เทียนบ้าน สรรพคุณและประโยชน์
เทียนบ้าน สรรพคุณและประโยชน์
ต้นเทียนบ้าน หรือ ต้นเทียนดอก มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและแอฟริกา โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุราว 1 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 20-70 เซนติเมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านใกล้กับโคนต้น ข้อกลวง ต้นใหญ่ เป็นรูปกลมทรงกระบอก ลำต้นมีลักษณะกลมเป็นสีเขียวอ่อนอมสีแดง


เทียนบ้าน สรรพคุณและประโยชน์

เทียนบ้าน ชื่อสามัญ Garden balsam

เทียนบ้าน ชื่อวิทยาศาสตร์ Impatiens balsamina L. จัดอยู่ในวงศ์เทียนดอก (BALSAMINACEAE)

สมุนไพรเทียนบ้าน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เทียนดอก เทียนสวน เทียนไทย เทียนขาว เทียน (ภาคกลาง), จึงกะฮวย จี๋กะเช่า เซียวก่ออั้ง ห่งเซียง (จีน), จือเจี่ยฮวา จี๋ซิ่งจื่อ เฟิ่งเซียนฮวา ฝู่เฟิ่งเซียนฮวาจื่อ เป็นต้น

ลักษณะของเทียนบ้าน

ต้นเทียนบ้าน หรือ ต้นเทียนดอก มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและแอฟริกา โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุราว 1 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 20-70 เซนติเมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านใกล้กับโคนต้น ข้อกลวง ต้นใหญ่ เป็นรูปกลมทรงกระบอก ลำต้นมีลักษณะกลมเป็นสีเขียวอ่อนอมสีแดง อวบน้ำ มีเนื้อนิ่ม ผิวเรียบ เนื้อใส โคนต้นเป็นสีแดง พรรณไม้ชนิดนี้มีการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำ ปลูกได้ง่าย โตเร็ว เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่มีธาตุอาหารสมบูรณ์ ชอบแสงแดดอ่อน ๆ จึงควรปลูกในที่ร่มรำไร

ใบเทียนบ้าน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบต้น ใบมีลักษณะเป็นรูปรีกว้าง ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบจักเป็นซี่ฟันตลอดทั้งขอบใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้มกว่าลำต้น หลังใบและท้องใบเรียบ บ้างว่าผิวของเนื้อใบสากและหยาบ

ดอกเทียนบ้าน ออกดอกเป็นช่อประมาณ 2-3 ดอก หรือออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามซอกใบ ดอกจะมีหลายสีแล้วแต่สายพันธุ์ เช่น สีชมพู สีแดง สีม่วง สีขาว หรืออาจเป็นสีผสมก็ได้ (แต่นิยมนำดอกขาวมาใช้ทำยา) ดอกมีกลีบดอกประมาณ 4-5 กลีบ กลีบดอกอาจซ้อนกันหรือไม่ซ้อนกันก็ได้ และแต่ละกลีบมีขนาดไม่เท่ากัน ปลายของกลีบดอกหยักเว้าเป็นลอน ส่วนกลีบรองดอกมีลักษณะเป็นรูปถ้วยปากบานออก มีงวงน้ำหวานยาว ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้านเกิดติดกันอยู่รอบ ๆ รังไข่ โดยรังไข่แบ่งออกเป็น 5 ห้อง ปลายรังไข่มี 5 รอยแยก ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบเป็นสีเขียว ออกดอกได้ตลอดทั้งปีและมีสีสดสวย

ผลเทียนบ้าน ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรี ผิวผลมีขนยาวสีขาวปกคลุม ผลเป็นกระเปาะมีรอยแยกแบ่งเป็น 5 กลีบ ผลมีก้านยาวมองเห็นได้ชัดเจน เป็นสีเขียว เมื่อแก่เต็มที่แล้วจะแตกออกตามยาว เปลือกจะบิดม้วนขมวดและดีดเมล็ดออกมา ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้มถึงดำ มีรอยกระอยู่หลายเมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมหรือเป็นรูปไข่แบน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร

