ข้าวเย็นเหนือ สรรพคุณและประโยชน์
ข้าวเย็นเหนือ สรรพคุณและประโยชน์
ต้นข้าวเย็นเหนือ มักพบขึ้นตามป่าดงดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง พบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีใช้หัวฝังดิน เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนชุ่มชื้น ระบายน้ำได้ดีและมีอินทรียวัตถุ และเป็นไม้ที่เลี้ยงยากและหาดูได้ยาก โดยจัดเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง


ข้าวเย็นเหนือ สรรพคุณและประโยชน์

ข้าวเย็นเหนือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Smilax corbularia Kunth (และยังมีข้าวเย็นเหนืออีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Smilax china L.) โดยจัดอยู่ในวงศ์ข้าวเย็นเหนือ (SMILACACEAE) เช่นเดียวกับข้าวเย็นใต้

สมุนไพรข้าวเย็นเหนือ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ข้าวเย็นโคกแดง ค้อนกระแต หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นวอก ยาหัวข้อ (อุบลราชธานี), หัวยาข้าวเย็น หัวข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นวอก (ภาคเหนือ), หัวยาจีนปักษ์เหนือ (ภาคใต้), เสี้ยมโค่ฮก เสี้ยมโถ่ฮก (จีนแต้จิ๋ว), ควงเถียวป๋าเชี๋ย (จีนกลาง) เป็นต้น

จากหนังสือสารานุกรมสมุนไพรของอาจารย์วุฒิ วุฒิธรรมเวช ได้ระบุว่า ข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้มีสรรพคุณที่เหมือนกัน และนิยมนำมาใช้คู่กัน โดยจะเรียกว่า "ข้าวเย็นทั้งสอง"

ลักษณะของข้าวเย็นเหนือ

ต้นข้าวเย็นเหนือ มักพบขึ้นตามป่าดงดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง พบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีใช้หัวฝังดิน เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนชุ่มชื้น ระบายน้ำได้ดีและมีอินทรียวัตถุ และเป็นไม้ที่เลี้ยงยากและหาดูได้ยาก โดยจัดเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่นหรือเลื้อยไปตามพื้นดิน อาจเลื้อยได้ยาวถึง 5 เมตร ลำต้นมีลักษณะกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เถามีหนามแหลมโดยรอบกระจายอยู่ห่าง ๆ ที่โคนใบยอดอ่อนมีมือเป็นเส้น 2 เส้นไว้สำหรับจับยึด และมีหัวเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินและมีรากแตกอยู่ใต้ดินมาก หัวมีลักษณะกลมยาวเป็นท่อน ๆ ท่อนละประมาณ 5-15 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-5 เซนติเมตร รากที่เจาะลึกลงใต้ดินจะมีความยาวสูงสุดเกือบ 1 เมตร เนื้อไม้แข็ง ผิวแดงและขรุขระ ส่วนเนื้อในเหง้าเป็นสีเหลืองอ่อน เมื่อแก่เต็มที่จะเป็นสีแดงน้ำตาลอ่อน เนื้อละเอียด มีรสมัน (ถ้าเหง้าหรือหัวมีเนื้อสีขาวจะเรียกว่า "ข้าวเย็นใต้")

ใบข้าวเย็นเหนือ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรียาว รูปรีแกมรูปใบหอกหรือรูปกลมรี ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-18 เซนติเมตร หน้าใบเป็นสีเขียว ส่วนหลังใบมีขนสีขาวปกคลุม ใบมีเส้นใบหลักประมาณ 5-7 เส้น มีเส้นกลาง 3 เส้นที่เด่นชัดกว่าเส้นที่เหลือด้านข้าง เชื่อมกับเหนือโคนใบ 3-5 มิลลิเมตร แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ใบอ่อนจะค่อนข้างป้อม ก้านใบยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ส่วนมือจับยาวได้ถึง 12 เซนติเมตร

