ทิ้งถ่อน สรรพคุณและประโยชน์
ทิ้งถ่อน สรรพคุณและประโยชน์
ต้นทิ้งถ่อน จัดเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงของต้นประมาณ 20-30 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านต่ำและโปร่ง ลำต้นเปลาตรง ทรงพุ่มเป็นเรือนยอด ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนปกคลุมเล็กน้อย ต้นแก่เป็นสีเทาถึงสีน้ำตาล เปลือกต้นมีรอยด่างเป็นสีน้ำตาลกระจาย พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นตามป่าหญ้า ตามป่าโปร่ง


ทิ้งถ่อน สรรพคุณและประโยชน์

ทิ้งถ่อน ชื่อสามัญ White siris, Sit

ทิ้งถ่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Albizia procera (Roxb.) Benth. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)

สมุนไพรทิ้งถ่อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พระยาฉัตรทัน ส่วน (เชียงใหม่, เลย), ถ่อน ถินถ่อน นมหวา นุมหวา ทิ้งถ่อน (ภาคกลาง), ควะ เยกิเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เชอะบ้อง ซะบ้อง แซะบ้อง เซะบ้อง เส่บ้อง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) เป็นต้น

ลักษณะของทิ้งถ่อน

ต้นทิ้งถ่อน จัดเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงของต้นประมาณ 20-30 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านต่ำและโปร่ง ลำต้นเปลาตรง ทรงพุ่มเป็นเรือนยอด ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนปกคลุมเล็กน้อย ต้นแก่เป็นสีเทาถึงสีน้ำตาล เปลือกต้นมีรอยด่างเป็นสีน้ำตาลกระจาย พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นตามป่าหญ้า ตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ และป่าทุ่งตอนลุ่มในภาคกลางทั่วไป หรือในพื้นที่ต่ำน้ำท่วมถึง และยังขึ้นกระจัดกระจายทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางภาคตะวันออก ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้มักจะขึ้นเป็นกลุ่มแบบห่าง ๆ กันบนภูเขาที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500-1,000 เมตร ส่วนในกรุงเทพฯ ก็พบว่ามีปลูกกันบ้างประปราย และในต่างประเทศพบขึ้นทางตอนใต้ของจีน พม่า ลาว และกัมพูชา

ใบทิ้งถ่อน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับกัน ช่อใบย่อยยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร เหนือโคนก้านมีต่อมขนาดปลายก้าน มีต่อมเป็นรูปร่างกลมนูน ก้านใบมีขนปกคลุมเล็กน้อย มีใบย่อยประมาณ 5-12 คู่ ลักษณะของใบเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือเป็นรูปไข่กลีบ หรือรูปขอบขนาน หรือรูปรี ปลายใบมนหรือเว้าเล็กน้อย โคนใบมนหรือเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.75-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-6 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนทั้งสองด้าน บ้างว่าหลังเรียบ ส่วนท้องใบมีขนสั้นปกคลุม ส่วนก้านใบย่อยยาวประมาณ 0.5-1 มิลลิเมตร

ดอกทิ้งถ่อน ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง โดยช่อดอกจะเกิดเป็นกลุ่มบนก้านช่อรวม กลุ่มละประมาณ 2-5 ช่อ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ในแต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อยประมาณ 15-25 ดอก ดอกย่อยไม่มีก้านดอก หรือมีแต่สั้นมาก ดอกเป็นสีขาวมีกลีบดอก 5 กลีบ เกสรขาวแกมสีเหลืองอ่อน ติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ผิวเรียบ ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีลักษณะเป็นรูปไข่ปลายแหลม ยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ปลายกลีบดอกมีขนเล็ก ๆ ดอกมีเพศผู้จำนวนมาก โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอดล้อมรอบเกสรเพศเมีย หลอดยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ก้านชูอับเรณูเป็นสีเหลืองอ่อน ปลายก้านเป็นสีเขียวอ่อน ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร อับเรณูมีสีขาวแกม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบติดกันเป็นรูปถ้วยยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร สีเขียวผิวเรียบขอบถ้วยแยกเป็นแฉก 5 แฉก ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมยาวประมาณ 0.8-1 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นสีขาว

ผลทิ้งถ่อน ออกผลเป็นฝักแบน มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ฝักเมื่อแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 6-12 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาล มีลักษณะแบนรี มีขนาดกว้างประมาณ 4 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร

ภาพจาก : herb.in.th

สรรพคุณและประโยชน์ของทิ้งถ่อน

  1. เปลือกต้นใช้ต้มกับรากมะตูม เป็นยาอายุวัฒนะ (เปลือกต้น)
  2. แก่นใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (แก่น)
  3. เปลือกต้นมีรสฝาดร้อน ช่วยแก้ลมในกองธาตุ แก้ลมป่วง (เปลือกต้น)
  4. ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้ธาตุพิการ (เปลือกต้น)
  5. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้กษัย แก้ลมกษัย (ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัด) (เปลือกต้น)
  6. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกต้น)
  7. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้หืดไอ (เปลือกต้น)
  8. เปลือกต้นใช้ต้มกับรากมะตูม มีสรรพคุณแก้อาเจียน (เปลือกต้น)
  9. ช่วยในการขับผายลม แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (เปลือกต้น) หรือจะใช้รากและแก่นต้มกับน้ำดื่มแก้อาการท้องอืดก็ได้เช่นกัน (รากและแก่น) ส่วนผลก็เป็นยาขับลม แก้อาการท้องขึ้นอืดเฟ้อเช่นกัน (ผล)
  10. เปลือกต้นใช้ต้มกับรากมะตูมเป็นยาแก้ท้องร่วง (เปลือกต้น)
  11. ช่วยแก้บิดมูกเลือด (เปลือกต้น)
  12. แก่นใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (แก่น)
  13. ช่วยแก้ระดูขาวของสตรี (ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัด) (เปลือกต้น)
  14. รากใช้เป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย (ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัด) (ราก)
  15. เปลือกใช้ภายนอกเป็นยาห้ามเลือด ใช้ชะล้างบาดแผลและช่วยสมานแผล (เปลือกต้น) ช่วยแก้แผลเน่าเปื่อยเรื้อรังและใช้ทาฝี (ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัด) (เปลือกต้น)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : nanagarden



ปฏิกิริยาของคุณ?