กร่าง สรรพคุณและประโยชน์
กร่าง สรรพคุณและประโยชน์
ต้นกร่าง หรือ ต้นนิโครธ เป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา และปากีสถาน และได้แพร่กระจายพันธุ์ไปทั่วในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 10-30 เมตร ลำต้นตรงขึ้นเป็นพูพอน แตกกิ่งก้านหนาทึบ ลักษณะเป็นเรือนยอดแผ่กว้างปลายกิ่งลู่ลง


กร่าง สรรพคุณและประโยชน์

กร่าง ชื่อสามัญ Banyan tree, Bar, East Indian Fig

กร่าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus benghalensis L. (มักเขียนผิดเป็น Ficus bengalensis L.) จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)

สมุนไพรกร่าง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า นิโครธ หรือ ไทรนิโครธ (กรุงเทพฯ), ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “บันยัน” (Banyan), ในภาษาฮินดูเรียกว่า “บาร์คาด” (Bargad) ส่วน “กร่าง” เป็นชื่อเรียกของคนภาคกลางทั่วไป (ส่วนในวิกิพีเดียใช้ชื่อสมุนไพรชนิดนี้ว่า “ไกร“)

ลักษณะของต้นกร่าง

ต้นกร่าง หรือ ต้นนิโครธ เป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา และปากีสถาน และได้แพร่กระจายพันธุ์ไปทั่วในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 10-30 เมตร ลำต้นตรงขึ้นเป็นพูพอน แตกกิ่งก้านหนาทึบ ลักษณะเป็นเรือนยอดแผ่กว้างปลายกิ่งลู่ลง เปลือกต้นเรียบเกลี้ยง ลำต้นและกิ่งมีรากอากาศห้อยย้อยลงมามากมาย และเมื่อหยั่งถึงดินแล้วจะทำให้เกิดเป็นหลืบสลับซับซ้อน เป็นฉากเป็นห้อง หรือเป็นลำต้นต่อไปได้อีก ทุกส่วนของลำต้นมียางสีขาว กิ่งอ่อนมีขนนุ่มอยู่หนาแน่น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด หรือโดยวิธีทางธรรมชาติที่นกหรือ ค้างคาวจะกินผลแล้วถ่ายมูลที่มีเมล็ดติดอยู่ไปยังที่ต่าง ๆ หรือจะขยายพันธุ์ด้วยการปักชำหรือการตอนกิ่งก็ทำได้เช่นกัน โดยสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิดที่ค่อนข้างมีความชุ่มชื้น

ใบกร่าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบมน บ้างว่ามีติ่งแหลมสั้น โคนใบเรียบหรือโค้งกว้าง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-14 เซนติเมตรและยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีเส้นแขนงของใบประมาณ 4-6 คู่ ก้านใบอวบ ยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีหูใบหุ้มยอดอ่อน[1],[4] ใบอ่อนมีขนหนามากโดยเฉพาะในส่วนของท้องใบ ส่วนใบแก่ไม่มีขน ใบเมื่อแก่จะร่วงหล่นและมีรอยแผลใบให้เห็นเด่นชัดบนกิ่ง

ดอกกร่าง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อมะเดื่อตามซอกใบ ดอกมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก เจริญเติบโตอยู่ภายใต้ฐานรองดอก ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน ภายในดอกประกอบไปด้วยดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย โดยดอกตัวเมียจะอยู่ใกล้กับรูปากเปิด

ผลกร่าง ผลมีขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร บ้างว่าประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียวเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนถึงสีส้ม และเมื่อแก่ผลจะเป็นสีแดงคล้ำหรือสีเลือดหมู ในแต่ละผลจะมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ประมาณ 2-4 กลีบ

ภาพจาก gotoknow.org

สรรพคุณและประโยชน์ของกร่าง

  1. เมล็ดใช้เป็นยาเย็นและยาบำรุงร่างกาย (เมล็ด)
  2. เปลือกต้นทำเป็นยาชงใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้โรคเบาหวาน (เปลือกต้น)
  3. รากนำมาเคี้ยวเพื่อช่วยป้องกันโรคเหงือกบวม (ราก)
  4. ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย แก้ท้องเดิน (เปลือกต้น, ยาง)
  5. ใบและเปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง (ใบ, เปลือกต้น)
  6. ยางและเปลือกต้นใช้แก้บิด (เปลือกต้น, ยาง)
  7. ผลสุกใช้รับประทาน มีฤทธิ์เป็นยาระบาย (ผลสุก)
  8. ช่วยแก้อาการถ่ายเป็นมูกเลือด (ใบ, เปลือกต้น)
  9. ยางจากต้นใช้แก้โรคริดสีดวงทวาร (ยาง)
  10. ใบและเปลือกต้นใช้เป็นยาช่วยห้ามเลือด (ใบ, เปลือกต้น)
  11. ยางจากต้นใช้แก้หูด (ยาง)
  12. ยางใช้เป็นยาทาแก้ไขข้ออักเสบ (ยาง)
  13. ผลใช้รับประทานได้
  14. ผลแก่ที่เป็นสีแดงคล้ำใช้เป็นอาหารของนก
  15. นอกจากใช้ผลรับประทานแล้ว ในอินเดียยังใช้ใบสำหรับใส่อาหารรับประทานอีกด้วย

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)
ภาพจาก : boonchuayplants



ปฏิกิริยาของคุณ?