บานไม่รู้โรยดอกขาว สรรพคุณและประโยชน์
บานไม่รู้โรยดอกขาว สรรพคุณและประโยชน์
ต้นบานไม่รู้โรย เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ บ้างก็ว่ามีถิ่นกำเนิดในเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกา โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุประมาณ 1 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 50 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านบริเวณยอดต้น กิ่งก้านเป็นเหลี่ยมและมีร่อง


บานไม่รู้โรยดอกขาว สรรพคุณและประโยชน์

บานไม่รู้โรย ชื่อสามัญ Bachelor's button, Button agaga, Everlasting, Gomphrena, Globe amaranth, Pearly everlasting

บานไม่รู้โรย ชื่อวิทยาศาสตร์ Gomphrena globosa L. จัดอยู่ในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE)

บานไม่รู้โรยดอกขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สามปีบ่เหี่ยว (ขอนแก่น), กะล่อม ตะล่อม (ภาคเหนือ), ดอกสามเดือน สามเดือนดอกขาว กุนนีดอกขาว กุนหยินขาว กุนหยี (ภาคใต้), โขยหยิกแป๊ะ (จีน) เป็นต้น

ลักษณะของบานไม่รู้โรย

ต้นบานไม่รู้โรย เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ บ้างก็ว่ามีถิ่นกำเนิดในเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกา โดยจัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุประมาณ 1 ปี มีความสูงของต้นประมาณ 50 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านบริเวณยอดต้น กิ่งก้านเป็นเหลี่ยมและมีร่อง ลำต้นอ่อนมีขนสีขาวปกคลุม ตามข้อต้นพองออกเล็กน้อย ข้อต้นเป็นสีแดง แต่บางต้นข้อต้นก็เป็นสีเขียว นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด แม้เมล็ดที่ร่วงหล่นลงใต้ต้นก็ยังสามารถนำไปปลูกเป็นต้นใหม่ได้โดยไม่ต้องเพาะ โดยให้ปลูกไว้กลางแจ้งที่ได้รับแสงแดดแบบเต็มที่ และสามารถปลูกในดินชนิดใดก็ได้ แต่ควรเติมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยผสมลงไปในดินก่อนปลูก ส่วนการรดน้ำก็ให้รดตามความจำเป็น เพราะพรรณไม้ชนิดนี้จะทนแล้งได้ดีกว่าแฉะ จึงไม่จำเป็นต้องรดน้ำทุกวันจนน้ำท่วมขัง เพราะจะทำให้ต้นเน่าตายได้ โดยสายพันธุ์ที่นิยมใช้ปลูกมีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ Tall Mixture (เป็นพันธุ์ต้นสูง มีความสูงของพุ่มประมาณ 18 นิ้ว มีทั้งสีขาวและสีแดงอมม่วง) และพันธุ์ Buddy (พุ่มสูงเพียง 9 นิ้ว ดอกเป็นสีแดงอมม่วง เหมาะที่จะนำมาปลูกเป็นกลุ่มก้อนเพื่อประดับอาคารหรือปลูกเป็นพืชคลุมดิน)

ใบบานไม่รู้โรย ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบมีขนสีขาว เนื้อใบมีลักษณะนิ่ม ก้านใบสั้น ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และมีขนสีขาว

ดอกบานไม่รู้โรย ออกดอกเป็นกระจุกทรงกลมบริเวณปลายกิ่ง มีดอกย่อยอัดกันแน่น แต่ละช่อดอกจะมีดอกย่อยประมาณ 2-3 ดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปทรงกลมขนาดเท่าผลพุทรา ดอกเป็นสีขาว สีแดงแก่ สีม่วง หรือสีชมพูอ่อน (แต่จะใช้ดอกขาวมาเป็นยา เพราะสีขาวเป็นสีที่บริสุทธิ์ เมื่อนำมาทำยาแล้วจะไม่มีสีอะไรมาเจือปน) มีลักษณะแข็ง กลีบดอกมีขนาดเล็กเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ทั้งดอก ปลายกลีบแหลมคล้ายขนแข็ง ๆ และมีใบประดับหรือกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว มีอยู่ด้วยกัน 2 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร อีกทั้งกลีบดอกยังไม่หลุดร่วงได้ง่าย แม้ว่าดอกจะแก่หรือแห้งแล้วก็ตาม จึงเป็นที่มาของชื่อ "บานไม่รู้โรย"

