จอก สรรพคุณและประโยชน์
จอก สรรพคุณและประโยชน์
ต้นจอก จัดเป็นวัชพืชน้ำขนาดเล็ก หรือเป็นพรรณไม้ที่ขึ้นลอยและเจริญเติบโตติดกันเป็นกลุ่มลอยอยู่บนผิวน้ำ มีอายุยืนหลายปี ลำต้นทอดขนานไปกับผิวน้ำ ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ และมีรากระบบรากแก้วและมีรากฝอยเป็นจำนวนมากออกเป็นกระจุกอยู่ใต้น้ำ สีขาว ลำต้นมีความสูงประมาณ 2.5-10 เซนติเมตร


จอก สรรพคุณและประโยชน์

จอก ชื่อสามัญ Water lettuec

จอก ชื่อวิทยาศาสตร์ Pistia stratiotes L. จัดอยู่ในวงศ์บอน (ARACEAE)

สมุนไพรจอก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักกอก (เชียงใหม่), กากอก (ภาคเหนือ), ไต่ผู้เฟี้ย (จีน-แต้จิ๋ว), ต้าฝูผิง (จีนกลาง), จอกใหญ่ เป็นต้น

ลักษณะของต้นจอก

ต้นจอก จัดเป็นวัชพืชน้ำขนาดเล็ก หรือเป็นพรรณไม้ที่ขึ้นลอยและเจริญเติบโตติดกันเป็นกลุ่มลอยอยู่บนผิวน้ำ มีอายุยืนหลายปี ลำต้นทอดขนานไปกับผิวน้ำ ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ และมีรากระบบรากแก้วและมีรากฝอยเป็นจำนวนมากออกเป็นกระจุกอยู่ใต้น้ำ สีขาว ลำต้นมีความสูงประมาณ 2.5-10 เซนติเมตร ลำต้นมีไหล ต้นใหม่จะเกิดจากโคนต้นและเกิดบนไหล โดยต้นจอกเป็นพรรณไม้น้ำที่ชอบแสงแดดจัด ชอบน้ำจืด สามารถพบได้ตามลำคลอง หนองน้ำ นาข้าว และที่มีน้ำขัง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด หรือแตกไหล และวิธีการแยกต้นอ่อน

ใบจอก ใบเป็นเดี่ยวสีเขียวเรียงสลับ เกิดบริเวณส่วนโคนของลำต้นเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ รูปร่างของใบมีลักษณะที่ไม่แน่นอน บางครั้งเป็นรูปรี รูปไข่กลับ รูปใบพัด แต่โดยมากเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายใบมนหยักลอนเป็นคลื่น ๆ ฐานใบมนสอบแคบ ส่วนขอบใบเรียบเป็นสีแดง มีขนขึ้นปกคลุมแผ่นใบทั้งสองด้าน บริเวณฐานใบพองออกและมีลักษณะอ่อนนุ่มคล้ายกับฟองน้ำ ทำให้สามารถลอยน้ำได้ ใบมีความยาวและความกว้างประมาณ 10-25 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวอ่อน ใบไม่มีก้านใบ
ดอกจอก ออกดอกเป็นช่ออยู่ตรงกลางต้น ตรงโคนใบระหว่างกลาง หรือออกตามซอกใบ ก้านช่อดอกสั้นขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร ดอกจะมีกาบห่อหุ้มดอกอยู่ประมาณ 2-3 ใบ เป็นแผ่นสีเขียวอ่อนหุ้มไว้ ด้านในเรียบ ส่วนด้านนอกมีขนละเอียดปกคลุม ดอกมีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียที่แยกกันอยู่ แต่อยู่ในช่อเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะอยู่ด้านบนดอกส่วนดอกเพศเมียจะอยู่ด้านล่าง ดอกจอกเป็นดอกที่ไม่มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยง ที่โคนดอกเพศผู้จะมีรยางค์แผ่นสีเขียวเชื่อมติดอยู่เป็นรูปถ้วย และมีเกสรเพศผู้ประมาณ 4-8 ก้าน ส่วนดอกเพศเมียจะมีรยางค์เป็นแผ่นสีเขียวติดอยู่เหนือรังไข่

ผลจอก ผลมีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ หรือเป็นผลเป็นชนิดแบคเดท (Bacdate) มีกาบหรือใบประดับสีเขียวอ่อนติดอยู่ ภายในผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 2-3 เมล็ด บ้างว่ามีจำนวนมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีลักษณะกลมยาว เปลือกเมล็ดจะมีรอยย่น

ภาพจาก : aroka108.com

สรรพคุณและประโยชน์ของจอก

  1. ใบมีรสขม เผ็ด และฝาดเล็กน้อย ใช้เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นยาฟอกเลือดให้เย็นได้ (ใบ)
  2. ช่วยขับความชื้นในร่างกาย (ใบ)
  3. ช่วยขับพิษไข้ (ใบ)ดอกจอก
  4. ช่วยขับเหงื่อ (ใบ)
  5. ช่วยขับเสมหะ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  6. ช่วยแก้หืด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  7. ใช้เป็นยาขับลม (ใบ)
  8. ช่วยแก้อาการบิด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  9. รากใช้เป็นยาระบาย (ราก)
  10. ใบสดใช้ต้มผสมกับน้ำตาลทราย (ใช้อย่างละ 120 กรัมต่อน้ำ 3 ถ้วย) แล้วต้มให้ข้นจนเหลือถ้วยเดียว ใช้รับประทานให้ได้ 3 ครั้ง เพื่อเป็นยาแก้ท้องมาน หรืออาการบวมน้ำ หรือจะใช้ใบแห้งประมาณ 15-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาก็ได้เช่นกัน (ใบ)
  11. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ปัสสาวะไม่คล่อง ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณ 15-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยา (ใบ) บ้างระบุว่ารากเป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)
  12. ช่วยรักษาโรคโกโนเรีย (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือโรคหนองในแท้) (ไม่ได้ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นส่วนของใบ)
  13. ใบใช้เป็นแก้โรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน และฝีหนองภายนอก (ใบ)
  14. ใบใช้เป็นยาแก้หัด แก้ผื่นคัน มีน้ำเหลืองได้ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 100 กรัม นำมาตากให้แห้งหรือผิงไฟให้แห้ง แล้วบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งทำเป็นยาเม็ด ทยอยกินให้หมดภายใน 1 วัน หรือจะใช้ใบแห้งต้มกับน้ำ นำมาอบผิว แล้วใช้น้ำยาที่ต้มได้มาล้างบริเวณที่เป็นซ้ำอีกครั้งหนึ่ง (ใบ)
  15. ใบสดใช้ผสมกับน้ำตาลกรวดดำ อุ่นให้ร้อน ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่ได้รับการกระทบกระเทือน หรือมีอาการฟกช้ำดำเขียว จะช่วยแก้อาการบอบช้ำได้ หรือจะใช้ใบสดนำมาตำใช้เป็นยาพอกก็ได้เช่นกัน (ใบ)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : คลังสมุนไพร



ปฏิกิริยาของคุณ?