มะคำดีควาย สรรพคุณและประโยชน์
มะคำดีควาย สรรพคุณและประโยชน์
ต้นมะคำดีควาย (ชนิด Sapindus trifoliatus L.) จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เรือนยอดของต้นหนาทึบ ลำต้นมักคดงอ มีความสูงของต้นได้ประมาณ 10-30 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นร่องลึกตามแนวยาว


มะคำดีควาย สรรพคุณและประโยชน์

สมุนไพรมะคำดีควาย หรือ ประคำดีควาย เป็นชื่อของพรรณไม้ 2 ชนิด ในวงศ์เงาะ (SAPINDACEAE) ซึ่งทั้งสองชนิดนี้มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์และสรรพคุณทางยาที่คล้ายคลึงกัน (สามารถนำมาใช้แทนกันได้) ได้แก่

มะคำดีควาย ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sapindus rarak DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dittelasma rarak (DC.) Benth. & Hook. f.) มีชื่อสามัญว่า Soap Nut Tree และมีชื่อเรียกในท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ประคำดีควาย (ภาคกลาง), มะซัก ส้มป่อยเทศ (ภาคเหนือ), ชะแซ ซะเหล่เด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น ชนิดนี้ใบจะเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 7-13 คู่

มะคำดีควาย ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sapindus trifoliatus L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sapindus emarginatus Vahl, Sapindus laurifolius Vahl) มีชื่อสามัญว่า Soapberry Tree และมีชื่อเรียกอื่นว่า "ประคำดีควาย" ชนิดนี้ใบจะเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยเพียง 2-4 ใบ (บางข้อมูลว่ามี 4-6 ใบย่อย)

ลักษณะของมะคำดีควาย

ต้นมะคำดีควาย (ชนิด Sapindus trifoliatus L.) จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เรือนยอดของต้นหนาทึบ ลำต้นมักคดงอ มีความสูงของต้นได้ประมาณ 10-30 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นร่องลึกตามแนวยาว ยอดอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบแล้งในทุกภาคของประเทศไทย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด

ใบมะคำดีควาย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน ในช่อหนึ่งจะมีใบย่อยอยู่ประมาณ 2-4 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเป็นสีเขียว

ดอกมะคำดีควาย ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ โดยจะออกบริเวณปลายกิ่ง ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ลักษณะของดอกเป็นดอกเล็กสีขาวนวลหรือเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ในหนึ่งดอกจะมีกลีบรองดอกขนาดเล็กประมาณ 4 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน และมีกลีบดอกประมาณ 5 กลีบ กลีบข้างนอกมีขนสั้น ๆ สีน้ำตาลปนแดงขึ้นอยู่ประปราย ส่วนบริเวณกลางดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 10 ก้าน

ผลมะคำดีควาย ผลออกรวมกันเป็นพวง ผลย่อยมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผลสดสีเขียว ผิวผลเรียบหรืออาจมีรอยย่นที่ผลบ้าง เปลือกผลเมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ผลมีพู 3 พู และมักจะฝ่อไป 1-2 พู เนื้อในผลมีลักษณะเหนียว ใส เป็นสีน้ำตาล และมีรสหวาน ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมสีดำเป็นมัน เป็นเมล็ดที่มีเปลือกหุ้มแข็ง

ภาพจาก : honestdocs.co

หมายเหตุ : ผู้เขียนเข้าใจว่าชนิดใบรีแกมรูปขอบขนาน คือ มะคําดีควาย ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sapindus emarginatus Wall. (ชนิดนี้มีความสูงของต้นประมาณ 10-30 เมตร) ส่วนชนิดใบเป็นรูปหอก คือ ประคําดีควาย ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sapindus rarak A. DC. (ชนิดนี้มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร)

