มุมมอง
กรรณิการ์ สรรพคุณและประโยชน์
กรรณิการ์ ชื่อสามัญ Night blooming jasmine, Night jasmine, Coral jasmine
กรรณิการ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Nyctanthes arbor-tristis Linn. จัดอยู่ในวงศ์มะลิ (OLEACEAE)
สมุนไพรกรรณิการ์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กณิการ์ กรรณิการ์ กันลิกา กรรณิกา (ภาคกลาง), สะบันงา (น่าน), ปาริชาติ (ทั่วไป) เป็นต้น
หมายเหตุ : P.S.Green ระบุว่าสกุล Nyctanthes มีความใกล้ชิดกับวงศ์ VERBENACEAE มากกว่าวงศ์ OLEACEAE อย่างไรก็ตามข้อมูลในด้านวิวัฒนาการในปัจจุบันจัดให้สกุล NYCTANTHES อยู่ภายใต้วงศ์ OLEACEAE และอยู่ในวงศ์ย่อย MYXOPYREAE
ลักษณะของกรรณิการ์
ต้นกรรณิการ์ มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในตอนกลางของประเทศอินเดีย เข้าใจว่าเข้ามาในไทยในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือในสมัยตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ และมีการสันนิษฐานว่าชื่อ “กรรณิการ์” นั้นมาจากคำว่า “กรรณิกา” ซึ่งมีความหมายว่า ช่อฟ้า กลีบบัว ดอกไม้ ตุ้มหู และเครื่องประดับหู ซึ่งหากสังเกตจากรูปทรงของดอกกรรณิการ์แล้วก็จะเห็นว่าเหมาะจะใช้เป็นเครื่องประดับหูได้ดี เพราะมีหลอดที่ใช้สอดในรูที่เจาะใส่ต้มหูได้นั่นเอง โดยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัดใบ มีเรือนยอดเป็นรูปทรงพีระมิดแคบ มีความสูงของต้นประมาณ 3-5 เมตร เปลือกของลำต้นมีลักษณะขรุขระและเป็นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมสี่เหลี่ยม และมีขนแข็งสากมือ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง หรือการปักชำกิ่งเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี มีความชื้นปานกลาง แสงแดดแบบเต็มวันและครึ่งวัน หากปลูกในที่แห้งแล้งจะออกดอกน้อย โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน แต่สามารถออกดอกได้ตลอดปีหากมีฝน หรือได้รับการตัดแต่งและมีการให้น้ำอย่างเหมาะสม
ใบกรรณิการ์ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ มีความกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบหรือบางใบจะหยักแบบห่าง ๆ กัน และตามขอบใบอาจมีขนแข็ง ๆ หลังใบมีขนแข็งสากมือ ส่วนท้องใบมีขนแข็งสั้น ๆ มีเส้นแขนงของใบข้างละ 3-4 เส้น ปลายเส้นจรดกันก่อนถึงขอบใบ และมีก้านใบสั้น ยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร
ดอกกรรณิการ์ ออกดอกเป็นช่อ ออกตามซอกใบหรือง่ามใบ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1.2-2 เซนติเมตร มีใบประดับรูปคล้ายใบเล็ก ๆ อยู่ 1 คู่ที่ก้านช่อดอก ในแต่ละช่อดอกจะมีดอกอยู่ประมาณ 3-7 ดอก ดอกเป็นดอกย่อยสีขาวและมีกลิ่นหอม ดอกจะบานในช่วงเย็นและจะร่วงในช่วงเช้าวันรุ่งขึ้น ไม่มีก้านดอก ในแต่ละดอกจะมีใบประดับอยู่ 1 ใบ ดอกตูมมีกลีบดอกเรียงซ้อนกันและบิดเป็นเกลียว กลีบมีประมาณ 5-8 กลีบ ปลายกลีบเว้า ส่วนโคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีแสดสั้น ๆ ยาวประมาณ 1.1-1.3 เซนติเมตรด้านในมีขนยาว ๆ สีขาวที่โคนหลอด ส่วนด้านนอกเกลี้ยง ที่ปลายหลอดแยกเป็นกลีบสีเขียว หรือที่เรียกว่ากลีบดอก ประมาณ 5-8 กลีบ ในแต่ละกลีบจะมีความยาวประมาณ 0.1-1.1 เซนติเมตร โคนกลีบแคบ ปลายกลีบกว้างและเว้าลึก ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 2 ก้านติดอยู่ภายในหลอด กลีบดอกบริเวณปากหันด้านหน้าเข้าหากัน มีก้านชูอับเรณูเชื่อมติดเป็นเนื้อเดียวกันกับหลอดดอก ส่วนรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ มีลักษณะกลม มีอยู่ 2 ช่อง และมีออวุลช่องละ 1 เม็ด ส่วนเกสรเพศเมียจะมีแค่ 1 อัน ยอดเกสรเพศเมียมีลักษณะเป็นตุ่มมีขน และยังมีกลีบเลี้ยงดอกสีเขียวอ่อนอยู่ 4 กลีบ ติดกันเป็นหลอดรูปกรวยปลายติดหรือหยักตื้น ๆ 5 หยัก ด้านในเกลี้ยง ส่วนด้านนอกมีขน
ผลกรรณิการ์ ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับหรือมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมค่อนข้างแบน ปลายผลเป็นมนและมีติ่งแหลม ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลเมื่อแก่จะแตกอ้าออกเป็น 2 ซีก ข้างในผลมีเมล็ดซีกละหนึ่งเมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมแบนและเป็นสีน้ำตาล
สกุลกรรณิการ์ มีสมาชิกอยู่เพียง 2 ชนิด ซึ่งมีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย สุมาตรา ชวา และในประเทศไทย โดยในไทยจะพบได้ทั้ง 2 ชนิด ซึ่งชนิดแรกก็คือ กรรณิการ์ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nyctanthes arbor–tristis L. (ชนิดนี้นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ และเป็นชนิดที่กล่าวถึงในบทความนี้ครับ) ส่วนอีกชนิดคือ กรรณิการ์ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nyctanthes aculeata Craib (ในปัจจุบันชนิดนี้ได้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว)
สรรพคุณและประโยชน์ของกรรณิการ์
- รากมีรสขมฝาด ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ (ราก)
- รากใช้เป็นยาแก้วาโยกำเริบเพื่ออากาศธาตุ (ราก)
- ดอกช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก)
- รากใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ราก)
- ใช้เป็นยาแก้อาการอ่อนเพลีย (ราก)
- ใช้เป็นยาแก้โลหิตตีขึ้น (ดอก)
- ใบมีรสขม ช่วยทำให้เจริญอาหาร ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 1 กำมือ เติมน้ำคั้นลงไปแล้วคั้นเอาแต่น้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใช้แบ่งรับประทาน 4 ครั้ง ถ้ากินมากจะมีฤทธิ์เป็นยาระบาย (ใบ)
- ใบใช้เป็นยาแก้ตานขโมย (ใบ)
- ช่วยบำรุงเส้นผม แก้เส้นผมหงอก ด้วยการใช้ใบนำไปแช่กับน้ำมันมะพร้าวประมาณ 1-2 คืน ก็จะได้น้ำมันที่มีสีเหลืองอ่อน ๆ สำหรับนำมาใช้ทาหมักผมก่อนนอน จะช่วยป้องกันไม่ให้ผมหงอกก่อนวัยได้ (ใบ) ส่วนข้อมูลจากหนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ระบุว่าส่วนที่นำมาใช้เป็นยาแก้ผมหงอกคือส่วนของราก (ราก)
- ช่วยบำรุงผิวหนังให้สดชื่น (ราก)
- เปลือกมีรสขมเย็น ใช้เปลือกชั้นในนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ ส่วนต้นก็มีสรรพคุณแก้ปวดศีรษะเช่นกัน (ต้น, เปลือก)
- ดอกมีรสขม ช่วยแก้ลมวิงเวียน (ดอก)
- ใช้เป็นยาแก้ลมและดี (ราก)
- ต้นมีรสหวานเย็นฝาดใช้เป็นยาแก้ไข้ ส่วนใบและดอกก็มีสรรพคุณแก้ไข้เช่นกัน (ต้น, ใบ, ดอก)
- ใบช่วยแก้ไข้เพื่อดีและแก้ไข้จับสั่นชนิดจับวันเว้นวัน (ใบ)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)
ภาพจาก : siamsoap