เด็กกับนมหวาน..เรื่องหวานๆ
เด็กกับนมหวาน..เรื่องหวานๆ
เชื่อว่าคงมีคุณพ่อคุณแม่หลายท่านที่ชอบซื้อนมหวานให้ลูกกิน เพื่อให้ลูกแข็งแรง และที่สำคัญเห็นว่านมหวานกินง่าย ไม่ต้องคะยั้นคะยอกันมากเหมือนเวลาให้กินนมจืด


เด็กกับนมหวาน..เรื่องหวานๆ 
ที่อาจกลายเป็นขมสำหรับพ่อแม่

เชื่อว่าคงมีคุณพ่อคุณแม่หลายท่านที่ชอบซื้อนมหวานให้ลูกกิน เพื่อให้ลูกแข็งแรง และที่สำคัญเห็นว่านมหวานกินง่าย ไม่ต้องคะยั้นคะยอกันมากเหมือนเวลาให้กินนมจืด เด็กบางคนติดใจถึงขนาดยอมกินนมเป็นกิจวัตร คุณพ่อคุณแม่ก็ดีใจ แต่ทราบไหมคะว่าในความหวานนั้นมีพิษภัยอะไรซ่อนอยู่บ้าง ลองอ่านบทความนี้ดูนะคะ

แล้วจะรู้ว่า "นมหวาน" นั้นชักจะไม่หวานอย่างชื่อเสียแล้วมีผลวิจัยยืนยันจากกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัยค่ะว่านมหวานนั้นมีผลเสียกับเด็กเล็กอย่างไม่น่าเชื่อ ผลเสียประการแรก คือ ฟันผุ เด็กไทยฟันผุกันมากถึงร้อยละ 80 และที่น่าตกใจกว่านั้นคือ มีการสำรวจพบโรคฟันผุในเด็กเล็กอายุไม่ถึงขวบ ซึ่งปกติเด็กจะมีฟันน้ำนมขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน แสดงว่าเด็กกลุ่มนี้ฟันน้ำนมขึ้นมาได้ไม่กี่วันก็ผุเสียแล้ว นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ชี้ชัดค่ะว่าเด็กนักเรียนทั่วประเทศที่กินนมรสหวานเป็นโรคฟันผุกันมากกว่าเด็กที่กินนมจืด

ส่วนผลเสียอย่างอื่นนั้น มีกุมารแพทย์หลายท่านอธิบายไว้ค่ะว่า เด็กที่กินนมหวาน อาจเป็นโรคอ้วน ซึ่งจะเป็นประตูใหญ่นำไปสู่โรคร้ายอีกเป็นโขยง เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคข้อเข่า โรคหายใจลำบาก เป็นต้น นอกจากโรคอ้วนเด็กบางรายกลับผอมถึงกับขาดอาหาร

เด็กที่พ่อแม่หรือคนเลี้ยงชอบซื้อนมหวานให้กิน มักจะลงเอยด้วยอาการ "ติดหวาน" เอานมจืดมาแลกก็ไม่ยอม เด็กจะติดหวานเรื่อยไปจนกระทั่งโต พวกนี้จะไม่ชอบกินผักผลไม้หรืออาหารที่เป็นประโยชน์ แต่จะติดขนมหวาน น้ำอัดลม และอาหารหวานๆ มันๆ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อไปอีกมาก เสียทั้งนิสัยการกิน เสียสุขภาพ และเสียสตางค์ค่าขนมหวาน ประมาณกันว่า เด็กไทยซึ่งมีจำนวนราว 15 ล้านคน เสียค่าขนมที่ไร้ประโยชน์เป็นมูลค่ามากถึงปีละ 1 แสนล้านบาท

เรื่องน้ำหวานอัดลม ขนมหวานต่างๆ จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่คนทั้งประเทศมองข้ามกันมานาน และยังไม่มีทีท่าว่าจะแก้ไขกันอย่างไรอย่างไรก็ตามเมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวดีค่ะสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังเป็นห่วงเรื่องของนมหวานกับสุขภาพของลูก ข่าวดีที่ว่าก็คือ มติของคณะกรรมการอาหารที่จะควบคุมไม่ให้มีการใส่น้ำตาลปนกับผลิตภัณฑ์นมสำหรับเด็กเล็ก ที่เรียกกันว่า "นมสูตรต่อเนื่อง" (follow-on formula)นมสูตรต่อเนื่องนั้นใช้กับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป จนถึง 3 ขวบ ซึ่งในเมืองไทยจะมีเด็กเล็กช่วงวัยดังกล่าวอยู่จำนวนกว่า 2 ล้านคน และนักวิชาการประมาณกันว่า เด็กกลุ่มนี้ประมาณ 3 ใน 4 หรือประมาณ 1.5 ล้านคนกินนมหวาน ฉะนั้นการออกกฎควบคุมดังกล่าวย่อมมีผลกระทบถึงหลายครอบครัวที่มีลูกเล็กๆ เลยล่ะค่ะ

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว เป็นผลมาจากการผลักดันและรณรงค์ของ"เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน" ซึ่งเป็นการรวมตัวของบรรดากุมารแพทย์ นักโภชนาการ และนักวิชาการที่มีความตื่นตัวในปัญหาดังกล่าว แต่เนื่องจากการรณรงค์แก้ไขปัญหาอาหารหวานในเด็กนักเรียนหรือเด็กโตทำได้ค่อนข้างยาก เครือข่ายจึงเริ่มต้นด้วยการปักธงไปที่เด็กเล็กอันเป็นเหมือนต้นทางไปสู่พัฒนาการ โดยพุ่งเป้าหมายแรกไปที่นมผงสูตรต่อเนื่องสำหรับเด็กวัย 6 เดือนขึ้นไป จนเป็นผลสำเร็จ คาดว่าถ้าไม่มีอะไรพลิกผันมาตรการนี้คงมีผลบังคับใช้ราวกลางปี 2548ได้ยินมาว่าตอนนี้ทางเครือข่ายกำลังประสานงานกับห้างร้านหลายแห่ง เพื่อจัดชั้นนมจืดให้สะดุดตาแก่ผู้ซื้อ และในราววันที่ 14 พ.ย. เครือข่ายได้ชูธงจะสร้างกระแสต่อโดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในงานรณรงค์ที่ใช้ชื่อว่า "วันครอบครัวอ่อนหวาน" ฟังดูน่าจะเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจไม่น้อย คุณพ่อคุณแม่ท่านไหนสนใจก็ลองติดตามกันดูนะคะ เชื่อว่าช่วงนั้นคงจะมีการประชาสัมพันธ์จากทางเครือข่ายฯ และกระทรวงฯ ให้ประชาชนได้ทราบกันมากขึ้นค่ะ

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสารรักลูก ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต



ปฏิกิริยาของคุณ?