ จะสามารถช่วยให้ผู้บริโภคทราบถึงปริมาณสารอาหารดังกล่าว นอกจากนี้แอปพลิเคชันอาหารออนไลน์ควรเพิ่มหรือให้ทางเลือกแก่ผู้บริโภคในการกรองตัวเลือกเมื่อสั่งซื้ออาหาร เช่น ส้มตำ ควรมีตัวเลือก เกลือน้อย น้ำตาลน้อย เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคได้สั่งอาหารโดยคำนึงถึงสุขภาพได้มากยิ่งขึ้น"

ด้าน ทพญ.จิราพร ขีดดี ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริโภคอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็มสูงเหล่านี้ และหากบริโภคบ่อยๆ อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคเบาหวาน ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้

ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์ ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต



ปฏิกิริยาของคุณ?