จักรนารายณ์ สรรพคุณและประโยชน์
จักรนารายณ์ สรรพคุณและประโยชน์
ต้นจักรนารายณ์ หรือ ต้นแปะตําปึง มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศจีน โดยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุได้หลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 30-50 เซนติเมตร ลำต้นและกิ่งก้านเป็นทรงกลมโตประมาณเท่านิ้วก้อยและเป็นสีม่วงแดง ทั้งต้นมีขนขึ้นปกคลุม รากอยู่ใต้ดินเป็นหัวเหง้าและแตกเป็นรากฝอย


จักรนารายณ์ สรรพคุณและประโยชน์

จักรนารายณ์ ชื่อสามัญ Purple passion vine, Purple velvel plant

จักรนารายณ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Gynura divaricata (L.) DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gynura ovalis DC., Gynura auriculata Cass.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)

หมายเหตุ : บางข้อมูลระบุว่าเป็นชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gynura procumbens (Lour.) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gynura sarmentosa (Blume) DC.)

สมุนไพรจักรนารายณ์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แปะตำปึง, แป๊ะตำปึง (ไทลื้อ), แปะตังปึง, แป๊ะตังปึง, แปะตังปุง ,ผักพันปี, กิมกอยมอเช่า, จินฉี่เหมาเยี่ย, ว่านกอบ ใบเบก (คนเมือง), ชั่วจ่อ (ม้ง), เชียตอเอี๊ยะ งู่ปุ่ยไฉ่ (จีน), ไป๋ตงเฟิง ไป๋เป้ยซันชิ (จีนกลาง), จักรนารายณ์ (ไทย) เป็นต้น

ลักษณะของจักรนารายณ์

ต้นจักรนารายณ์ หรือ ต้นแปะตําปึง มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศจีน โดยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุได้หลายปี มีความสูงของต้นประมาณ 30-50 เซนติเมตร ลำต้นและกิ่งก้านเป็นทรงกลมโตประมาณเท่านิ้วก้อยและเป็นสีม่วงแดง ทั้งต้นมีขนขึ้นปกคลุม รากอยู่ใต้ดินเป็นหัวเหง้าและแตกเป็นรากฝอย ขยายพันธุ์ด้วยการตัดกิ่งปักชำ พืชชนิดนี้ไม่ชอบอยู่ในที่ร่มมากนัก ชอบแสงแดดพอสมควร เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ชอบน้ำ แต่อย่าให้มีที่รองน้ำที่ก้นกระถาง เพราะรากจะเน่าได้

ใบจักรนารายณ์ หรือ ใบแปะตำปึง ใบจะอยู่กับลำต้นที่แทงขึ้นจากราก ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่มน ปลายใบแหลม ส่วนขอบใบหยัก ใบมีความยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 8 เซนติเมตร แผ่นใบหนาและนุ่มคล้ายกำมะหยี่ หลังใบเป็นสีเขียวส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีม่วงแดงหรือสีขาวออกหม่น ๆ มีก้านใบสั้น และมีข้อมูลระบุว่าจักรนารายณ์มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิดใบกลมและชนิดใบยาว โดยชนิดใบกลม จะเรียกว่า “แปะตําปึง” ลักษณะของใบหนา มีขนหนานุ่มคล้ายกำมะหยี่ทั้งสองด้าน ใบเป็นสีเขียวอ่อน เส้นใบด้านหลังลึกเช่นเดียวกับเส้นกลางใบ แต่ด้านท้องใบกลับนูน ชนิดนี้กิ่งก้านเป็นสีเขียวปนสีแดง เปราะและหักง่าย ส่วนอีกชนิดคือชนิดใบยาว จะเรียกว่า “จินฉี่เหมาเยี่ย” ชนิดนี้ลักษณะของใบจะค่อนข้างยาวและแหลมกว่า ผิวใบค่อนข้างเรียบ มีขนน้อย

ดอกจักรนารายณ์ ออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายยอดลำต้น ในช่อหนึ่งจะมีดอกหลายดอก กลีบดอกมีลักษณะเป็นเส้นฝอยกลมจำนวนมาก มีสีเหลืองสดคล้ายดอกดาวเรือง แต่จะมีขนาดเล็กกว่าดอกดาวเรือง และมีสีเหลือง โดยยาวได้ประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 5 ก้านอยู่ในกลีบดอก ส่วนเกสรเพศเมียเป็นเส้นยืดออกมาภายนอกและมีผลติดอยู่ในดอก

