แคหางค่าง สรรพคุณและประโยชน์
แคหางค่าง สรรพคุณและประโยชน์
ต้นแคหางค่าง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบในช่วงสั้น มีลำต้นสูงประมาณ 5-20 เมตร ลำต้นมักคดงอ มีเรือนยอดไม่เป็นระเบียบ เอนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ ส่วนเปลือกต้นเป็นสีเทาค่อนข้างเรียบ ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีขาว ตามกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล


สมุนไพร แคหางค่าง

สมุนไพร แคหางค่าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Fernandoa adenophylla (Wall.ex G.Don) Steenis หรือ Fernandoa adenophylla Steenis จัดอยู่ในวงศ์ BIGNONIACEAE เช่นเดียวกับแคทะเล แคนา แคแสด แคหัวหมู น้ำเต้าต้น ปีบ เพกา รุ่งอรุณ และไส้กรอกแอฟริกา เป็นต้น

สมุนไพรแคหางค่าง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แคบิด แคร้าว แคลาว (เลย), แฮงป่า (จันทบุรี), แคพอง (สุราษฎ์ธานี), แคหัวหมู (นครราชสีมา), แคขน (ภาคเหนือ), แคหางค่าง (ภาคกลาง), ปั้งอะ (ม้ง) เป็นต้น

ลักษณะของแคหางค่าง

ต้นแคหางค่าง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบในช่วงสั้น มีลำต้นสูงประมาณ 5-20 เมตร ลำต้นมักคดงอ มีเรือนยอดไม่เป็นระเบียบ เอนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ ส่วนเปลือกต้นเป็นสีเทาค่อนข้างเรียบ ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีขาว ตามกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล และมีช่องระบายอากาศอยู่ทั่วไป โดยจะพบได้มากตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าหญ้า ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้และทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-800 เมตร ส่วนในต่างประเทศจะพบได้ที่อัสสัม บังคลาเทศ พม่า อันดามัน คาบสมุทรอินโด-จีน และมาเลย์-เพนนินซูลาร์

ใบแคหางค่าง ใบออกเป็นช่อ ช่อจะออกตรงข้ามกันหรือออกเยื้องกันเล็กน้อย ช่อใบมีความประมาณ 20-50 เซนติเมตร ในแต่ละช่อจะประกอบไปด้วยใบย่อยที่มีลักษณะและขนาดแตกต่างกันออกไป เช่น เป็นรูปมน รูปรี รูปป้อม หรือเป็นรูปสีเหลี่ยมขนมเปียกปูนกลาย ๆ โดยจะมีใบย่อยประมาณ 1-4 คู่ ออกเรียงตรงข้ามกัน ที่ปลายสุดของช่อใบอาจเป็นใบเดี่ยวหรือคู่ก็ได้ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-20 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-30 เซนติเมตร ปลายใบมนและเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ ส่วนโคนใบมนหรือยักเว้าเล็กน้อยและมักเบี้ยว แผ่นใบหนา หลังใบเกลี้ยง หรืออาจมีขนเล็กน้อย ส่วนท้องใบมีขนสาก ๆ อยู่ทั่วไป ส่วนเส้นแขนงของใบค่อนข้างเหยียดตรง มีประมาณ 6-10 คู่ เส้นใบย่อยเป็นแบบขั้นบันได มองเห็นได้ชัดทางท้องใบ ส่วนก้านใบย่อยจะสั้นมาก

ดอกแคหางค่าง ดอกมีขนาดใหญ่สีเหลืองอ่อน ดอกจะออกรวมกันเป็นช่อใหญ่บริเวณปลายกิ่ง โดยช่อดอกจะตั้งชี้ขึ้นและมีความยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร โคนกลีบรองกลีบดอกติดกันเป็นรูปถ้วย มีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-4.5 เซนติเมตร ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก มีขนาดไม่เท่ากัน ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นหนาแน่น ส่วนกลีบฐานดอกจะติดเป็นจุกผล กลีบของดอกเป็นรูปแตรงอน มีขนสีน้ำตาลขึ้นอยู่หนาแน่นทางด้านนอก ส่วนด้านในเกลี้ยง หลอดกลีบดอกในช่วงล่างเป็นหลอดแคบ ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ส่วนช่วงบนจะขยายใหญ่กว้างจนถึงปากหลอด กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรตัวผู้อยู่ 2 คู่ แบ่งเป็นยาว 1 คู่และสั้น 1 คู่ และมีรังไข่เป็นรูปทรงกระบอกและบิดเบี้ยว มีขนคุลมอยู่หนาแน่น โดยดอกแคหางค่างจะออกดอกในช่วงเดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนกันยายน

ฝักแคหางค่าง ลักษณะของฝักเป็นรูปทรงกระบอกโต โค้งงอและบิดเป็นเกลียว มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 35-70 เซนติเมตร ฝักจะมีสันเป็นเส้นยาวตามฝัก 5 สัน และมีขนสีน้ำตาลแดงขึ้นอยู่ทั่วไป ฝักเมื่อแก่จะแตกตามรอยประสาน ในฝักมีเมล็ดลักษณะแบน กว้างประมาณ 0.7-1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร และมีเยื่อบาง ๆ ตามขอบคล้ายกับปีก

ภาพจาก medthai.com

สรรพคุณของแคหางค่าง

  1. แคหางค่าง สรรพคุณของเมล็ด ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต
  2. ช่วยขับเสมหะ (เมล็ด)
  3. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
  4. ใบใช้ตำพอกรักษาแผล รักษาแผลสด แผลถลอก แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก และช่วยห้ามเลือด (ใบ)
  5. ใบใช้ตำพอกแก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน

ขอขอบคุณ ที่มา : หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน และ วิกิพีเดีย 



ปฏิกิริยาของคุณ?