โกงกาง สรรพคุณและประโยชน์
โกงกาง สรรพคุณและประโยชน์
ต้นโกงกางใบใหญ่ จะเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-30 เมตร (บ้างก็ว่าสูงประมาณ 30-40 เมตร) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเหนือคอ ราก เมื่อโตเต็มที่ประมาณ 30 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง ด้านรับแสงจะมีกิ่งก้านมาก เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเทา เปลือกต้นค่อนข้างเรียบ หรือแตกเป็นร่องตื้นๆ


สมุนไพร โกงกาง

สมุนไพร โกงกางใบใหญ่ ชื่อสามัญ Red Mangrove, Asiatisk Mangrove, Loop-root Mangrove

สมุนไพร โกงกางใบใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhizophora mucronata Poir., Rhizophora mucronata Lam. จัดอยู่ในวงศ์ RHIZOPHORACEAE เช่นเดียวกับโกงกางใบเล็ก และเฉียงพร้านางแอ

สมุนไพรโกงกางใบใหญ่ มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า กงเกง (นครปฐม), กงกางนอก โกงกางนอก (เพชรบุรี), กงกอน (เพชรบุรี, ชุมพร), ลาน (กระบี่), โกงกางใบใหญ่ (ภาคกลาง), กางเกง พังกา พังกาใบใหญ่ (ภาคใต้) เป็นต้น

ลักษณะของโกงกางใบใหญ่

ต้นโกงกางใบใหญ่ จะเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-30 เมตร (บ้างก็ว่าสูงประมาณ 30-40 เมตร) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเหนือคอ ราก เมื่อโตเต็มที่ประมาณ 30 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง ด้านรับแสงจะมีกิ่งก้านมาก เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเทา เปลือกต้นค่อนข้างเรียบ หรือแตกเป็นร่องตื้นๆ ส่วนเปลือกในเป็นสีส้ม ในกระพี้เป็นสีเหลืองอ่อน และแก่นเป็นสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้ฝักโดยตรง โดยใช้ฝักแก่ที่ยังสมบูรณ์ไม่มีโรคและแมลงเข้ามาทำลาย โดยดูได้จากบริเวณรอยต่อของฝักกับผลจะมีปลอกสีขาวอมเหลืองหุ้มอยู่ ถ้าหากมีขนาดยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และเป็นสีเหลืองแสดงว่าฝักแก่สมบูรณ์แล้ว หรือจะเก็บฝักที่ร่วงหล่นลงน้ำก็ได้ เพราะถ้าฝักแก่สมบูรณ์จะลอยน้ำได้ เมื่อได้ฝักมาแล้วก็ให้นำมาปลูกในทันที เพราะถ้าเก็บไว้นานเท่าไหร่ความสามารถในการงอกก็จะลดลงไปเรื่อยๆ[1],[4] สามารถพบได้ตามชายฝั่งทะเลตะวันออกของแอฟริกา ทวีปเอเชีย ภูมิภาคมาเลเซีย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย ในหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ไปจนถึงหมู่เกาตองกา[4] สำหรับในประเทศไทยจะพบต้นโกงกางใบใหญ่ได้มากตามริมคลอง ริมชายฝั่งทะเลที่มีน้ำเค็มท่วมถึงเป็นระยะเวลานาน โดยจะชอบขึ้นในบริเวณที่เป็นดินเลนปนทราย และมักจะขึ้นอยู่ในบริเวณที่ชิดติดกับแม่น้ำ

รากโกงกางใบใหญ่ มีรากเป็นแบบค้ำจุนขนาดใหญ่ โดยจะงอกจากลำต้นออกเป็นจำนวนมาก ดูไม่เป็นระเบียบ เพราะแตกแขนงระเกะระกะ และมีลักษณะเป็นทรงเรือนยอดรูปกรวยคว่ำแบบแคบๆ

ใบโกงกางใบใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับตรงข้ามกัน โดยใบแต่ละคู่จะออกแบบสลับทิศทางกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปใบมนค่อนไปทางรูปหอก ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแข็งเล็กๆ ส่วนฐานใบสอบเข้าหากันคล้ายกับรูปลิ่ม หน้าใบเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนหลังใบเรียบเกลี้ยงและเป็นสีเขียวอมเหลือง และหลังใบยังมีจุดสีน้ำตาลเล็กๆ เห็นได้ชัดเจนอยู่ทั่วหลังใบ โดยใบมีความกว้างประมาณ 5-13 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-18 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาวประมาณ 2.5-5.5 เซนติเมตร และยังมีหูใบสีแดงเข้มยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร หุ้มใบอ่อนไว้

ดอกโกงกางใบใหญ่ ออกดอกเป็นช่อแบบ Cymes ในแต่ละช่อดอกจะประกอบไปด้วยดอกประมาณ 2-12 ดอก ดอกมีสีขาวอมสีเหลือง มีกลีบอยู่รอบดอก มีอยู่ด้วย 4 กลีบ ลักษณะของกลีบรอบกลีบดอกเป็นรูปไข่ ส่วนโคนกลีบติดกัน ส่วนกลีบดอกเป็นรูปใบหอก มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ขอบของกลีบดอกจะมีขนยาวขึ้นปกคลุมอยู่ และดอกจะมีเกสรตัวผู้จำนวน 8 อัน ยาวประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร

ผลโกงกางใบใหญ่ ผลเป็นแบบ Drupebaceous มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมคล้ายไข่ โดยจะเป็นผลแบบที่งอกก่อนผลจะร่วง ในส่วนใต้ใบเลี้ยงในเมล็ดจะงอกยื่นยาวออกมาคล้ายกับฝัก หรือที่เรียกว่า “ฝักโกงกางใบใหญ่” เมื่อผลหรือฝักแก่แล้วจะมีความยาวประมาณ 36-90 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางส่วนที่โตสุดประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร

สรรพคุณของโกงกาง

  1. ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด
  2. ใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง หรือจะใช้น้ำจากเปลือกต้นนำมากินเป็นยาแก้ท้องร่วงได้เช่นกัน
  3. ช่วยแก้บิด บิดเรื้อรัง ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้น้ำจากเปลือกต้นนำมากินก็ได้เช่นกัน
  4. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาสมาน
  5. ใช้เปลือกต้นนำมาตำ ใช้เป็นยาพอกช่วยห้ามเลือดได้ดี และช่วยสมานแผล หรือจะใช้ใบอ่อนเคี้ยวหรือตำให้ละเอียดแล้วนำมาพอกบาดแผลสดและห้ามเลือดก็ได้เช่นกัน (ใบ,เปลือก) บ้างก็ว่าน้ำจากเปลือกต้นก็ใช้ชะล้างแผลและห้ามเลือดได้เช่นกัน
  6. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำใช้ชะล้างรักษาบาดแผลเรื้อรัง หรือจะใช้น้ำจากเปลือกต้นก็ได้

ขอขอบคุณ ที่มา : หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน และ วิกิพีเดีย 



ปฏิกิริยาของคุณ?