เถาวัลย์เปรียง สรรพคุณและประโยชน์
เถาวัลย์เปรียง สรรพคุณและประโยชน์
ต้นเถาวัลย์เปรียง จัดเป็นไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ สามารถเลื้อยไปได้ไกลถึง 20 เมตร มีกิ่งเหนียวและทนทาน กิ่งแตกเถายืดยาวอย่างรวดเร็ว เถามักเลื้อยพาดพันตามต้นไม้ใหญ่ เถาแก่มีเนื้อไม้แข็ง เปลือกเถาเรียบและเหนียว


เถาวัลย์เปรียง สรรพคุณและประโยชน์

เถาวัลย์เปรียง ชื่อสามัญ Jewel vine

เถาวัลย์เปรียง ชื่อวิทยาศาสตร์ Derris scandens (Roxb.) Benth. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)

สมุนไพรเถาวัลย์เปรียง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เครือตาปลา เครือไหล (เชียงใหม่), เครือตับปลา (เลย), เถาตาปลา เครือเขาหนัง ย่านเหมาะ (นครราชสีมา), พานไสน (ชุมพร), เครือตาป่า เครือตับปลา เครือเขาหนัง เครือตาปลาโคก (หากเกิดบนบก) เครือตาปลาน้ำ (หากเกิดในที่ลุ่ม) (ภาคอีสาน), เถาวัลย์เปรียงขาว เถาวัลย์เปรียงแดง (ภาคกลาง), ย่านเหมาะ ย่านเมราะ (ภาคใต้) เป็นต้น

ลักษณะของเถาวัลย์เปรียง

ต้นเถาวัลย์เปรียง จัดเป็นไม้เถาเลื้อยขนาดใหญ่ สามารถเลื้อยไปได้ไกลถึง 20 เมตร มีกิ่งเหนียวและทนทาน กิ่งแตกเถายืดยาวอย่างรวดเร็ว เถามักเลื้อยพาดพันตามต้นไม้ใหญ่ เถาแก่มีเนื้อไม้แข็ง เปลือกเถาเรียบและเหนียว เป็นสีน้ำตาลเข้มอมสีดำหรือแดง เถาใหญ่มักจะบิด เนื้อไม้เป็นสีออกน้ำตาลอ่อน ๆ มีวงเป็นสีน้ำตาลไหม้คล้ายกับเถาต้นแดง (เนื้อไม้มีรสเฝื่อนและเอียน) ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือวิธีการแยกไหลใต้ดิน ชอบอากาศเย็นแต่แสงแดดจัด ทนความแห้งแล้งได้ดี หากปลูกในที่แล้งจะออกดอกดก แต่จะมีขนาดเล็กกว่าปลูกในที่ชุ่มชื้น พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นเองตามชายป่าและที่โล่งทั่วไป เป็นพรรณไม้ที่มีมากที่สุดในประเทศไทยและใช้กันทุกจังหวัด

ใบเถาวัลย์เปรียง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน มีใบย่อย 4-8 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี ปลายใบเป็นรูปหอก โคนใบมน ขอบใบเรียบ ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.25 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม ท้องใบเรียบ

ดอกเถาวัลย์เปรียง ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ช่อดอกเป็นสีขาวห้อยลง ดอกเป็นสีขาวอมสีม่วงอ่อนคล้ายกับดอกถั่ว กลีบดอกมี 4 กลีบและมีขนาดไม่เท่ากัน สวนกลีบเลี้ยงดอกมีลักษณะเป็นรูปถ้วย สีม่วงแดง

ผลเถาวัลย์เปรียง ออกผลเป็นฝักแบน โคนฝักและปลายฝักมน ฝักเมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลอ่อน ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 1-4 เมล็ด

ภาพจาก : naewna.com

สรรพคุณและประโยชน์ของเถาวัลย์เปรียง

  1. เถาใช้ต้มรับประทานเป็นยาถ่ายกระษัย แก้กระษัย (เถา)
  2. รากมีรสเฝื่อนเมา ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (ราก) ใช้เป็นส่วนประกอบของยาอายุวัฒนะ เพื่อช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง
  3. ตำรับยาไทยใช้รากเป็นยารักษาอาการไข้ (ราก)
  4. ช่วยแก้หวัด แก้ไอ (เถา)
  5. เถาใช้ต้มรับประทานเป็นยาถ่ายเสมหะลงสู่ทวารหนัก แก้เสมหะพิการโดยไม่ทำให้ถ่ายอุจจาระ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคบิด โรคหวัด โรคไอ และใช้ได้ดีในเด็ก (เถา)
  6. ช่วยแก้บิด (เถา)
  7. เถามีรสเฝื่อนเอียน ใช้ต้มรับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะผิดปกติ แก้ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ส่วนรากมีรสเฝื่อนเอียนมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน (เถา, ราก) และยังมีข้อมูลระบุว่าการใช้สมุนไพรชนิดนี้จะทำให้ปัสสาวะได้บ่อยกว่าปกติ จึงอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโตด้วย
  8. เถาใช้ดองกับเหล้าเป็นยาขับระดูของสตรี (เถา)
  9. คนโบราณจะนิยมใช้เถาของเถาวัลย์เปรียงเพื่อเป็นยารักษาอาการตกขาวของสตรี (อาการตกขาวชนิดที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีอาการคัน ไม่เปลี่ยนเป็นสีเขียว) (เถา)
  10. เถามีสรรพคุณในการบีบมดลูก (เถา)
  11. ช่วยขับโลหิตเสียของสตรี ด้วยการใช้เถาวัลย์เปรียงทั้งห้าแบบสด ๆ นำมาต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำที่ได้มาใช้ดื่มต่างน้ำ (ทั้งห้า)
  12. ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ ด้วยการใช้เถาสดนำมาทุบให้ยุ่ย แล้ววางทาบลงบนหน้าท้อง แล้วนำหม้อเกลือที่ร้อนมานาบลงไปบนเถาวัลย์เปรียง จะช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น (เถา)
  13. บางตำรากล่าวว่าเถามีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้มีกำลังดีแข็งแรงสู้ไม่ถอย (เถา)
  14. เถามีรสเฝื่อนเอียน ใช้ต้มรับประทานเป็นยาถ่ายเส้น ทำให้เส้นเอ็นอ่อนและหย่อนดี ช่วยรักษาเส้นเอ็นขอด เส้นเอ็นพิการ แก้อาการปวด ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว ปวดข้อ ข้ออักเสบ ช่วยรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม แก้อาการอักเสบของกล้ามเนื้อ หรือจะใช้เถานำมาหั่นตากแห้ง คั่วชงน้ำกินต่างน้ำชาเป็นยาทำให้เส้นหย่อน แก้อาการเมื่อยขบตามร่างกาย แก้อาการปวดเมื่อย แก้เหน็บชา (เถา)
  15. มีการใช้เถาเพื่อรักษาโรคอัมพฤกษ์และกระดูกหัก โดยการนำเถามาตำให้เป็นผงผสมกับน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันหัวครำ แล้วใช้เป็นยาทานวดบริเวณที่เป็นทุกวันจนหาย (เถา)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : sentangsedtee.com



ปฏิกิริยาของคุณ?