ผลบานไม่รู้โรย ผลเป็นผลแห้ง เป็นกระเปาะ ลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน มีขนาดประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลอ่อน เมล็ดมีลักษณะแบนหรือเป็นรูปไข่

ภาพจาก : bloggang.com

สรรพคุณและประโยชน์ของบานไม่รู้โรย

  1. ทั้งต้นและรากมีรสเย็นขื่น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กษัย (ทั้งต้นและราก)
  2. ดอกและต้นมีรสหวาน ขื่น ชุ่ม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ ใช้เป็นยาแก้ตับร้อนหรือธาตุไฟเข้าตับ ช่วยแก้ตาเจ็บ ตามัว อันเนื่องจากธาตุไฟเข้าตับ (ต้น, ดอก)
  3. ใช้แก้เด็กตัวร้อนตาเจ็บ ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 10-14 ดอกนำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ผสมกับฟักเชื่อมแห้ง นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยา (ดอก)
  4. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ แก้ลมขึ้นศีรษะ ทำให้เวียนศีรษะ ด้วยการใช้ดอก 10 กรัมและหญ้าแซ่ม้า 20 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก)
  5. ใช้แก้เด็กเป็นโรคลมชัก ด้วยการใช้ดอก 10 ดอกผสมกับตั๊กแตนแห้ง 7 ตัว (Oxya chinensis thumb.) นำมาตุ๋นเป็นยารับประทาน (ดอก)
  6. ช่วยแก้อาการไอ (ทั้งต้นและราก, ดอก) แก้อาการไอเป็นเลือด เลือดออกตามทวารทั้งเก้า (ดอกและต้น, ทั้งห้าส่วน),แก้ไอกรน (ดอก)
  7. ใช้แก้หืดหอบ ไอหืด ไอหอบ หลอดลมอักเสบ ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 10-15 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ดอก 10 ดอกนำมาต้มผสมกับเหล้าเล็กน้อย ใช้ดื่มวันละ 3 ครั้ง หรือให้ใช้สารที่สกัดได้จากดอกทำเป็นยาฉีด โดยใช้ครั้งละ 0.3 ซีซี ถ้าหากมีเสมหะมากให้เพิ่มปริมาณได้อีกตามที่แพทย์สั่ง (ดอก
  8. ช่วยขับเสมหะ (ดอก)
  9. ช่วยรักษาโรควัณโรคในปอด (ดอก)
  10. ช่วยรักษาโรคบิด (ทั้งต้นและราก, ดอก) ช่วยแก้บิดมูก ให้ใช้ดอก 10 ดอกนำมาต้มกับน้ำผสมกับเหล้าเล็กน้อย ใช้ดื่มเป็นยา (ดอก)
  11. ทั้งต้นและรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ ขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ (ทั้งต้นและราก, ดอก)
  12. ช่วยแก้ปัสสาวะขัด ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ด้วยการใช้ดอก 10 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทานบ่อย ๆ (ดอก)
  13. ทั้งต้นและรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กามโรค แก้หนองใน (ทั้งต้นและราก)
  14. ทั้งต้นและรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้มุตกิดหรือตกขาว ช่วยขับระดูขาวของสตรี ช่วยขับระดูขาวให้แห้ง (ทั้งต้นและราก)
  15. ดอกใช้เป็นยาบำรุงตับ (ดอก)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : rooleuk



ปฏิกิริยาของคุณ?