มุมมอง
โทงเทงฝรั่ง สรรพคุณและประโยชน์
โทงเทงฝรั่ง ชื่อสามัญ Hogweed, Ground cherry
โทงเทงฝรั่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Physalis angulata L., Physalis pubescens L. Var (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Physalis esquirolii H. Léveillé & Vaniot.) จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)
สมุนไพรโทงเทงฝรั่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ต้อมต๊อก บาตอมต๊อก บาต้อมต๊อก (เชียงใหม่), ปิงเป้ง (หนองคาย), ปุงปิง (ปัตตานี), ชาผ่อเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), จะเก๊าหลือ (ม้ง), ตะเงหลั่งเช้า (จีน), ขู่จี๋ หวงกูเหนียง (จีนกลาง), โคมจีน เป็นต้น
หมายเหตุ : โทงเทงชนิดนี้บางตำราก็เรียกว่า "โทงเทงบก" เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นโทงเทงไทยที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Physalis minima L. (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ โทงเทงไทย) ซึ่งชนิดนี้จะมีขนาดของต้น ใบ และผลที่เล็กกว่าต้นโทงเทงฝรั่ง
ลักษณะของโทงเทงฝรั่ง
ต้นโทงเทงฝรั่ง มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบขึ้นเป็นวัชพืชทั่วโลก โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 30-100 เมตร ลำต้นแตกกิ่งจำนวนมากจนเป็นพุ่ม กิ่งเป็นเหลี่ยม ตามข้อมีขนเล็กน้อย ลำต้นอวบน้ำเปลือกเกลี้ยงเป็นสีเขียว ส่วนโคนของลำต้นเป็นสีม่วงแดงและค่อย ๆ จางไปถึงปลายยอด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ในประเทศไทยพบพรรณไม้ชนิดนี้ได้มากทางภาคเหนือ บริเวณป่าเปิดและที่ชุ่มชื้นทั่วไป ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร
ใบโทงเทงฝรั่ง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ หรือเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือแหลมยาว โคนใบเป็นรูปลิ่มหรือมน แต่บางครั้งเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นหยักซี่ฟันห่าง ๆ และบางครั้งก็ดูคล้ายเป็นพูตื้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียว ท้องใบมีขน มีเส้นแขนงใบประมาณ 5-7 คู่ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร
ดอกโทงเทงฝรั่ง ออกดอกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ก้านดอกมีความยาวได้ประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงดอกยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร แฉกลึกประมาณกึ่งหนึ่ง มีขนกระจาย มีเส้นกลีบเป็นสีเข้ม ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นรูประฆังบานคล้ายรูปกงล้อ เป็นสีเหลืองอ่อน เหลืองอ่อนแกมเขียว หรือเป็นสีขาว มีจุดสีน้ำตาลเรียงเป็นวงใกล้กับโคนกลีบดอกด้านใน ผิวกลีบมีขนกระจายด้านนอก ส่วนด้านในมีขนยาวที่โคน หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 4-8 มิลลิเมตร ปลายเป็นแฉกตื้น ๆ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ก้านเกสรเพศผู้หนาเป็นสีน้ำตาลอมสีเขียวยาวเท่ากัน ยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ส่วนอับเรณูเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร เรณูเป็นสีเทา ส่วนรังไข่เป็นรีกลม ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร และก้านเกสรเพศเมียยาวเท่ากับก้านเกสรเพศผู้หรืออาจยาวกว่าเล็กน้อย ยอดเกสรเป็นตุ่ม ๆ หยักเป็นพู 2 พูสีเขียว โดยจะออกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม
ผลโทงเทงฝรั่ง ผลมีกลีบเลี้ยงที่ขยายหุ้มจนมิดผล มีลักษณะบาง มีสัน 10 สัน ตรงสันมีเส้นสีม่วงตามยาว ผิวเป็นเส้นแบบร่างแห ลักษณะของผลภายในเป็นรูปรีเกือบกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผลอ่อนกลมใสเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ส่วนเมล็ดมีลักษณะกลมแบน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.2-0.3 มิลลิเมตร เมล็ดมีเมือกหุ้มคล้ายกับมะเขือเทศจำนวนมาก โดยจะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม
สรรพคุณและประโยชน์ของโทงเทงฝรั่ง
- ทั้งต้นมีรสขม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ และทางเดินปัสสาวะ ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (ทั้งต้น)
- รากใช้ต้มกับน้ำรับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เป็นยารักษาโรคเบาหวาน (ราก)
- ต้นตลอดจนถึงรากเป็นยาแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ทั้งต้น)
- ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ไอ (ทั้งต้น)
- ใช้แก้หวัดแดด ไอร้อนในปอด (ทั้งต้น)
- ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรคหอบหืด ด้วยการใช้ทั้งต้นแห้ง 1/2 กิโลกรัมนำมาต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลกรวดลงไปเพิ่มความหวานเล็กน้อย โดยให้รับประทานหลังอาหารครั้งละ 1/4 ถ้วยแก้ว วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 10 วัน และให้หยุดยา 3 วัน หลังจากนั้นให้รับประทานต่อไปอีก 10 วัน แล้วก็พักอีก 3 วัน แล้วค่อยรับประทานต่อไปอีก 10 วัน อาการของหอบหืดจะดีขึ้น (ทั้งต้น)
- ทั้งต้นช่วยรักษาไอหืดเรื้อรัง (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการเจ็บคอ ด้วยการใช้โทงเทง 25 กรัม นำมาต้มกับน้ำ ใช้เป็นยาอมกลั้วคอบ้วนปาก (ทั้งต้น)
- ใช้แก้อาการปวดศีรษะ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ใช้ฝนหยอดตา แก้ตาแฉะ แก้ปวดเคืองในลูกตา แก้ตาอักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ใช้รักษาคางทูม (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้เหงือกบวม ด้วยการใช้โทงเทง 25 กรัม นำมาต้มกับน้ำ ใช้เป็นยาอมกลั้วคอบ้วนปาก (ทั้งต้น)
- ใช้เป็นยารักษาแผลในปาก ด้วยการใช้เยื่อหุ้มผลแห้งที่เอาเมล็ดออกแล้วหนัก 10 กรัม และเปลือกส้ม 6 กรัม นำมาต้มกับน้ำผสมน้ำตาลกรวดให้พอหวานเล็กน้อย แล้วใช้ดื่มต่างน้ำ (เยื่อหุ้มผลแห้งที่เอาเมล็ดออกแล้ว)
- ใช้แก้คออักเสบ แก้ต่อมน้ำลายอักเสบ หรือต่อมทอนซิลอักเสบ ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำละลายกับเหล้า ใช้สำลีชุมน้ำยาอมไว้ข้างแก้ม แล้วกลืนน้ำผ่านลำคอทีละน้อย จะช่วยแก้ต่อมน้ำลายอักเสบ หรือจะละลายกับน้ำส้มสายชูก็ได้ จะช่วยแก้อาการอักเสบในลำคอได้ดีมาก (ทั้งต้น)
- ช่วยรักษาโรคคอตีบ (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้ฝีในคอ ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำละลายกับเหล้า ใช้สำลีชุบน้ำอมไว้ข้างแก้ม แล้วค่อย ๆ กลืนน้ำผ่านลำคอทีละน้อย (ทั้งต้น)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : farmerspace