ภาพจาก : siamrath.co.th

สรรพคุณและประโยชน์ของมะคำดีควาย

  1. เปลือกต้นมีรสเฝื่อนขม นำมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้กระษัย (เปลือกต้น)
  2. ผลใช้รักษาชันนะตุบนศีรษะ แก้เชื้อรา แก้รังคา (โรคผิวหนังพุพองบนศีรษะเด็ก) ด้วยการใช้ผลประมาณ 4-5 ผล นำมาแกะเอาแต่เนื้อ นำไปต้มกับน้ำประมาณ 1 ถ้วย แล้วใช้น้ำทาบนศีรษะที่เป็นชันนะตุวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น จนกว่าจะหาย หรือจะใช้เนื้อผล 1 ผล นำมาตีกับน้ำจนเกิดเป็นฟอง แล้วใช้สระผมวันละ 1 ครั้ง จนกว่าจะหาย (บางข้อมูลระบุว่าสามารถช่วยป้องกันผมร่วง ผมหงอกก่อนวัย แก้อาการคันหนังศีรษะ ช่วยลดความมันบนหนังศีรษะ บำรุงรากผมให้แข็งแรง ช่วยขจัดตัวเหา ไข่เหา หรือนำไปหมักเอาน้ำทาแก้โรคสะเก็ดเงิน) แต่ต้องระวังอย่าให้เข้าตา เพราะจะทำให้แสบตา ตาอักเสบได้ และไม่ควรทิ้งไว้นานจนเกินไป (ผล)
  3. ผลใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นในตำรับยา ใช้รักษาโรคตัวร้อน นอนไม่หลับ นอนสะดุ้ง ผวา แก้สลบ แก้สารพัดพิษ สารพัดกาฬ แก้ไข้สารพัดไข้ทั้งปวง แก้ไข้จับเซื่องซึม ร้อนในกระหายน้ำ แก้ปากเปื่อย แก้ฝีเกลื้อน แก้พิษ แก้หัด สุกใส (ผล)
  4. ใบนำมาปรุงเป็นยาแก้พิษกาฬ ดับพิษกาฬ ช่วยแก้ทุราวสา (ใบ)
  5. ใช้ผลแห้งนำไปคั่วให้เกรียม ใช้ปรุงเป็นยาดับพิษทุกชนิด แก้พิษตานซาง แก้กาฬ แก้กาฬภายใน แก้ไข้เลือดออก แก้ไข้เซื่องซึม หรือใช้ร่วมกับเมล็ดมะกอกสุมไฟ ใช้กินแก้หอบอันเนื่องมาจากปอดชื้นปอดบวม แก้ไข้ แก้จุดกาฬ แก้เสลด สุมฝีที่เปื่อยพัง (ผล)
  6. เปลือกต้นนำมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไข้ แก้พิษไข้ แก้พิษร้อน (เปลือกต้น)
  7. ผลนำมาสุมให้เป็นถ่าน แล้วปรุงเป็นยาดับพิษร้อนในร่างกาย (ผล)
  8. ผลนำมาสุมให้เป็นถ่าน ทำเป็นยารับประทานแก้ร้อนในกระหายน้ำ (ผล)
  9. ผลนำมาต้มเอาฟองใช้สุมหัวเด็กเพื่อแก้หวัด คัดจมูกได้ (ผล)
  10. ช่วยแก้หืดหอบ (ผล) รากช่วยแก้หืด แก้ไอ (ราก)
  11. ต้นช่วยแก้ลมคลื่นเหียน (ต้น)
  12. รากช่วยรักษามองคร่อ (โรคหลอดลมโป่งพองที่มีเสมหะแห้งอยู่ในช่องหลอดลม ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง) (ราก)
  13. เมล็ด รับประทานแล้วจะทำให้ท้องเสีย (กะเหรี่ยงเชียงใหม่) (เมล็ด)
  14. ใบอ่อนนำมาต้มกับน้ำดื่มรับประทานแก้อาการท้องผูก (ใบอ่อน) ชาวลั้วะจะใช้ยอดอ่อนนำมานึ่งรับประทานเป็นยาแก้อาการถ่ายไม่ออก แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (ยอดอ่อน)
  15. รากใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นในตำรับยา ใช้เป็นยาแก้ฝีในท้อง (ราก)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : pharmacy



ปฏิกิริยาของคุณ?