ผักคราดหัวแหวน สรรพคุณและประโยชน์
ผักคราดหัวแหวน สรรพคุณและประโยชน์
ต้นผักคราดหัวแหวน จัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุปีเดียว มีลำต้นตั้งตรง ลำต้นกลมและอวบน้ำ แตกกิ่งก้านสาขา มีความสูงของลำต้นประมาณ 20-30 เซนติเมตร


สมุนไพร ผักคราดหัวแหวน ชื่อสามัญ Para cress, Tooth-ache Plant, Toothache plant, Brazil cress Toothache plant, Pellitary, Spot flower

สมุนไพร ผักคราดหัวแหวน ชื่อวิทยาศาสตร์ Acmella oleracea (L.) R.K.Jansen (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Spilanthes acmella (L.) Murray) จัดอยู่ในวงศ์ ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE

สมุนไพรผักคราดหัวแหวน มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ผักคราด หญ้าตุ้มหู, ผักเผ็ด (ภาคเหนือ), ผักตุ้มหู (ภาคใต้), อึ้งฮวยเกี้ย เป็นต้น โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศบราซิลเขตร้อน และอเมริกา พบเป็นวัชพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และปาปัวนิวกินี

ลักษณะของผักคราดหัวแหวน

ต้นผักคราดหัวแหวน จัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุปีเดียว มีลำต้นตั้งตรง ลำต้นกลมและอวบน้ำ แตกกิ่งก้านสาขา มีความสูงของลำต้นประมาณ 20-30 เซนติเมตร ต้นมีสีเขียวม่วงแดงปนเข้ม หรือทอดไปตามดินเล็กน้อย แต่ปลายชูขึ้น ลำต้นอ่อนและมีขนปกคุลมขึ้นอยู่เล็กน้อย สามารถพบขึ้นได้ไปในที่ลุ่ม ชื้อแฉะ หรือตามป่าละเมา รวมไปถึงที่รกร้าง หรือที่ราบโล่งแจ้ง

ใบผักคราดหัวแหวน มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปสามเหลี่ยม รูปไข่ หรือเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่ ขอบใบเรียบ หรือเป็นจักคล้ายฟันเลื่อยแบบหยาบๆ ส่วนของก้านใบมีความประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผิวของใบมีขนและสาก แผ่นใบกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ส่วนปลายใบแหลม ส่วนโคนใบสอบ

ดอกผักคราดหัวแหวน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง เป็นกระจุกสีเหลือง ดอกมีลักษณะกลมเป็นรูปไข่ ปลายแหลมคล้ายหัวแหวน ยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร ดอกย่อยมี 2 วง วงนอกเป็นดอกตัวเมีย ส่วนวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ก้านของดอกเรียวยาว และยาวประมาณ 2.5-15 เซนติเมตร ยกตั้งทรงกลมคล้ายกับหัวแหวน มีริ้วประดับอยู่ 2 ชั้น เป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่ มีความประมาณ 6 มิลลิเมตร เกลี้ยง ในส่วนของดอกวงนอกที่เป็นดอกตัวเมีย มี 1 วง กลีบดอกเป็นรูปรางน้ำ ดอกวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกเป็นรูปท่อ มีปลายแยกเป็น 4-5 แฉก

ผลผักคราดหัวแหวน ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ มีความยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร และมีสัน 3 สัน ส่วนปลายเว้าเป็นแอ่งเล็กน้อย ที่รยางค์มีหนามอยู่ 1-2 อัน

คราดหัวแหวน เป็นผักที่เป็นทั้งอาหารและเป็นทั้งยาสมุนไพร โดยส่วนที่นิยมนำมาบริโภคหรือใช้ในการปรุงอาหารคือส่วนของใบและดอก และยังเป็นหนึ่งในยาสมุนไพรที่ช่วยแก้อาการในช่องปาก เช่นการใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน มีฤทธิ์เป็นยาชา แต่ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ย่อมรู้จักดอกกานพลูในเป็นยาแก้ปวดฟันเสียมากกว่า เพราะหลายๆ คนอาจจะไม่ค่อยรู้จักกับผักชนิดนี้กันมากนัก

สรรพคุณของผักคราดหัวแหวน

  1. ต้นสดมีรสเผ็ดร้อน ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ต้น) ส่วนดอกก็มีรสเผ็ดร้อน ช่วยในการเจริญอาหาร ช่วยกระตุ้นและเรียกน้ำลายได้เช่นกัน (ดอก)
  2. ใช้เป็นอาหารบำรุงธาตุสำหรับสตรีหลังคลอดบุตรและมีอาการวิงเวียนศีรษะ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  3. ทั้งต้น มีรสเอียนและเบื่อเล็กน้อย สรรพคุณช่วยแก้พิษตานซางได้ (ต้น,ทั้งต้น,ราก)
  4. ช่วยแก้เด็กร้องไห้ ซางวันจันทร์ รักษาซางน้ำ (ทั้งต้น) ซางแดง (ใบ)
  5. ดอกผักคราดหัวแหวน สรรพคุณช่วยรักษารำมะนาด (ดอก)
  6. ช่วยรักษาดีซ่าน (ทั้งต้น) ด้วยการใช้ผักคราด และเฟิร์นเงิน อย่างละ 1 ตำลึง นำมาต้มกินวันละ 2 ครั้ง (ข้อมูลไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้)
  7. ใบมีรสหวาน ขมเอียน เบื่อเล็กน้อย และชาลิ้น ช่วยแก้อาการผอมเหลือง (ใบ,ทั้งต้น)
  8. ช่วยแก้โลหิตเป็นพิษ (ใบ)
  9. ช่วยแก้อาการตาฟาง (ใบ)
  10. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ดอก,ใบ,ราก) แก้มึน (ใบ)
  11. ดอกเมื่อนำมาใช้ผสมกับตำรับยาสมุนไพรอื่น จะมีสรรพคุณช่วยแก้ลมตะกัง หรืออาการปวดหัวข้างเดียวได้ (ดอก)
  12. ช่วยแก้อาการเด็กตัวร้อน (ใบ,ทั้งต้น)
  13. ผักคราดหัวแหวนมีสาร Spilanthol ที่มีฤทธิ์ช่วยฆ่าเชื้อปรสิตที่อยู่ในกระแสดเลือด อย่างเชื้อมาลาเรีย โดยไม่มีพิษต่อคน จึงมีแนวโน้มว่าการรับประทานผักคราดหัวแหวนจะช่วยป้องกันโรคมาลาเรียได้ (ใบ,ดอก)
  14. ผลนำมาใช้เป็นเป็นยาแก้ร้อนในได้ (ผล)
  15. ช่วยแก้ไข้ (ต้น,ทั้งต้น) แก้ไข้จับสั่น ด้วยการใช้ผักคราดนำมาต้มใส่น้ำตาลแดง (ข้อมูลไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้)

ขอขอบคุณ ที่มา : หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน และ วิกิพีเดีย ภาพประกอบอินเตอร์เน็ต



ปฏิกิริยาของคุณ?