โพทะเล สรรพคุณและประโยชน์
โพทะเล สรรพคุณและประโยชน์
ต้นโพทะเล จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 8-12 เมตร ลำต้นโค้งและแตกกิ่งในระดับต่ำ ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดแผ่กว้างและค่อนข้างหนาทึบ เปลือกเป็นสีเทาอ่อนหรือสีน้ำตาล หรือมีลักษณะเรียบหรือขรุขระมีรอยแตกตามยาวเป็นร่องๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด


สมุนไพร โพทะเล

สมุนไพร โพทะเล ชื่อสามัญ Portia Tree, Cork Tree, Coast Cotton Tree, Indian Tulip tree, Pacific rosewood, Seaside Mahoe, Milo, Thespesia, Tulip Tree, Rosewood of Seychelles, Yellow Mallow Tree, Umbrella tree

สมุนไพร โพทะเล ชื่อวิทยาศาสตร์ Thespesia populnea (L.) Soland ex Corr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Hibiscus populneus L. (basionym)) จัดอยู่ในวงศ์ MALVACEAE เช่นเดียวกับกระเจี๊ยบแดง กระเจี๊ยบเขียว ครอบฟันสี ชบา ปอทะเล ปอกะบิด พลับพลา หญ้าขัด หญ้าขัดใบยาว หญ้าขัดใบป้อม และหญ้าขัดหลวง

สมุนไพรโพทะเล มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ปอกะหมัดไพร (ราชบุรี), ปอหมัดไซ (เพชรบุรี), บากู (ปัตตานี, มลายู-นราธิวาส), โพทะเล โพธิ์ทะเล (ภาคกลาง) เป็นต้น,โดยต้นโพทะเลนั้นมีเขตการกระจายพันธุ์เป็นวงกว้าง สามารถพบได้ในแอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ รวมไปถึงภูมิภาคมาเลเซีย และในหมู่เกาะแปซิฟิค สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ตามชายฝั่งทะเลทั่วไป และยังจัดเป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดสมุทรปราการ

ลักษณะของ โพทะเล

ต้นโพทะเล จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 8-12 เมตร ลำต้นโค้งและแตกกิ่งในระดับต่ำ ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดแผ่กว้างและค่อนข้างหนาทึบ เปลือกเป็นสีเทาอ่อนหรือสีน้ำตาล หรือมีลักษณะเรียบหรือขรุขระมีรอยแตกตามยาวเป็นร่องๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยจัดเป็นไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัด เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินแทบทุกชนิดที่มีความชุ่มชื้น และจะพบได้มากที่ดอนหรือตามชายฝั่งทะเล และตามริมแม่น้ำ ที่เป็นดินร่วนปนทราย

ใบโพทะเล ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบกว้างแหลมยาวถึงเรียวแหลม ส่วนฐานใบเว้าลึก ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร และมีเส้นใบออกจากโคนของใบประมาณ 5-7 เส้น ผิวใบด้านบนมีลักษณะเกลี้ยงและเป็นมัน ส่วนท้องใบเป็นสีเทาแกมสีน้ำตาลและมีเกล็ด ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 16 เซนติเมตร และยังมีหูใบที่มีลักษณะเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.3-1 เซนติเมตร และหลุดร่วงได้ง่าย

ดอกโพทะเล ออกดอกตามง่ามใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกคู่ตามซอกใบ ส่วนก้านดอกอ้วนสั้นหรือยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร และมีเกล็ด ดอกมีริ้วประดับ 3 แฉก ร่วงได้ง่าย มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบๆ มีความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร และมีเกล็ด ส่วนวงกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วยไม่มีแฉก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.1-1.5 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายแผ่นหนังไม่หลุดร่วง ส่วนกลีบดอกเป็นสีเหลือง ลักษณะเป็นรูปไข่ กว้างและยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ส่วนโคนกลีบติดกันเป็นรูประฆังและมีจุดสีแดงเข้มอมสีน้ำตาลแต้มอยู่ที่โคนกลีบดอกด้านใน โดยดอกจะบานเต็มที่ภายในวันเดียวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูแกมสีม่วงอ่อน และเหี่ยวอยู่บนต้น ก่อนที่จะร่วงหล่นในวันถัดมา ส่วนหลอดเกสรตัวผู้ยาวประมาณ 2.05 เซนติเมตร เป็นสีเหลืองจางๆ และมีอับเรณูติดอยู่ตลอดความยาวของหลอด โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคม,บ้างก็ว่าออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน

ผลโพทะเล ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผลเป็นสันตื้นๆ 5 สัน มีน้ำยางสีเหลือง มีก้านผลยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนผลแก่เป็นสีเขียวเข้ม เปลือกผลแข็งมีวงกลีบเลี้ยงลักษณะคล้ายจานติดอยู่ที่ขั้วของผล เมื่อผลแก่จะแห้งแตกไม่มีทิศทาง ไม่ร่วงหล่นและติดอยู่บนต้น ในผลมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด หรือมีเมล็ด 4 เมล็ดในแต่ละช่อง ลักษณะของเมล็ดยาวรีคล้ายเส้นไหมเป็นสีน้ำตาลอ่อนค่อนข้างแบน ยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร โดยผลจะแก่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนเมษายน(ออกผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม)

ภาพจาก sukanyathumwong2542.blogspot.com

สรรพคุณของโพทะเล

  1. รากใช้กินเป็นยาบำรุง
  2. รากใช้เป็นยารักษาอาการไข้
  3. ดอกใช้ต้มกับน้ำนมหยาดหู ใช้สำหรับรักษาอาการเจ็บหู โดยใช้ดอกสดประมาณ 1-3 ดอกนำมาต้มกับน้ำนมครึ่งถ้วยตวง แล้วนำมาหยอดหู จะช่วยแก้อาการเจ็บในหูได้
  4. เปลือกใช้เป็นยาทำให้อาเจียน
  5. เมือกที่ได้จากการนำส่วนของเปลือกสดมาแช่น้ำ ใช้สำหรับรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร
  6. รากใช้เป็นยาระบาย ส่วนใบใช้ทำเป็นยาระบายอ่อนๆ
  7. รากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
  8. ใบใช้ทำเป็นผงยาสำหรับใช้ใส่รักษาแผลเรื้อรั้ง แผลสด และช่วยทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณ 2-3 ใบนำมาบดให้เป็นผงละเอียด แล้วนำมาพอกและทาบริเวณทีเป็นแผล (ใบ) บ้างก็ว่าน้ำต้มจากเปลือกก็นำมาใช้ชะล้างแผลเรื้อรังได้เช่นกัน
  9. ผลและใบใช้ตำพอกแก้หิด

ขอบคุณ ที่มา : หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน และ วิกิพีเดีย 



ปฏิกิริยาของคุณ?