ละหุ่ง สรรพคุณและประโยชน์
ละหุ่ง สรรพคุณและประโยชน์
ต้นละหุ่ง มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันออก และในปัจจุบันประเทศบราซิล อินเดีย และประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก จัดเป็นไม้พุ่มหรือยืนต้นขนาดเล็ก


สมุนไพร ละหุ่ง ชื่อสามัญ Castor, Castor Bean, Castor oil plant

สมุนไพร ละหุ่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Ricinus communis L. จัดอยู่ในวงศ์ EUPHORBIACEAE เช่นเดียวกับโคคลาน ไคร้น้ำ พังคี เจตพังคี น้ำนมราชสีห์ น้ำนมราชสีห์เล็ก เปล้าน้อย เปล้าใหญ่ ลูกใต้ใบ ลูกเขยตายแม่ยายทำศพ โลดทะนงแดง สบู่ดำ และสบู่แดง

สมุนไพรละหุ่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ละหุ่งแดง ละหุ่งขาว มะละหุ่ง (ภาคกลาง), มะโห่ง มะโห่งหิน (ภาคเหนือ), ปี่มั้ว (จีน) เป็นต้น

ลักษณะของละหุ่ง

ต้นละหุ่ง มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันออก และในปัจจุบันประเทศบราซิล อินเดีย และประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก จัดเป็นไม้พุ่มหรือยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นได้ถึง 6 เมตร โดยแบ่งออก 2 ชนิด ได้แก่ละหุ่งขาว และละหุ่งแดง โดยต้นละหุ่งขาวจะมีลำต้นและก้านใบเป็นสีเขียว ส่วนละหุ่งแดงจะมีลำต้นและก้านใบเป็นสีแดง ส่วนยอดอ่อนและช่อดอกเป็นสีนวลขาว

ใบละหุ่ง มีใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปฝ่ามือ มีแฉกประมาณ 6-11 แฉก ปลายแฉกแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 60 เซนติเมตร ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย มีขนาดเท่าไม่กัน ปลายจักเป็นต่อม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-20 เซนติเมตร โคนใบเป็นแบบก้นปิด มีเส้นแขนงของใบเรียงจรดปลายจักที่มีขนาดใหญ่ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร มีต่อที่ปลายก้าน หูใบเชื่อมติดกันลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีความยาวได้ประมาณ 1.5 เซนติเมตร ติดตรงข้ามกัน โอบรอบกิ่ง และร่วงได้ง่าย

ดอกละหุ่ง ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่งหรือปลายยอด ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะ บางครั้งแยกแขนง ดอกมีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในช่อเดียวกัน โดยดอกตัวผู้จะอยู่ช่วงบน ส่วนดอกตัวเมียจะอยู่ช่วงล่าง ซึ่งก้านดอกตัวเมียจะยาวกว่าก้านดอกตัวผู้ ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ในดอกตัวเมียจะเรียวและแคบกว่า เกสตัวผู้มีจำนวนมาก เชื่อมติดกันอยู่เป็นกลุ่ม แตกแขนง มีรังไข่ 3 ช่อง ในแต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด มีเกล็ดคล้ายหนามปกคลุมอยู่ ก้านเกสรมี 3 อัน มีความยาวเท่าๆ กลีบเลี้ยงบางแยกเป็น 3-5 แฉก ติดทนและไม่มีกลีบดอก ก้านดอกยาว ไม่มีจานฐานดอก ไม่มีจานฐานดอก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายเป็น 5 หยัก ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวได้ประมาณ 1 เซนติเมตร และร่วงได้ง่าย โดยต้นละหุ่งจะเริ่มออกดอกเมื่อมีอายุประมาณ 40-60 วัน

ผลละหุ่ง หรือ ลูกละหุ่ง ผลเป็นผลแห้งแบบแคปซูล ลักษณะเป็นทรงรี ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ผลมีพู 3 พู ลักษณะเป็นรูปไข่ ผลมีสีเขียว ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผิวของผลมีขนคล้ายหนามอ่อนๆ ทั้งผลคล้ายผลเงาะ ในผลมีเมล็ดเป็นทรงรี และจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายในประมาณ 140-160 วัน

เมล็ดละหุ่ง ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงรี เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลแดงประขาวหรือเป็นจุดสีน้ำตาลปนเทา เป็นลายคล้ายกับตัวเห็บ สีจะมีแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เนื้อในเมล็ดมีสีขาว มีโปรตีนที่มีพิษ ภายในเนื้อเมล็ดจะมีน้ำมันอยู่ภายใน โดยน้ำมันจากเมล็ดละหุ่ง จะมีลักษณะเป็นของเหลว ข้น เหนียว ใส ไม่มีสี หรือมีสีเหลืองอ่อนๆ น้ำมันมีกลิ่นเล็กน้อย มีรสเฝื่อน มันเอียน และเผ็ดเล็กน้อย

สายพันธุ์ละหุ่ง ที่ปลูกในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 พวก คือ พวกที่มีอายุยาวหรือพันธุ์พื้นเมือง เช่น ลายขาวดำ ลายแดงเข้ม ลายหินอ่อน เป็นต้น ละหุ่งจำพวกนี้เมื่อเพาะปลูกแล้วจะปล่อยทิ้งไว้ให้ติดผลจะใช้ระยะเวลานาน 5-6 ปี หรือนานกว่านั้น แต่ในปัจจุบันได้มีการผลิตละหุ่งอายุสั้นอีกจำพวก ซึ่งเป็นพันธุ์ลูกผสม ชื่อว่า อุบล90 ซึ่งสามารถให้ผลผลิตต่อไร่และเมล็ดมีน้ำมันสูง มีอายุการปลูกสั้นเพียง 75-100 วัน แต่ยังไม่ได้รับความนิยมนัก เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ยังมีจำนวนจำกัดและมีราคาแพงกว่าพันธุ์พื้นเมือง

สรรพคุณของละหุ่ง

  1. สมุนไพรละหุ่ง ใบสดมีสรรพคุณช่วยแก้เลือดลมพิการ (ใบสด)
  2. ใบสดนำมาเผาใช้พอกแก้อาการปวดศีรษะได้ (ใบสด)
  3. รากละหุ่ง มีรสจืดใช้ตำเป็นยาพอกเหงือกแก้อาการปวดฟัน (ราก)
  4. รากใช้สุมเป็นถ่านทำเป็นยากินแก้พิษไข้เซื่องซึมได้ (ราก)
  5. ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ใบสด)
  6. สรรพคุณละหุ่ง ใบสดช่วยขับลมในลำไส้ (ใบสด)
  7. ช่วยแก้อาการช้ำรั่ว หรืออาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (ใบสด)
  8. ละหุ่ง สรรพคุณของใบสดช่วยขับระดูของสตรี (ใบสด)
  9. ใบละหุ่ง ใช้ห่อกับก้อนอิฐแดง เผาไฟ ใช้ประคบแก้ริดสีดวงทวาร (ใบสด)
  10. รากใช้ปรุงเป็นยาสมานได้ (ราก)
  11. เมล็ดนำมาตำใช้เป็นยาพอกแผลได้ (เมล็ด)
  12. ใบสดนำไปเผาไฟใช้พอกรักษาแผลเรื้อรังได้ (ใบสด)

ขอขอบคุณ ที่มา : หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน และ วิกิพีเดีย ภาพประกอบอินเตอร์เน็ต



ปฏิกิริยาของคุณ?