ผลจักรนารายณ์ ผลสุกเป็นสีน้ำตาล

ภาพจาก : nanagarden.com

สรรพคุณและประโยชน์ของจักรนารายณ์

  1. ยอดอ่อนใช้เป็นส่วนผสมในการต้มไก่กระดูกดำ ใช้รับประทานเป็นยาบำรุงร่างกาย (ยอดอ่อน)
  2. ราก ก้าน และใบ มีรสหวานชุ่ม เค็มและเผ็ดเล็กน้อย ใช้เป็นยาเย็นมีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ และม้าม มีสรรพคุณช่วยทำให้เลือดเย็น ช่วยกระจายโลหิต แก้เส้นเลือดอุดตันและแก้อาการตกเลือด (ราก, ก้าน, ใบ)
  3. ช่วยฟอกโลหิต ทำให้ระบบโลหิตและน้ำเหลืองดีขึ้น (ใบ)
  4. ช่วยล้างพิษภายในออกทางอุจจาระ ปัสสาวะ และทางตา (ใบ)
  5. ใช้รักษาโรคเบาหวาน ด้วยการรับประทานใบสดก่อนอาหารประมาณ 2-5 ใบในช่วงตีห้าถึงเจ็ดโมงเช้า (จะได้ผลดีเพราะเป็นช่วงที่ลำไส้เริ่มทำงาน) และให้รับประทานอีกครั้งในช่วงหลังอาหารเย็นประมาณ 2-3 ชั่วโมง หรือใช้กินก่อนนอนทุกวัน โดยให้ทำเช่นนี้ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ แล้วหยุดดูอาการอีก 2-3 วัน แล้วจึงรับประทานต่อเพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ลดลงเร็วเกินไป (ปริมาณการใช้ของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้รับประทานและขนาดของใบที่ใช้ สำหรับผู้ที่เริ่มรับประทานให้ทดลองรับประทานแต่น้อย ๆ ก่อนแล้วค่อย ๆ ดูอาการ และควรรับประทานแบบระมัดระวัง เพราะยังไม่มีผลการวิจัยรองรับอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลระบุว่าจักรนารายณ์ใบยาวจะลดระดับน้ำตาลในเลือดได้มากกว่าชนิดใบกลม)
  6. ใบใช้รับประทานสดร่วมกับลาบ ช่วยแก้โรคความดันโลหิตสูง (ใบ)
  7. ช่วยทำให้ระบบหายใจดีขึ้น ไม่เหนื่อยไม่หอบ (ใบ)
  8. ช่วยแก้อาการร้อนใน (ใบ)
  9. ใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ (ราก, ก้าน, ใบ)
  10. ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด (ราก, ก้าน, ใบ)
  11. ช่วยรักษาโรคตา ตาต้อ ตาอักเสบ ตามัว ด้วยการใช้ใบสดล้างให้สะอาด นำมาบด ขยี้ หรือโขลกให้แหลกในครกสะอาด แล้วนำมาพอกตาข้างที่มีอาการประมาณ 30 นาที (เข้าใจว่าพอกตรงเปลือกตา) แล้วล้างออกด้วยน้ำ โดยให้พอกทั้งเช้าและเย็น อาการของตาจะดีขึ้น ดวงตาจะสว่างขึ้น โดยสมุนไพรจักรนารายณ์ที่ปลูกเองไม่ควรใช้ยาฆ่าแมลง หรือถ้ามีการใช้ปุ๋ยก็ควรทิ้งไว้อย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนเก็บใบใช้ในการพอกตา (ใบ)
  12. ช่วยแก้อาการปวดเหงือก ปวดฟัน ปากเป็นผล หรือลำคออักเสบ ให้รับประทานใบสดเป็นยาในช่วงกลางคืนหลังการแปรงฟัน โดยค่อย ๆ รับประทานใบยา เคี้ยวและอมทิ้งไว้สักระยะหนึ่งแล้วค่อยกลืนลงไป เมื่อตื่นมาตอนเช้าอาการปวดจะหายไป อีกทั้งยังช่วยให้ขับถ่ายได้โล่งสบายยิ่งขึ้นอีกด้วย (ใบ)
  13. ใช้รักษาหลอดลมอักเสบ วัณโรคในปอด (ราก, ก้าน, ใบ)
  14. ใช้แก้อาการไอ คออักเสบ ด้วยการใช้ใบและก้านประมาณ 10 กรัม ใส่ไข่และน้ำตาลเล็กน้อย ใช้รับประทาน (ใบและก้าน)
  15. ใบอ่อนและยอดอ่อน ใช้รับประทานเป็นประจำ จะช่วยรักษาหรือป้องกันการเกิดโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งมดลูกได้ (ใบอ่อน, ยอดอ่อน)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : pantip



ปฏิกิริยาของคุณ?