ดอกข้าวเย็นเหนือ ออกดอกตามซอกใบที่โคนต้นหรือกลางต้น ลักษณะของช่อดอกเป็นแบบช่อซี่ร่ม มีประมาณ 1-3 ช่อดอก ดอกมีขนาดเล็ก ก้านช่อดอกสั้น ยาวประมาณ 1-1.7 เซนติเมตร ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น (บ้างว่าอยู่กันคนละช่อแต่อยู่บนต้นเดียวกัน) ดอกมีใบประดับย่อยลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง ดอกเป็นสีเขียวปนขาว มีกลีบรวม 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปรีหรือเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน กลีบวงในมักแคบกว่ากลีบวงนอก ช่อดอกเพศผู้มีดอกประมาณ 20-40 ดอกต่อหนึ่งช่อ มีเกสรเพศผู้จำนวน 6 ก้าน อับเรณูเป็นรูปขอบขนาน ส่วนช่อดอกเพศเมียมีดอกประมาณ 15-30 ดอกต่อหนึ่งช่อ รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปรี ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มี 3 ช่อง ในแต่ละช่องมีออวุลประมาณ 1-2 เมล็ด มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 3 ก้าน ลักษณะเป็นรูปคล้ายเข็ม โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม

ผลข้าวเย็นเหนือ ออกผลเป็นกระจุกชิดกันแน่นคล้ายทรงกลม ผลมีลักษณะกลม เป็นผลแบบมีเนื้อ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-0.6 เซนติเมตร เวลาสุกจะเป็นสีม่วงดำ ผิวของผลจะมีผงแป้งสีขาวปกคลุม ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด โดยจะออกผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม

ภาพจาก : sites.google.com

สรรพคุณและประโยชน์ของข้าวเย็นเหนือ

  1. ตำรายาพื้นบ้านมุกดาหารและประเทศมาเลเซียจะใช้เหง้าเป็นยาบำรุง (หัว)
  2. หัวนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงเลือด (หัว)
  3. หัวตากแห้งนำมาหั่นผสมในตำรับยาบำรุงกำลัง (หัว)
  4. ใช้หัวในยาตำรับ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้มะเร็ง ด้วยการบดยาหัวให้ละเอียดผสมกับส้มโมง ต้มจนแห้งแล้วผสมกับน้ำผึ้งรับประทานวันละ 1 เม็ด (หัว) หัวข้าวเย็นทั้งสองมีกลไกลการออกฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านม (หัว)
  5. ตำรับยาแก้เบาหวานให้ใช้หัวข้าวเย็นทั้งสอง ใบโพธิ์ และไม้สัก นำมาต้มในหม้อดินเป็นยาดื่ม ส่วนอีกตำรับยาหนึ่งให้ใช้หัวข้าวเย็นทั้งสองผสมกับต้นลูกใต้ใบ นำมาต้มกับน้ำดื่ม (หัว)
  6. หัวหรือรากมีรสหวานจืด เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับ กระเพาะ ใช้เป็นยาขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (หัว)
  7. ต้นมีรสจืดเย็น เป็นยาแก้ไข้เรื้อรังและแก้ไข้ตัวร้อน (ผล)
  8. ใบมีรสจืดเย็น เป็นยาแก้ไข้เหนือ ไข้สันนิบาต (ใบ)
  9. ตำรับยาแก้ไข้ทับระดูและระดูทับไข้ โดยมีอยู่ 2 ตำรับ ตำรับยาแรกใช้ยารวม 4 อย่าง ส่วนตำรับที่สองใช้ 6 อย่าง โดยใช้หัวข้าวเย็นทั้งสองผสมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับ นำมาต้มเอาแต่น้ำดื่ม (หัว)
  10. หัวมีรสมันกร่อน หวานเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้ประดง (หัว)
  11. ตำรับยาแก้ไอ ให้ใช้หัวข้าวเย็นเหนือ 5 บาทและหัวข้าวเย็นใต้ 5 บาท นำมาต้มในหม้อดินและเติมเกลือทะเลเล็กน้อย ใช้ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (หัว)
  12. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (หัว)
  13. ช่วยแก้ตาแดง (หัว)
  14. ช่วยขับลมชื้น ด้วยการใช้ข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้อย่างละ 30 กรัม โกฐเขมา, โกฐหัวบัว, เจตมูลเพลิง (ไม่ได้ระบุว่าใช้เจตมูลเพลิงแดงหรือเจตมูลเพลิงขาว), เถาวัลย์เปรียงอย่างละ 20 กรัม นำมาต้มรวมกันใช้เป็นน้ำดื่ม หรือจะนำมาแช่กับเหล้า โดยใส่เหล้าให้ท่วมตัวยา ทิ้งไว้ 7 วัน แล้วนำมารับประทานก็ได้ (หัว)
  15. รากใช้เป็นยาแก้พยาธิในท้อง (ราก)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : medthai



ปฏิกิริยาของคุณ?