ภาพจาก : baanlaesuan.com

สรรพคุณและประโยชน์ของเทียนบ้าน

  1. รากมีรสขมเผ็ด มีพิษเล็กน้อย ใช้กระจายเลือด ขับลมชื้นในร่างกาย (ราก) ส่วนเมล็ดมีพิษ ช่วยกระจายเลือด (เมล็ด) ลำต้นช่วยทำให้เลือดเดินสะดวก (ลำต้น)
  2. ดอกเป็นยาเย็น ใช้บำรุงร่างกาย (ดอก)
  3. เมล็ด ใบ ดอก ทั้งต้นใช้เป็นยาฟอกเลือด (เมล็ด, ใบ, ดอก, ทั้งต้น)บ้างว่ารากก็มีสรรพคุณเป็นยาฟอกเลือดเช่นกัน (ราก)
  4. ใช้แก้จมูกอักเสบ บวมแดง ด้วยการใช้ยอดสดนำมาตำผสมกับน้ำตาลทรายแดง แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น เปลี่ยนเช้าและเย็น (ยอดสด)
  5. ลำต้นนำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำดื่มหรือกลืน เพื่อแก้ก้างปลาหรือกระดูกติดคอ (ต้น) ส่วนเมล็ดก็ช่วยแก้ก้างติดคอเช่นกัน โดยใช้เมล็ดสดนำมาตำแล้วกลืนลงไป หรือถ้าไม่มีเมล็ดก็ให้ใช้รากสดนำมาเคี้ยวให้ละเอียดแล้วกลืนลงไปช้า ๆ แล้วใช้น้ำอุ่นอมบ้วนปากเพื่อป้องกันฟันเสีย (เนื่องจากยานี้ละลายกระดูกและฟันได้) (เมล็ด, ราก)
  6. ช่วยทำให้อาเจียน (ลำต้น)
  7. เมล็ดเป็นยาขับเสมหะข้น (เมล็ด)
  8. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ฝีบริเวณต่อมทอนซิล (ทั้งต้น)
  9. ใช้แก้คอเป็นเม็ดเดี่ยวหรือเม็ดคู่ โดยใช้เมล็ดนำมาบดเป็นผง ใช้กระดาษม้วนเป่าเข้าไป ให้อมไว้วันละ 2-3 ครั้ง (เมล็ด)
  10. ทั้งต้นมีรสเผ็ดขม เป็นยาร้อนเล็กน้อย ใช้เป็นยาขับลม (ทั้งต้น, ลำต้น) ใบและดอกเป็นยาสลายลม (ใบ, ดอก)
  11. ใบเป็นยาแก้บิด มูกเลือด (ใบ)
  12. ลำต้นเป็นยาขับปัสสาวะ (ลำต้น)
  13. ดอกเป็นยาแก้อาการปวดก่อนมีประจำเดือน (ดอก)
  14. เมล็ดใช้เป็นยาขับเลือด ขับประจำเดือนของสตรี แก้ประจำเดือนไม่มา และใช้เป็นยากระจายเลือด โดยใช้เมล็ดแห้งของต้นเทียนบ้านชนิดดอกขาว 60 กรัม นำมาบดเป็นผงรวมกับตังกุย 10 กรัม และผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาเม็ด ใช้รับประทานหลังอาหารครั้งละ 3 กรัม (หรืออาจผสมกับตังกุย 10 กรัม ด้วยก็ได้) วันละ 3 เวลา (เมล็ด)
  15. สำหรับสตรีที่คลอดบุตรยาก ให้ใช้เมล็ดเทียนบ้าน 6 กรัม นำมาบดเป็นผงกินกับน้ำ แต่ต้องระวังอย่าให้ถูกฟัน (เมล็ด)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : blogspot



ปฏิกิริยาของคุณ?