คราม สรรพคุณและประโยชน์
คราม สรรพคุณและประโยชน์
ต้นคราม จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านสาขามาก บ้างว่าแตกกิ่งก้านน้อย มีความสูงของต้นประมาณ 4-6 ฟุต หรือสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นมีลักษณะกลมสีเขียว มักพาดเกาะตามสิ่งที่อยู่ใกล้กับลำต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยเป็นพรรณไม้ที่ชอบแสงแดด


คราม สรรพคุณและประโยชน์

คราม ชื่อสามัญ Indigo

คราม ชื่อวิทยาศาสตร์ Indigofera tinctoria L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)

สมุนไพรคราม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ครามย้อม (กรุงเทพฯ), คาม (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), คราม ครามย้อย (ภาคเหนือ, ภาคกลาง), คราม (ทั่วไป) เป็นต้น

หมายเหตุ : ต้นครามที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับ ต้นคราม หรือ ต้นฮ่อม ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Baphicacanthus cusia (Nees) Bremek. ซึ่งจัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE) เหตุที่มีชื่อเรียกในท้องถิ่นที่เหมือนกันจึงอาจทำให้เกิดความสับสนได้ เพราะต้นฮ่อม (ครามดอย ห้อม ห้อมหลวง ห้อมน้อย) ก็มีชื่อเรียกทั่วไปว่า “คราม” เช่นกัน

ลักษณะของต้นคราม

ต้นคราม จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านสาขามาก บ้างว่าแตกกิ่งก้านน้อย มีความสูงของต้นประมาณ 4-6 ฟุต หรือสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นมีลักษณะกลมสีเขียว มักพาดเกาะตามสิ่งที่อยู่ใกล้กับลำต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยเป็นพรรณไม้ที่ชอบแสงแดด ทนทานต่ออากาศร้อน ฝน และดินเค็มได้ดี พบขึ้นได้ตามป่าโปร่งทางภาคอีสานและทางภาคเหนือจะนิยมปลูกต้นครามไว้เพื่อใช้สำหรับทำสีย้อมผ้า และมักขึ้นเป็นวัชพืชทั่วไปตามสวน

ใบคราม ใบมีลักษณะคล้ายกับใบก้างปลาแต่จะมีขนาดเล็กกว่า โดยใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรีแกมรูปขอบขนาน หรือเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมน โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร แผ่นใบสีเขียวมีลักษณะบาง

ดอกคราม ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อดอกยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ดอกย่อยมีลักษณะเป็นรูปดอกถั่ว กลีบดอกเป็นสีม่วงแกมสีน้ำตาลหรือเป็นสีชมพูและเป็นสีเขียวอ่อนแกม

ผลคราม ผลมีลักษณะเป็นฝักกลมขนาดเล็ก ยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร โดยออกเป็นกระจุก ฝักมีลักษณะคล้ายฝักถั่ว ภายในฝักมีเมล็ดสีครีมอมสีเหลืองขนาดเล็ก

ภาพจาก : sites.google.com

สรรพคุณและประโยชน์ของคราม

  1. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้กษัย (ทั้งต้น, ลำต้น)
  2. ต้นใช้เป็นยาเย็นเพื่อใช้ในการลดไข้ โดยใช้ต้นสด ๆ นำมาทุบใช้พอกกระหม่อมเด็กหรือผู้ใหญ่ก็จะช่วยลดไข้ได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าไม่มีต้นสดหมอยาพื้นบ้านก็แนะนำให้ใช้ผ้าที่ย้อมด้วยต้นคราม (ต้องเป็นการย้อมสีแบบธรรมชาติและไม่ใช่สารเคมี) นำมาชุบกับน้ำแล้ววางไว้ที่กระหม่อมก็จะช่วยลดไข้ได้ดีกว่าการใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดา (ต้น)
  3. ลำต้นและใบใช้เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน (ลำต้น, ใบ)
  4. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ลำต้น, ใบ)
  5. ทั้งต้นใช้เป็นยาฟอกและขับปัสสาวะให้บริสุทธิ์ แก้ปัสสาวะขุ่นข้น และใช้รักษานิ่วได้ดี (ทั้งต้น)
  6. ใบครามใช้เป็นยาดับพิษ (ใบ)
  7. ช่วยแก้พิษฝีและแก่บวม (เปลือก)
  8. เปลือกใช้แก้พิษงู (เปลือก)
  9. หากเป็นแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกหรือถูกมีดบาด ก็สามารถนำเนื้อครามมาทาเพื่อเป็นยาสมานแผลได้ (เนื้อคราม)
  10. ผ้าครามนำไปนึ่งให้อุ่นใช้เป็นยาประคบตามรอยช้ำ จะช่วยบรรเทาอาการฟกช้ำได้ (ผ้าคราม)
  11. ผ้าม่อฮ่อมที่ได้จากการย้อมสีจากต้นครามหรือต้นห้อมสามารถนำมาชุบน้ำใช้ประคบเพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้
  12. หมอยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ผ้าที่ย้อมด้วยห้อมมาใช้ในการทับหม้อเกลือ เมื่อตอนดูแลหญิงหลังการคลอดบุตร เพื่อช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น (ไม่แน่ใจว่าผ้าที่ย้อมด้วยครามจะใช้ได้เหมือนกันหรือไม่)
  13. หมอยาพื้นบ้านทางภาคอีสานและทางภาคเหนือ จะใช้ผ้าที่ย้อมด้วยครามมาใช้ห่อทำลูกประคบ เพราะจะทำให้ได้ตัวยาที่ช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ กระชับมากยิ่งขึ้น

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : pataninow



ปฏิกิริยาของคุณ?