มุมมอง
คนทา สรรพคุณและประโยชน์
คนทา ชื่อวิทยาศาสตร์ Harrisonia perforata (Blanco) Merr. ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)
สมุนไพรคนทา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้ตำตา (เชียงใหม่), หนามกะแท่ง (เลย), โกทา หนามโกทา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), จี้ จี้หนาม หนามจี้ สีเตาะ สีเดาะ (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), คนทา (ภาคกลาง), กะลันทา สีฟัน สีฟันคนทา สีฟันคนตาย (ทั่วไป), มีซี, มีชี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น
ลักษณะของคนทา
ต้นคนทา จัดเป็นพรรณไม้พุ่มแกมเถาหรือเป็นไม้พุ่มเลื้อยทอดเกาะเกี่ยวขึ้นไป มีความสูงได้ประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นจะมีขนาดโตเท่ากับต้นหมาก เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล และมีหนามแหลมและสั้นตลอดทั้งลำต้นและตามกิ่งก้าน พรรณไม้ชนิดนี้มีเขตกระจายพันธุ์ตั้งแต่จีนตอนใต้ลงไปถึงมาเลเซีย สำหรับในประเทศไทยมักพบขึ้นทั่วไปในป่าตามธรรมชาติ ทนความแห้งแล้งได้ดี พบมากในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทางภาคเหนือ โดยจะพบได้ตามที่โล่งในป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ และป่าเขาหินปูน ที่ระดับความสูงใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึง 900 เมตร และสามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการใช้เมล็ด
ใบคนทา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 11-15 ใบ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี ปลายใบมนถึงแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเป็นหยักแบบห่าง ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีแดง ก้านใบร่วมเป็นปีกแผ่ขยายออกแคบ ๆ และใบมีรสขม
ดอกคนทา ออกดอกเป็นช่อ ดอกย่อยมีขนาดประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ภายในมีแป้นดอก ดอกย่อยด้านนอกเป็นสีแดงแกมม่วง ส่วนด้านในเป็นสีนวล กลีบดอกและกลีบดอกมีกลีบอย่างละ 4-5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน
ผลคนทา ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม เบี้ยว และฉ่ำน้ำ ผิวผลเรียบเนียนคล้ายแผ่นหนัง ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน เนื้อผลค่อนข้างแข็ง ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยว เมล็ดแข็งเป็นสีน้ำตาล มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร
สรรพคุณและประโยชน์ของคนทา
- ต้นเป็นยาฟอกโลหิต (ต้น)
- ช่วยขับโลหิต (ราก)
- เปลือกต้นหรือรากมีรสเฝื่อนขม ใช้ต้มกินเป็นยาแก้ไข้ รักษาอาการไข้เพื่อเส้น ไข้เหนือ ไข้จับสั่น ไข้ตักศิลา ไข้พิษ ไข้กาฬ ดับพิษหัวไข้ กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้ทุกชนิด (เปลือกต้น, ราก) ส่วนเปลือกรากมีสรรพคุณแก้ไข้ และต้นมีสรรพคุณแก้ไข้ได้ทุกชนิด (ต้น, เปลือกราก)
- ช่วยป้องกันอหิวาตกโรค (เปลือกราก)
- ทั้งต้นมีรสเฝื่อนขม ช่วยแก้กระหายน้ำ (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ต้น, ราก)
- ใช้แก้ตาเจ็บ (ราก)
- เปลือกต้นนำมาทุบแล้วอมจะช่วยลดอาการปวดฟันได้ (เปลือกต้น)
- ช่วยขับลม (ราก)
- ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (ทั้งต้น)
- เปลือกต้นหรือรากใช้ต้มเป็นยากินรักษาอาการท้องร่วง (เปลือกต้น, ราก) ส่วนต้นและเปลือกรากก็ช่วยแก้ท้องร่วงได้เช่นกัน (ต้น, เปลือกราก)
- ช่วยแก้บิด (ต้น, เปลือกต้น, ราก, เปลือกราก)
- เปลือกต้นหรือรากต้มกินเป็นยาแก้โรคทางเดินลำไส้ (เปลือกต้น, ราก) ส่วนเปลือกรากก็ช่วยรักษาลำไส้เช่นกัน (เปลือกราก)
- ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (ราก)
- ช่วยสมานบาดแผล (ราก)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : dnp