แคนา สรรพคุณและประโยชน์
แคนา สรรพคุณและประโยชน์
ต้นแคนา หรือ ต้นแคป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของลำต้นได้ถึง 10-20 เมตร ลำต้นเปลาตรง มักแตกกิ่งต่ำ เปลือกของลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนอมสีเทา และอาจมีจุดดำประ ผิวต้นเรียบหรือล่อนเป็นเกล็ดขนาดเล็ก ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำราก


สมุนไพร แคนา

สมุนไพร แคนา ชื่อวิทยาศาสตร์  Dolichandrone serrulata (DC.) Seem. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Stereospermum serrulatua DC.) ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าแคนานั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dolichandrone rpathacea Schum

สมุนไพร แคนา ชื่อสามัญว่า D.longissima Schum, D.rheedii Seem. โดยแคนานั้นจัดอยู่ในวงศ์ BIGNONIACEAE เช่นเดียวกับแคหางค่าง แคทะเล แคแสด แคหัวหมู น้ำเต้าต้น ปีบ เพกา รุ่งอรุณ และไส้กรอกแอฟริกา เป็นต้น

สมุนไพรแคนา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แคขาว แคเก็ตวา แคเก็ตถวา แคเค็ตถวา (เชียงใหม่), แคภูฮ่อ (ลำปาง), แคป่า (เลย, ลำปาง), แคทราย (นครราชสีมา), แคยาว แคอาว (ปราจีนบุรี), แคยอดดำ (สุราษฎร์ธานี), แคตุ้ย แคแน แคฝา แคฝอย แคหยุยฮ่อ แคแหนแห้ (ภาคเหนือ), แคนา (ภาคกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของแคนา

ต้นแคนา หรือ ต้นแคป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของลำต้นได้ถึง 10-20 เมตร ลำต้นเปลาตรง มักแตกกิ่งต่ำ เปลือกของลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนอมสีเทา และอาจมีจุดดำประ ผิวต้นเรียบหรือล่อนเป็นเกล็ดขนาดเล็ก ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำราก โดยสามารถพบต้นแคนาได้ตามป่า ตามทุ่ง ตามไร่น่า และตามป่าเบญจพรรณทั่วไป มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศลาว พม่า เวียดนาม และในประเทศไทยสามารถพบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคกลาง โดยอาจจะได้ประปรายในป่าเบญจพรรณ และพบได้บ่อยตามนาข้าวทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ระดับความสูงไม่เกิน 300 เมตร

ใบแคนา มีใบเป็นใบประกอบแบบขนชั้นเดียวปลายคี่ ออกตรงข้ามกันประมาณ 3-5 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยว ส่วนขอบใบหยักเป็นแบบซี่ฟันตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-16 เซนติเมตร ผิวใบด้านล่างมีขนสั้นอยู่ประปรายบนก้านใบ ส่วนก้านใบย่อยมีความยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร

ดอกแคนา ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะสั้น ดอกมีขนาดใหญ่ ลักษณะของดอกเป็นรูปแตรสีขาว โดยจะออกดอกตามปลายกิ่ง ดอกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 1.8-4 เซนติเมตร ในแต่ละช่อจะมีดอกอยู่ประมาณ 2-10 ดอก กลีบเลี้ยงหนาและเหนียว ปลายเรียวเล็กและโค้งยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร หุ้มดอกตูมมิด เชื่อมติดกันเป็นหลอดโค้งปลายแหลม เมื่อดอกบานจะมีรอยแตกทางด้านล่าง มีลักษณะเป็นกาบหุ้มกลีบดอกติดกันเป็นท่อ ส่วนปลายขยายออกเป็นรูประฆัง และจะแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก กลีบดอกเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ 16-18 เซนติเมตร ส่วนหลอดกลีบดอกจะยาวประมาณ 13-14 เซนติเมตร ส่วนโคนจะแคบเป็นหลอด สีเขียวอ่อน ส่วนบนจะบานออกคล้ายกรวยเป็นสีขาวแกมสีขมพู แฉกกลีบดอกมีอยู่ 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ที่ขอบกลีบจะย่นเป็นคลื่น ๆ ดอกเป็นสีขาว ดอกตูมเป็นสีเขียวอ่อน ๆ โคนกลีบมีสีน้ำตาลปน ดอกมีเกสรตัวผู้ 4 อัน ติดอยู่ด้านในของท่อกลีบดอก ปลายแยก มีขนาดสั้น 2 อัน และยาว 2 อัน และยังมีเกสรตัวผู้ที่เป็นหมันอีก 1 อัน มีรูปร่างเป็นเส้นเรียวเล็กคล้ายเส้นด้ายมีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนอับเรณูยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เป็นสีเทาดำ และจานฐานดอกเป็นรูปเบาะ เป็นพูตื้น ๆ และมีเกสรตัวเมียอยู่ 1 อัน โดยดอกแคนาจะค่อย ๆ บานทีละดอก ดอกมีกลิ่นหอม ดอกบานในตอนกลางคืน และจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน

ผลแคนา ผลเป็นฝัก ออกฝักช่อละประมาณ 3-4 ฝัก ลักษณะของฝักแบนเป็นรูปขอบขนาน ฝักโค้งและบิดเป็นเกลียว ฝักมีความยาวประมาณ 40-60 เซนติเมตร ส่วนเมล็ดเป็นรูปสีเหลี่ยม ยาวประมาณ 2.2-2.8 เซนติเมตร รวมปีกบางใส

ภาพจาก doodee.in.th

สรรพคุณของแคนา

  1. รากมีรสเย็น สรรพคุณช่วยบำรุงโลหิต
  2. แคนา สรรพคุณของเมล็ดใช้เป็นยาแก้อาการปวดประสาท
  3. ช่วยในการนอนหลับ (ดอก)
  4. ช่วยแก้โรคชัก (เมล็ด)
  5. ช่วยแก้ไข้ลมหัวได้เช่นเดียวกับดอกแคบ้าน
  6. ใบนำมาต้มกับน้ำเป็นยาบ้วนปาก
  7. ดอกมีรสหวานเย็น ใช้เป็นยาขับเสมหะ โลหิต และลม
  8. ช่วยแก้แก้เสมหะและลม (ราก)
  9. ใช้ต้มรับประทานแก้อาการท้องร่วง
  10. ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ โดยใช้กับสตรีหลังคลอดบุตร (เปลือกต้น)
  11. ช่วยขับผายลม (ดอก)
  12. ช่วยในการขับถ่ายให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น (ดอก)

ขอขอบคุณ ที่มา : หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน และ วิกิพีเดีย 



ปฏิกิริยาของคุณ?