สบู่แดง สรรพคุณและประโยชน์
สบู่แดง สรรพคุณและประโยชน์
สมุนไพรสบู่แดง มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า สบู่แดง ละหุ่งแดง (ภาคกลาง), สลอดแดง สบู่เลือด หงษ์แดง (ปัตตานี), มะหุ่งแดง สีลอด ยาเกาะ เยาป่า เป็นต้น


สมุนไพร สบู่แดง ชื่อสามัญ Bellyache bush

สมุนไพร สบู่แดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Jatropha gossypifolia L. จัดอยู่ในวงศ์ EUPHORBIACEAE เช่นเดียวกับสบู่ดำ โคคลาน ไคร้น้ำ พังคี เจตพังคี น้ำนมราชสีห์ น้ำนมราชสีห์เล็ก เปล้าน้อย เปล้าใหญ่ ละหุ่ง ลูกใต้ใบ ลูกเขยตายแม่ยายทำศพ และโลดทะนงแดง

สมุนไพรสบู่แดง มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า สบู่แดง ละหุ่งแดง (ภาคกลาง), สลอดแดง สบู่เลือด หงษ์แดง (ปัตตานี), มะหุ่งแดง สีลอด ยาเกาะ เยาป่า เป็นต้น โดยมีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง สำหรับในประเทศไทยสามารถพบต้นสบู่แดงได้ทั่วทุกภาค บริเวณเส้นศูนย์สูตรเขตร้อน

ลักษณะของสบู่แดง

ต้นสบู่แดง จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นมีสีเทา ลำต้นแผ่กิ่งก้านออกไป พบได้ทั่วไป เป็นไม้ที่ชอบอากาศแห้ง กลางแจ้ง และเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายและระบายน้ำดี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ

ใบสบู่แดง ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบคล้ายฝ่ามือ มีเว้าลึกประมาณ 2-3 เว้า ก้านใบ ใบอ่อน และเส้นใบมีสีแดง ใบอ่อนมีสีม่วงเข้มหรือเป็นสีน้ำตาลแดง ส่วนใบแก่จะมีสีเขียวปนแดงและมีขน

ดอกสบู่แดง ดอกมีขนาดเล็ก ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด เป็นช่อดอกแบบ Cyathium กลีบดอกมีสีแดงเข้ม ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ แต่ละช่อย่อยจะมีดอกตัวเมียอยู่ 1 ดอก ที่เหลือเป็นดอกตัวผู้

ผลสบู่แดง ลักษณะของผลเป็นรูปรียาว มี 3 พู ผลอ่อนมีสีเขียว ส่วนผลแก่มีสีเหลือง เมื่อแก่เต็มที่จะแตก ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล 3 เมล็ด

สรรพคุณของสบู่แดง

  1. มีรายงานว่ารากมีคุณสมบัติในการยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง ซึ่งชาวเกาะคอสตาริกา ได้ใช้รากสบู่แดงในการรักษาโรคมะเร็ง (ราก)
  2. ใบสบู่แดง ใช้ต้มกินช่วยแก้ไข้ ลดไข้ (ใบ)(เมล็ด)
  3. ก้านใบใช้ลนไฟ เป่าเข้าหูจะช่วยแก้อาการหูอื้อได้ (ก้านใบ)
  4. ช่วยรักษาโรคหืด (ราก)
  5. เมล็ดสบู่แดง สรรพคุณมีฤทธิ์ทำให้อาเจียน
  6. ใบนำมาใช้ต้มกินแก้อาการปวดท้องได้ (ใบ)
  7. ใช้เป็นยาระบาย ด้วยการนำใบสบู่แดงมาต้มกิน หรือจะใช้เมล็ดนำมาเผาให้สุกแล้วกินเป็นยาถ่าย ยาระบายก็ได้เช่นกัน แต่ควรใช้แต่น้อย (ใบ,เมล็ด)
  8. น้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรง (น้ำมันในเมล็ด)
  9. ช่วยขับพยาธิ (น้ำมันในเมล็ด)
  10. ช่วยถ่ายน้ำเหลืองเสีย (น้ำมันในเมล็ด)

ขอขอบคุณ ที่มา : หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน และ วิกิพีเดีย ภาพประกอบอินเตอร์เน็ต



ปฏิกิริยาของคุณ?