โกงกางใบเล็ก สรรพคุณและประโยชน์
โกงกางใบเล็ก สรรพคุณและประโยชน์
ต้นโกงกางใบเล็ก จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-30 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก เปลือกต้นเป็นสีเทาเกือบเรียบ เปลือกหนาประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร เมื่อทุบทิ้งไว้สักครู่ด้านในของเปลือกจะเป็นสีแสดอมสีแดงไปจนถึงสีเลือดหมู ส่วนกระพี้เป็นสีเหลืองอ่อน


สมุนไพร โกงกางใบเล็ก

สมุนไพร โกงกางใบเล็ก ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhizophora apiculata Blume (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Rhizophora conjugata Kurz, Rhizophora candelaria DC.) จัดอยู่ในวงศ์โกงกาง RHIZOPHORACEAE เช่นเดียวกับโกงกางใบใหญ่ และเฉียงพร้านางแอ

สมุนไพรโกงกางใบเล็ก มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า โกงกาง (ระนอง), พังกาทราย (กระบี่), พังกาใบเล็ก (พังงา), โกงกางใบเล็ก (ภาคกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของต้นโกงกางใบเล็ก

ต้นโกงกางใบเล็ก จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-30 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก เปลือกต้นเป็นสีเทาเกือบเรียบ เปลือกหนาประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร เมื่อทุบทิ้งไว้สักครู่ด้านในของเปลือกจะเป็นสีแสดอมสีแดงไปจนถึงสีเลือดหมู ส่วนกระพี้เป็นสีเหลืองอ่อน แก่นเป็นสีน้ำตาลแดง เนื้อไม้มีลักษณะเป็นมันวาว เสี้ยนไม้ตรง มีรอยแตกตามแนวตั้งมากกว่าแนวนอน และนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้ฝักโดยตรง ด้วยการเก็บฝักที่แก่และสมบูรณ์ หรือจะเก็บฝักที่ร่วงหล่นในน้ำ (ฝักสมบูรณ์จะลอยน้ำ) เมื่อเก็บมาแล้วก็ควรนำไปปลูกทันที เพราะหากเก็บไว้นานความสามารถในการงอกจะลดลงไปตามระยะเวลาที่เก็บ (เปลือกไม้มีสารแทนนินปริมาณมาก ประมาณ 7-27% ของน้ำหนักเปลือกไม้)

รากโกงกางใบเล็ก รากเป็นระบบรากแก้ว บริเวณโคนของลำต้นมีรากเสริมออกมาเหนือโคนต้นประมาณ 1-3 เมตร โดยรากที่โคนต้นหรือรากค้ำจุนลำต้นจะแตกแขนงไม่เป็นระเบียบ โดยมีหนึ่งหรือสองรากที่ทำมุมเกือบตั้งฉากกบัยลำต้นและหักเป็นมุมฉากลงดิน มีไว้เพื่อช่วยพยุงลำต้นให้ตั้งตรง

ใบโกงกางใบเล็ก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ใบแต่ละคู่จะออกแบบสลับทิศทางกัน ใบหนาเป็นมัน ลักษณะของใบเป็นรูปมนค่อนไปทางรูปใบหอก ปลายใบแหลม หรือเป็นติ่งเล็กสีดำ มองเห็นได้ชัดเจน ส่วนโคนใบสอบเข้าหากันคล้ายรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-18 เซนติเมตร หรือเล็กกว่า และก้านใบยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ส่วนหูใบเป็นสีแดงเข้ม ยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร หุ้มใบอ่อนไว้ ใบเกลี้ยงทั้งหน้าและหลังใบและมีจุดสีน้ำตาล

ดอกโกงกางใบเล็ก ออกดอกเป็นช่อแบบ Cymes ในช่อหนึ่งจะมี 2 ดอกย่อยอยู่ชิดติดกันแตกออกมาจากซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ที่ฐานของดอกย่อยจะมีใบประดับเป็นรูปถ้วยรองรับอยู่ เมื่อแห้งจะมีลักษณะแข็ง โดยกลีบเลี้ยงจะมี 4 กลีบ เป็นสีเขียวอมสีเหลือง แข็งอวบ ยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร โดยโคนกลีบจะติดกัน ส่วนปลายกลีบแยกออกเป็นแฉกๆ ลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายกลีบแกลมและยังคงติดอยู่จนเป็นผล ส่วนกลีบดอกมี 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปใบหอกเป็นแผ่นบางๆ สีขาว มีความยาวประมาณ 8-11 มิลลิเมตร ไม่มีขนและร่วงเร็ว ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวน 12 อัน ยาวประมาณ 0.6-0.75 เซนติเมตร โดยเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียจะอยู่ในดอกเดียวกัน ส่วนรังไข่เป็นแบบ Half-inferior มีอยู่ 2-3 ห้อง ซึ่งในแต่ละห้องจะมี 2 ออวุล โดยดอกโกงกางใบเล็กจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม

ผลโกงกางใบเล็ก ผลเป็นแบบ Drupebaceous ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมคล้ายไข่ เมื่อผลแก่จะไม่แตก เปลือกของผลมีลักษณะหยาบสีน้ำตาล มีส่วนของกลีบเลี้ยงติดอยู่ ภายในผลหนึ่งผลจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด โดยเมล็ดจะไม่มีการพักตัว และจะเจริญต่อไปในขณะที่ผลยังติดอยู่บนต้น ซึ่งเมล็ดจะงอกส่วนของ Radicle แทงทะลุออกมาทางส่วนปลายของผล ตามด้วยส่วนของต้นอ่อน โดยจะเจริญยาวออกมาเรื่อยๆ มีลักษณะปลายแหลมยาว เป็นสีเขียว หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า “ฝักโกงกางใบเล็ก” โดยฝักจะยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ซึ่งผลจะแก่ในช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม (มีรายงานว่าฝักของโกงกางจะแก่ไม่พร้อมกันทั่วประเทศ) และเมื่อผลแก่เอ็มบริโอจะหลุดออกจากเปลือกผล และปักลงดินเลนและจะงอกทันที แต่ถ้าหล่นลงน้ำก็จะลอยไปตามน้ำและจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 2 เดือน และเมื่อเกยตื้นและติดอยู่กับที่เมื่อไหร่ก็จะงอกทันที

ภาพจาก samunpri.com

สรรพคุณของโกงกางใบเล็ก

  1. ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน ด้วยการใช้เปลือกนำมาต้มกับน้ำดื่ม
  2. น้ำจากเปลือกใช้กินแก้อาการท้องร่วง ช่วยแก้บิด บ้างก็ว่าใช้ใบอ่อนรับประทานแก้ท้องร่วง
  3. น้ำจากเปลือกใช้ชะล้างแผล และใช้ห้ามเลือดได้ หรือจะนำเปลือกมาตำให้ละเอียดใช้พอกห้ามเลือดจากบาดแผลสด หรือจะใช้ใบอ่อนนำมาเคี้ยวหรือบดให้ละเอียดก็ใช้พอกแผลสดเพื่อห้ามเลือดได้เช่นกัน อีกทั้งยังช่วยป้องกันเชื้อโรคได้ด้วย

ขอบคุณ ที่มา : หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน และ วิกิพีเดีย



ปฏิกิริยาของคุณ?