มุมมอง
กระทงลาย สรรพคุณและประโยชน์
กระทงลาย ชื่อสามัญ Black ipecac, Black oil plant, Black oil tree, Celastrus dependens, Climbing staff plant, Climbing staff tree, Intellect tree
กระทงลาย ชื่อวิทยาศาสตร์ Celastrus paniculatus Willd. จัดอยู่ในวงศ์กระทงลาย (CELASTRACEAE)
สมุนไพรกระทงลาย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า นางแตก (นครราชสีมา), มะแตก มะแตกเครือ มักแตก (ภาคเหนือ, ภาคอีสาน), กระทงลาย กระทุงลาย โชด (ภาคกลาง), หมากแตก เป็นต้น
ลักษณะของกระทงลาย
ต้นกระทงลาย จัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 3-10 เมตร หรือขึ้นพาดพันต้นไม้อื่นไปได้ไกลถึง 10 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนสีเทา ผิวขรุขระเล็กน้อย ตามกิ่งจะมีรูอากาศกระจายอยู่ทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน สามารถพบต้นกระทงลายได้ทั่วไป โดยมักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่ง ป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ หรือตามพื้นที่โล่ง ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 0-1,300 เมตร และจะพบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทางจีนตอนใต้ พม่า อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน ภูมิภาคมาเลเซีย จนถึงออสเตรเลีย และนิวแคลิโดเนีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค
ใบกระทงลาย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี หรือรูปวงรี หรือเป็นรูปวงรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนสอบเข้าหากัน ส่วนขอบใบหยักละเอียดเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร หลังใบเรียบ ส่วนท้องใบมีขนอยู่ประปราย มีเส้นแขนงใบประมาณ 5-9 คู่ มองเห็นได้ชัดเจน และก้านใบยาวประมาณ 0.8-2.5 เซนติเมตร
ดอกกระทงลาย ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงที่ปลายกิ่งหรือปลายยอด ยาวประมาณ 4-8 นิ้ว ดอกเป็นแบบแยกเพศ ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ดอกเป็นสีขาวอมสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบและมีกลีบเลี้ยงดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ปลายกลีบดอกแยกออกเป็นแฉก มีลักษณะค่อนข้างกลม และมีขนขึ้นประปราย ฐานดอกเป็นรูปถ้วยนูน กลางดอกเพศผู้มีเกสรอยู่ 5 ก้าน ยาวประมาณ 2.2.5 มิลลิเมตร ส่วนดอกเพศเมียมีเกสรยาวกว่าเกสรเพศผู้และปลายแยกเป็น 3 แฉก โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
ผลกระทงลาย ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร ผิวผลเรียบ มีลักษณะเป็นพู 3 พู ที่ปลายผลมียอดเกสรเพศเมียติดอยู่ แต่พอผลแก่เต็มที่แล้วเกสรที่ปลายก็จะหลุดออก ผลอ่อนเป็นสีเขียว พอแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มปนเหลืองและแตกออกเป็น 3 ซีก ในแต่ละผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 3-6 เมล็ด (พูละประมาณ 2 เมล็ด) เมล็ดกระทงลายมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรีและมีเนื้อเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3.5-5 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม
สรรพคุณและประโยชน์ของกระทงลาย
- ใบมีฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาท ด้วยการนำใบมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำกิน (ใบ)
- สารสกัดด้วยน้ำมันจากเมล็ดสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้านความจำได้ (เมล็ด)
- ผลช่วยบำรุงโลหิต (ผล)
- แก่นใช้เป็นยารักษาวัณโรค (แก่น
- ใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (เปลือก, ราก,)
- เมล็ดใช้เป็นยาแก้ไข้ (เมล็ด)
- ช่วยขับเหงื่อ (น้ำมันจากเมล็ด)
- ใช้ราก เถา และใบ รับประทานเป็นยาแก้ไข้ลงท้องหรืออาการท้องเดิน (ราก, เถา, ใบ)
- รากตากแห้งใช้ต้มผสมกับข้าวเปลือก 9 เม็ด ใช้ดื่มกินแก้อาการปวดท้อง หรือจะใช้เถาและรากรับประทานก็ได้เช่นกัน (ราก, เถา)
- ใบนำมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำกินช่วยรักษาโรคบิด หรือจะใช้เปลือกต้นนำมาตำผสมกับตัวมดแดงและเกลือใช้กินครั้งเดียวเพื่อแก้อาการบิดก็ได้ (ใบ, เปลือกต้น)
- ผลช่วยแก้ลมจุกเสียด (ผล)
- ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ลำต้น)
- ช่วยแก้ไตพิการ (โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ มีปัสสาวะขุ่นข้นเป็นสีเหลืองหรือแดง และมักมีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้ร่วมด้วย) ด้วยการใช้ลำต้นนำมาต้มกับน้ำเป็นยาดื่ม (ลำต้น)
- ใบใช้ถอนพิษฝิ่น ด้วยการใช้ใบนำมาต้มหรือคั้นเอาแต่น้ำกิน (ใบ)
- ใบใช้ถอนพิษฝี (ไม่ยืนยัน)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)
ภาพจาก : misterveggy