น้ำเต้า สรรพคุณและประโยชน์
น้ำเต้า สรรพคุณและประโยชน์
ต้นน้ำเต้า มีถิ่นกำเนิดทางทวีปแอฟริกาตอนใต้ โดยจัดเป็นไม้เถาล้มลุกอายุปีเดียวหรืออาจข้ามปี เลื้อยตามพื้นดินหรือไต่พันกับต้นไม้อื่น ลำต้นแข็งแรง ลำต้นมีมือสำหรับใช้ยึดเกาะต้นไม้อื่น ๆ ตามเถามีขนยาวสีขาว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ชอบดินร่วนระบายน้ำได้ดี สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย


น้ำเต้า สรรพคุณและประโยชน์

น้ำเต้า ชื่อสามัญ Bottle gourd, Calabash gourd, Flowered gourd, White flowered gourd

น้ำเต้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Lagenaria siceraria (Molina) Standl. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lagenaria leucantha Rusby, Lagenaria vulgaris Ser.) จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)

สมุนไพรน้ำเต้า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะน้ำเต้า (ภาคเหนือ), คิลูส่า คูลูส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ลุ้นออก แผละลุนอ้อก (ลั้วะ), Dudhi Lauki (อินเดีย), หมากน้ำ, น้ำโต่น เป็นต้น

ลักษณะของต้นน้ำเต้า

ต้นน้ำเต้า มีถิ่นกำเนิดทางทวีปแอฟริกาตอนใต้ โดยจัดเป็นไม้เถาล้มลุกอายุปีเดียวหรืออาจข้ามปี เลื้อยตามพื้นดินหรือไต่พันกับต้นไม้อื่น ลำต้นแข็งแรง ลำต้นมีมือสำหรับใช้ยึดเกาะต้นไม้อื่น ๆ ตามเถามีขนยาวสีขาว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ชอบดินร่วนระบายน้ำได้ดี สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย น้ำเต้านั้นมีอยู่หลายสายพันธุ์ เช่น น้ำเต้าที่ลักษณะเป็นน้ำเต้าทรงเซียน ชนิดนี้นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับ เราจะเรียกว่า "น้ำเต้าพื้นบ้าน" หรืออีกชนิดมีลักษณะของผลคล้ายกับน้ำเต้าพื้นบ้าน แต่เนื้อ ต้น และใบมีรสขม ก็จะเรียกว่า "น้ำเต้าขม" (ชนิดนี้หาได้ยากและนำมาใช้ทำเป็นยาเท่านั้น) แต่ถ้าผลมีลักษณะกลมเกลี้ยงไม่มีคอขวดจะเรียกว่า "น้ำเต้า" หรือหากผลกลมยาวเหมือนงาช้างจะเรียกว่า "น้ำเต้างาช้าง" เป็นต้น

ใบน้ำเต้า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปห้าเหลี่ยม ขอบใบหยักเว้าเป็นแฉก 5-7 แฉก โคนใบเว้าเข้าถึงเส้นกลางใบ เส้นใบด้านล่างนูนเด่นชัด ใบมีขนตลอดทั้งใบและก้านใบ ก้านใบยาวประมาณ 5-30 เซนติเมตร มีต่อมเทียม 2 ต่อม ซึ่งอยู่ตรงรอยต่อระหว่างก้านใบกับแผ่นใบ

ดอกน้ำเต้า ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกเป็นสีขาว โดยดอกเพศผู้ (รูปที่ 2) ก้านดอกจะยาวประมาณ 5-25 เซนติเมตร มีกลีบรองดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกเป็นสีขาวมี 5 กลีบไม่ติดกัน ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร กลีบดอกมีขน มีลักษณะบางและย่น มีเกสร 3 ก้าน ก้านเกสรไม่ติดกัน อับเรณูเป็นสีขาวอยู่ชิดกัน ส่วนดอกเพศเมีย (รูปที่ 3) มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับดอกเพศผู้ แต่ต่างกันที่จะมีผลเล็ก ๆ ติดอยู่ที่โคนดอก โดยก้านดอกจะสั้นและแข็งแรง ยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร และก้านจะยาวขึ้นเมื่อรังไข่เจริญเติบโตไปเป็นผล ดอกไม่มีเกสรเพศผู้เทียม มีรังไข่ยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร มีขนสีขาว ท่อรังไข่สั้น ปลายแยกเป็นแฉกหนา ๆ 3 แฉก

