แอหนัง สรรพคุณและประโยชน์
แอหนัง สรรพคุณและประโยชน์
ต้นแอหนัง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 10-60 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรงเรียบเป็นสีเขียว ลำต้นแตกกิ่งก้านได้มาก ใบดกหนาทึบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำกิ่งและการเพาะเมล็ด ชอบดินร่วน มีความชื้นและแสงแดดปานกลาง ชอบขึ้นในที่แจ้ง ชอบขึ้นตามหินปูน


แอหนัง สรรพคุณและประโยชน์

แอหนัง ชื่อสามัญ Roman iron wood

แอหนัง ชื่อวิทยาศาสตร์ Crossostephium chinense (A.Gray ex L.) Makino (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Artemisia chinensis L., Chrysanthemum artemisioides (Less.) Kitam., Crossostephium artemisioides Less. ex Cham. & Schltr., Tanacetum chinense L.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)

สมุนไพรแอหนัง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปากหลาน (กรุงเทพฯ), เล่านั่งฮวย (จีน), เหล่าหนั่งฮวย เฮียงเก็ก (แต้จิ๋ว), หล่าวเหยินฮวา เซียงจี๋ เชียนเหนียนไอ๋ ฝูหยงจวี๋ (จีนกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของแอหนัง

ต้นแอหนัง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 10-60 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรงเรียบเป็นสีเขียว ลำต้นแตกกิ่งก้านได้มาก ใบดกหนาทึบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำกิ่งและการเพาะเมล็ด ชอบดินร่วน มีความชื้นและแสงแดดปานกลาง ชอบขึ้นในที่แจ้ง ชอบขึ้นตามหินปูน มักพบได้ตามหลุมบ่อใกล้กับชายทะเล

ใบแอหนัง มีใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันตามต้น แต่จะออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด ใบและก้านใบมีขนสีขาว ๆ อมเทาขึ้นปกคลุม ก้านใบมีความยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ใบมีลักษณะไม่ค่อยแน่นอน มีปลายใบแหลม โคนใบมนลักษณะเป็นรูปไข่ ใบแยกออกเป็นแฉกประมาณ 3-5 แฉก แต่ใบที่ยอดต้นจะไม่แยกเป็นแฉก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5.5 เซนติเมตร อวบน้ำ และก้านใบสั้น

ดอกแอหนัง ออกดอกเป็นช่อที่ยอดต้นหรือตามง่ามใบปลายกิ่ง มีช่อดอกยาวประมาณ 4-9 เซนติเมตร ช่อดอกมีขนาดเล็ก แต่ละช่อมีดอกย่อยลักษณะทรงกลมสีเหลือง หรือเป็นรูปทรงกระบอกสีเหลืองอมสีเขียว โคนดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียวลักษณะเป็นรูปถ้วย และเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ

ผลแอหนัง ผลมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ลักษณะของผลเป็นรูปเหลี่ยมคล้ายห้าเหลี่ยม และมีรยางค์เป็นเกล็ดยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร เปลือกผลแข็ง ผลแห้งและแตกได้ ด้านในมีเมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงรีผิวมันสีน้ำตาล

ภาพจาก mrdthai.com

สรรพคุณและประโยชน์ของแอหนัง

  1. ใบและเมล็ดใช้เป็นยาบำรุง ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ใบ, เมล็ด)
  2. ใบและรากมีรสเผ็ดขม เป็นยาร้อนเล็กน้อยออกฤทธิ์ต่อปอดและกระเพาะ ใช้เป็นยาขับลม ขับลมชื้น (ใบ, ราก)
  3. ใช้เป็นยาแก้ไข้หวัด แก้ไข้หวัดลมเย็น ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณ 20 กรัม นำมาต้มกับน้ำ ใส่น้ำตาลเล็กน้อยแล้วใช้รับประทาน (เอากากทิ้ง) (ใบ)
  4. ช่วยแก้ไอ แก้อาการไอเรื้อรัง (ใบ, ราก)
  5. ช่วยละลายเสมหะ (ใบ, ราก)
  6. ใบใช้ทำเป็นยาชงดื่มช่วยแก้เลือดคั่งในอวัยวะต่าง ๆ (ใบ)
  7. ช่วยแก้หลอดลมอักเสบ (ใบ, ราก)
  8. ช่วยรักษาเต้านมอักเสบ (ใบ, ราก)
  9. ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะ (ใบ, ราก)
  10. ใบนำมาตำใช้ทาสะดือของเด็กทารก ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ใบ)
  11. ช่วยขับพยาธิ (ใบ, เมล็ด)
  12. ช่วยขับระดูประจำเดือนของสตรี (ใบ)
  13. หากออกหัด ให้ใช้ใบสดนำมาต้มเอาแต่น้ำมาอาบชะล้างร่างกาย (ใบ)
  14. ช่วยแก้อาการปวดข้ออันเนื่องมาจากลมชื้นเข้าข้อ (ใบ, ราก)
  15. ช่วยแก้พิษ (ใบ, ราก)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)
ภาพจาก : thaiherb-tip108



ปฏิกิริยาของคุณ?