รู้ไหม ลูกชาย เครียดง่ายกว่า ลูกสาว
รู้ไหม ลูกชาย เครียดง่ายกว่า ลูกสาว
เด็กๆ ก็เครียดเป็นเหมือนผู้ใหญ่ แถมสถิติความเครียดของเด็กในปัจจุบันยังมีมากขึ้น โดยสิ่งที่ทำให้เด็กๆ เครียดคือ การถูกดุด่า ตำหนิ แม้กระทั่งการที่เขาเห็นพ่อแม่เครียด


เด็กๆ ก็เครียดเป็นเหมือนผู้ใหญ่ แถมสถิติความเครียดของเด็กในปัจจุบันยังมีมากขึ้น โดยสิ่งที่ทำให้เด็กๆ เครียดคือ การถูกดุด่า ตำหนิ แม้กระทั่งการที่เขาเห็นพ่อแม่เครียด ก็จะซึมซับเอาความเครียดนั้นมาด้วย ส่วนการที่ครูสั่งการบ้านเยอะและยาก ก็มีส่วนทำให้เด็กเสี่ยงเป็นโรคเครียดด้วยค่ะ

โดยล่าสุด จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เด็กชาย ในช่วงวัยที่ยังเล็กและก่อนวัยรุ่น จะมีอัตราความเครียดที่เกิดจากความวิตกกังวลต่างๆ มากกว่า เด็กหญิง แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นกลับพบว่า "เด็กหญิง" จะเกิดความเครียดได้มากกว่า จากฮอร์โมนทางเพศ ยิ่งช่วงที่มีประจำเดือน ผู้หญิงก็มักจะอารมณ์หงุดหงิด เครียดง่ายกว่าผู้ชายค่ะ

สาเหตุความเครียด เกิดจากปัญหาครอบครัว เช่น ถูกพ่อแม่ดุด่า ตำหนิบ่อยๆ พ่อแม่ทะเลาะกัน ถูกกดดันจากพ่อแม่ หรือเห็นเพื่อนเก่ง แต่ตัวเองไม่เก่งเลยเครียดได้ ส่วนปัจจัยที่โรงเรียน เช่น ถูกเพื่อนแกล้ง ล้อเลียน ไม่คบด้วย เป็นต้น ซึ่งอาการเครียดในเด็กแบ่งเป็น 3 ระดับคือ

  • ระดับแรก เด็กจะเครียด วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ แต่จะไม่กระทบกับผลการเรียน และไม่กระทบกับความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง
  • ระดับที่สอง ความเครียดจะเริ่มส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์ของคนรอบข้าง คือจะไม่อยากเรียน หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น
  • ระดับที่สาม ความเครียดจะรุนแรงจนทำให้เด็กไม่มีสมาธิ ซึมเศร้า เหม่อลอย การเรียนตก ร่างกายไม่มีพละกำลัง ระบบสมองจะทำงานลดน้อยถอยลงได้อีกด้วย

ที่สำคัญคือ เมื่อเด็กเกิดความเครียด บางคนอาจจะแสดงอาการทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่พบอาการเหล่านี้ ควรพาลูกมาพบจิตแพทย์โดยด่วน

ป้องกันไม่ให้ลูกเครียด คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของลูกอยู่เสมอ เข้าไปพูดคุย รับฟังความคิดเห็นจากลูก และพยายามแสดงความเป็นห่วงและเข้าใจลูก รวมทั้งไม่ควรกดดันลูกในเรื่องของการเรียน อย่าคาดหวังมากจนเกินไป ไม่ควรดุ ตำหนิ หรือตีลูก เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง และอาจเข้าใจว่าพ่อแม่ไม่รัก ดังนั้นพ่อแม่จึงควรใช้เหตุผลให้มากที่สุด ร่วมกับเข้าใจลูกให้มาก มีเวลาอยู่กับลูกบ่อยๆ เช่น ทำกิจกรรม เล่นกับลูก ตลอดจนชมเชยลูกในสิ่งที่ลูกทำได้ดีอยู่เสมอ การสร้างความสุขและความเข้าใจภายในบ้านเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกมีความสุขเสมอค่ะ

ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสารรักลูก ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต



ปฏิกิริยาของคุณ?