ผลน้ำเต้า หรือ ลูกน้ำเต้า ผลน้ำเต้ามีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์ เช่น ทรงกลม ทรงกลมซ้อน ทรงกลมหัวจุก ทรงยาว ทรงแบน เป็นรูปกระบอง หรือเป็นรูปขวด มีความยาวตั้งแต่ 10-100 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปแล้วผลจะมีลักษณะกลมโต มีขนาดประมาณ 15-20 เซนติเมตร คอดกิ่วบริเวณยอด โคนขั้วคอดคดงอหรือขดเป็นวงผิวผลเกลี้ยง เรียบ และเนียน เปลือกผลแข็งและทนทาน ผลอ่อนเป็นสีเขียว ก้านผลยาว ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก วางตัวแนวรัศมี เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปทรงแบนป้านคล้ายเล็บมือ ส่วนปลายมีติ่งยื่น 2 ข้าง เป็นสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน และมีแถบสีน้ำตาลเข้มพาดตามยาวของเมล็ด

ภาพจาก : premiumseedshop.com

สรรพคุณและประโยชน์ของน้ำเต้า

  1. ชาวอินเดียจะใช้ผลของน้ำเต้าในการประกอบอาหารให้ผู้ป่วยเบาหวานและผู้เป็นโรคความดันโลหิตรับประทาน และในประเทศจีนและอินเดียจะมีการรับประทานน้ำเต้าเพื่อควบคุมเบาหวาน (ผล)
  2. รากช่วยทำให้เจริญอาหาร แต่ในประเทศจีนจะใช้เมล็ดนำไปต้มกับเกลือรับประทานเป็นยาเจริญอาหาร (ราก, เมล็ด, ทั้งต้น)
  3. น้ำเต้าเป็นยาเย็นและชื้น มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและผู้ชราภาพ (ผล)
  4. น้ำเต้าช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งปอด (ผล)
  5. ใบมี ผลอ่อน และเนื้อในผล ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ, ผลอ่อน, เนื้อในผล)
  6. น้ำมันจากเมล็ดใช้ทาศีรษะจะช่วยแก้อาการทางประสาทบางชนิดได้ (น้ำมันจากเมล็ด)
  7. เมล็ดช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (เมล็ด)
  8. ใบมีรสเย็น ช่วยดับพิษ เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน (ใบ)
  9. ช่วยแก้อาการไอ (เนื้อในผล)
  10. ช่วยแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ (ใบ, ทั้งต้น)
  11. น้ำมันจากเมล็ดนำมากินจะช่วยทำให้อาเจียน (น้ำมันจากเมล็ด) ส่วนผลหากรับประทานมาก ๆ ก็ทำให้อาเจียนได้เช่นกัน (ผล)
  12. เปลือกผลใช้ผสมหัวทารกเพื่อใช้ลดอาการไข้ (เปลือกผล)
  13. ผลหรือโคนขั้วผลนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้องที่เกิดจากไข้ (ผล, โคนขั้วผล)
  14. ใช้รักษาโรคทางลำคอ ด้วยการใช้ลูกน้ำเต้าแก่ นำมาตัดจุก แล้วใส่น้ำไว้รับประทานเป็นประจำจะช่วยป้องกันและรักษาโรคทางลำคอได้ (ผล)
  15. ช่วยรักษาโรคปวดอักเสบ ด้วยการใช้ส่วนที่เป็นเปลือกสดนำมารับประทาน (เปลือกผล)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : premiumseedshop



ปฏิกิริยาของคุณ?