ครอบฟันสี สรรพคุณและประโยชน์
ครอบฟันสี สรรพคุณและประโยชน์
ต้นครอบฟันสี จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีลำต้นมีความสูงประมาณ 0.5-2.5 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขามาก และมีขนสีขาวนวลหรือสีเทาอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่ทั่วไป โดยต้นครอบฟันสีนั้น จะมักเกิดตามดินปนทราย พบได้ทั่วไปตามที่รกร้างริมถนนหนทาง มีเขตการกระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกา


สมุนไพร ครอบฟันสี

สมุนไพร ครอบฟันสี ชื่อสามัญ Country mallow, Indian mallow, Moon Flower

สมุนไพร ครอบฟันสี ชื่อวิทยาศาสตร์ Abutilon indicum (L.) Sweet (Abutilon indicum Sweet var. indicum) จัดอยู่ในวงศ์ฝ้ายหรือวงศ์ MALVACEAE

สมุนไพรครอบฟันสี มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ก่อนเข้า (เชียงใหม่), โผงผาง โพะเพะ (นครราชสีมา), ก้นจ้ำ หมากก้นจ้ำ (ปราจีนบุรี), พรมชาติ (ภาคกลางบางพื้นที่), บอบแปบ ปอปแบบ มะก่องเข้า (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), ขัดมอนหลวง ครอบตลับ หญ้าขัดหลวง หญ้าขัดใบป้อม, ขัดมอญ ครอบ ครอบจักรวาฬ ครอบจักรวาล ตอบแตบ (ไทย), บั่วปั่วเช่า,กิมฮวยเช่า (จีน), มะก่องข้าว, มะอุบข้าว, กระติ๊บข้าว, หมอผ่านเฉ่า เป็นต้น

ลักษณะของครอบฟันสี

ต้นครอบฟันสี จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีลำต้นมีความสูงประมาณ 0.5-2.5 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขามาก และมีขนสีขาวนวลหรือสีเทาอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่ทั่วไป โดยต้นครอบฟันสีนั้น จะมักเกิดตามดินปนทราย พบได้ทั่วไปตามที่รกร้างริมถนนหนทาง มีเขตการกระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกา และในทวีปเอเชีย เช่น ในประเทศศรีลังกา อินเดีย เวียดนาม ลาว ฯลฯ ส่วนในประเทศไทยะพบได้มากทางภาคกลางและภาคตะวันออก โดยทั้งต้นจะมีสาร Amino acids, Flavonoid glycoside, Phenols, และน้ำตาล (จำพวก Flavonoid glycoside มี Cyanidin-3-rutinoside, Gossypin, Gossypitrin) ส่วนรากจะมี Asparagin

ใบครอบฟันสี ใบออกสลับกัน ใบมีลักษณะกลมโต ปลายใบแหลมสั้น ฐานใบเว้าเป็นรูปคล้ายหัวใจ ส่วนขอบใบเป็นหยักรูปฟัน ขนาดของใบกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-9 เซนติเมตร ใบสีเขียวค่อนข้างหนาและมีขนสีขาวนวลหรือสีเทาขึ้นปกคุลมทั้งสองด้าน และมีก้านใบยาว โดยใบจะมีสาร Organic acid, Mucilage, Tannins, Traces of asparagin และมีเถ้าที่ประกอบไปด้วย Alkaline sulphates, Calcium carbonate, Chlorides, และ Magnesium phosphate

ดอกครอบฟันสี ดอกออกเป็นดอกเดียวออกจากซอกของก้านใบ ดอกเป็นสีเหลือง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ก้านดอกยาว ทางใกล้โคนดอกมีรอยเป็นข้อ 1 รอย กลีบเลี้ยงดอกติดกัน เมื่อบานออกจะคล้ายจาน และมีรอยแยกฉีกๆ แบ่งออกเป็นกลีบ 5 กลีบ ลักษณะของกลีบปลายจะแหลมสั้นๆ มีสีเขียว มีขนนุ่มสีเทาปกคุลมด้านดอกของกลีบดอกทั้งห้า ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมากติดกันอยู่ที่โคนเป็นหลอดสั้นๆ ส่วนรังไข่จะอยู่เหนือส่วนอื่นของดอกทั้งหมด ผนังของรังไข่เป็นกลีบเรียง ติดกันรอบๆ เป็นรังสีรูปทรงกลม

ผลครอบฟันสี ผลมีลักษณะกลมเป็นกลีบๆ เรียงติดกันลักษณะคล้ายฟันเฟืองข้าว โดยมีกลีบประมาณ 15-20 กลีบ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร และมีความหนาประมาณ 1.5 เซนติเมตร ภายนอกของผลจะมีจนสั้นๆ ขึ้นปกคุลมอยู่ ชนิดนี้ผลจะมีลักษณะเป็นรูปตูมๆ ไม่บานอ้าเหมือนกับชนิดอื่น

เมล็ดครอบฟันสี เมล็ดมีลักษณะคล้ายรูปไต มีขนสั้นๆ โดยในเมล็ดจะมีไขมันอยู่ประมาณ 5% โดยจะมี Oleic acid 41.3%, Linoleic acid 26.67%, Linolenic acid 6.8%, Palmitic acid 5.08%, Stearic acid 11.17%, และ Non-saponified matter ประมาณ 1.77% (ซึ่งเป็นพวก Sitosterol) ส่วนกากเมล็ดจะประกอบไปด้วย Raffinose (C18 H32 O16)

ภาพจาก herbitat.net

สรรพคุณของครอบฟันสี

  1. รากใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยแก้อาการร่างกายอ่อนแอไม่มีกำลัง ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 60 กรัม นำมาต้มกับขาหมู 2 ขา แล้วผสมกับเหล้าเหลืองประมาณ 60 กรัม ใช้ต้มกับน้ำรับประทาน
  2. ในอินโดจีนใช้ดอกอ่อนและเมล็ดเป็นยาบำรุง
  3. รากใช้เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย
  4. ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  5. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต
  6. ช่วยฟอกโลหิต ขับโลหิตเสีย
  7. ช่วยบำรุงปอด
  8. ช่วยแก้โรคประสาท (ทั้งต้น)
  9. ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรคความดันโลหิต (ทั้งต้น)
  10. ใช้เป็นยาแก้โรคลมบ้าหมู หรือโรคลมชัก ด้วยการใช้ทั้งต้นรวมรากนำมาต้มกับน้ำปริมาณพอสมควรจนเดือด แล้วนำมาดื่มในขณะยังอุ่นทุกวัน วันละ 2-3 ครั้ง ผู้ที่เพิ่งเป็นโรคดังกล่าวจะหายในไม่นาน แต่ถ้าเป็นนานเกิน 5 ปีแล้ว ต้องต้มดื่มติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 1 ปี จึงจะหาย (ทั้งต้น)
  11. ใช้เป็นยาแก้อาการหูอื้อ (ทั้งต้น)
  12. ช่วยแก้อาการหูหนวก (ทั้งต้น,ราก)

ขอขอบคุณ ที่มา : หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน และ วิกิพีเดีย 



ปฏิกิริยาของคุณ?