หญ้ากุศะ สรรพคุณและประโยชน์
หญ้ากุศะ สรรพคุณและประโยชน์
หญ้ากุศะ เป็นหญ้าที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนามาก โดยถือกันว่าเป็นหญ้าศักดิ์สิทธิ์ โดยปรากฏในพุทธประวัติว่า ในช่วงวันก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ เจ้าชายสิทธัตถะได้รับถวายหญ้าชนิดนี้จำนวน 8 กำมือจากพราหมณ์โสตถิยะ และเจ้าชายสิทธัตถะก็ได้นำหญ้ากุศะมาปูรองนั่ง


หญ้ากุศะ สรรพคุณและประโยชน์

หญ้ากุศะ ชื่อสามัญ Kush, Kusha grass, Halfa grass, Big cordgrass, Salt reed-grass

หญ้ากุศะ ชื่อวิทยาศาสตร์ Desmostachya bipinnata(L.) Stapf (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Poa cynosuriodes Retz.) จัดอยู่ในวงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE)

สมุนไพรหญ้ากุศะ นั้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศเนปาลและอินเดีย นอกจากนี้ยังยังมีชื่ออื่นซึ่งเป็นภาษาบาลีอีกว่า กสะ (กะสะ), กุส (กุสะ), กุโส, พริหิส (พะ-ริ-หิ-สะ), ทพฺภ (ทับ-พะ) เป็นต้น ส่วน กุศะ หรือ หญ้ากุศะ นั้นเป็นชื่อเรียกของไทย บ้างก็เรียกว่า “หญ้ากุสะ“

ประวัติหญ้ากุศะ

หญ้ากุศะ เป็นหญ้าที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนามาก โดยถือกันว่าเป็นหญ้าศักดิ์สิทธิ์ โดยปรากฏในพุทธประวัติว่า ในช่วงวันก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ เจ้าชายสิทธัตถะได้รับถวายหญ้าชนิดนี้จำนวน 8 กำมือจากพราหมณ์โสตถิยะ และเจ้าชายสิทธัตถะก็ได้นำหญ้ากุศะมาปูรองนั่ง เป็นพุทธบัลลังก์ในวันที่พระองค์ตรัสรู้ จึงทำให้ชาวพุทธถือว่าหญ้ากุศะนี้มีความสำคัญอย่างมาก และจัดให้เป็นไม้สำคัญชนิดหนึ่งของพุทธประวัติอีกด้วย

ลักษณะของหญ้ากุศะ

ต้นหญ้ากุศะ เป็นหญ้าชนิดหนึ่งที่มักขึ้นในพื้นที่แห้งแล้ง ตามที่รกร้าง ที่โล่งทั่วไป และขึ้นตามริมฝั่งของแม่น้ำ มักขึ้นเป็นกอ ๆ เหง้ามีขนาดใหญ่และอวบ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการแยกกอ

ใบหญ้ากุศะ ใบมีลักษณะเป็นรูปยาวแหลมเหมือนหอก ขอบใบแหลมคม

ดอกหญ้ากุศะ ออกดอกเป็นช่อ ลักษณะเป็นรูปพีระมิดหรือมีลักษณะเป็นแท่งตั้งตรง มีความแข็ง และมีสีน้ำตาลอ่อน โดยจะออกดอกตลอดในช่วงฤดูฝน

ภาพจาก : phuketdata.net

สรรพคุณและประโยชน์ของหญ้ากุศะ

  1. รากมีรสหวานเป็นยาเย็น ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ราก)
  2. ช่วยขับเสมหะ (ทั้งต้น)
  3. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)
  4. ทั้งต้นใช้เป็นยาฝาดสมาน (ทั้งต้น)
  5. พระภิกษุในพุทธศาสนาจะนิยมใช้แกนก้านหรือสันใบของหญ้ากุศะที่แก่จัด นำมาใช้ทำเป็น “กำคา” ที่ใช้สำหรับจุ่มลงในน้ำพระพุทธมนต์ แล้วนำขึ้นประให้น้ำที่อยู่ติดกับ “กำคา” นั้นกระจายออกไปยังตัวบุคคล สถานที่ หรือวัตถุต่าง ๆ เพื่อประสงค์ให้เกิดความสิริมงคล หรือที่เรียกว่า “ประพรมน้ำพระพุทธมนต์” ซึ่งวิธีการทำ “กำคา” ก็ให้ใช้แกนก้านหรือสันใบของหญ้ากุศะแก่จัด นำมาตัดให้เหนือโคนใบขึ้นมาเพียงเล็กน้อยแล้วนำมารูดออก ก็จะเหลือแกนก้านที่ค่อนข้างแข็งแรง หลังจากนั้นก็ให้นำมาผึ่งแดดพอให้คายน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้เน่าหรือขึ้นรา แล้วนำไปผึ่งต่อในที่ร่มให้แห้งสนิท เมื่อแกนหญ้ากุศะแห้งดีแล้วก็ให้คัดขนาดของก้านที่อวบ ไม่มีตำหนิ และใหญ่เท่า ๆ กัน จำนวน 108 ก้าน แล้วนำมามามัดรวมกันด้วยสายสิญจน์ที่โคนก้านเพื่อให้จับได้สะดวก
  6. ตามความเชื่อแล้วถือว่าหญ้ากุศะจัดเป็นหญ้าศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมทางศาสนาของฮินดู (รวมทั้งไทย) โดยจะต้องเก็บหญ้ากุศะเฉพาะในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 9 เท่านั้น จึงจะศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เพราะเป็นวันวันกุโศตปาฎนีอมาวสยา (วันที่ชาวฮินดูทำการบูชาพระกฤษณะ เทพเจ้าสำคัญองค์หนึ่งของศาสนาฮินดู) โดยจะนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การนำหญ้ากุศะมาถักเป็นพระสังวาลพราหมณ์สำหรับถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงในวันบรมราชาภิเษก เพื่อให้เป็นเครื่องราชูปโภคเฉลิมพระเกียรติว่าทรงอยู่ในเพศที่บริสุทธิ์แล้ว และยังนำมาใช้สำหรับถักปนกับสายสิญจน์ เพื่อใช้โยงรอบพระมหามณเฑียรในการประกอบพิธีบรมราชาภิเษกและเฉลิมพระราชมณเฑียรอีกด้วย นอกจากนี้ยังนำมาใช้ปูลาดบนพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายใต้หนังราชสีห์หรือแผ่นทองคำ เขียนรูปราชสีห์ด้วยชาด หรคุณ เพื่อทรงประทับรับพระสุพรรณบัตร เครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระแสงอัษฎาวุธ
  7. พราหมณ์จะใช้หญ้ากุศะเพื่อเป็นทั้งเครื่องบูชาและเครื่องสะเดาะเคราะห์ โดยเชื่อว่าหากบริเวณใดถ้าประพรมน้ำมนต์ด้วยหญ้ากุศะ 3 กำ (เรียกว่า “ไตรปัตร”) จะทำให้บริเวณนั้นบริสุทธิ์ หรือถ้าเป็นคนก็จะช่วยทำให้ปราศจากทุกข์ภัยและมลทินต่าง ๆ แม้แต่ตัวของพราหมณ์เอง เมื่อจะร่ายพระเวทก็จะนั่งบทหญ้ากุศะและถูมือไปมาเพื่อทำให้บริสุทธิ์

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)
ภาพจาก : thaitatami



ปฏิกิริยาของคุณ?