ปลาไหลเผือก สรรพคุณและประโยชน์
ปลาไหลเผือก สรรพคุณและประโยชน์
ต้นปลาไหลเผือก จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง มีความสูงตั้งแต่ 1-10 เมตร เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล แตกกิ่งก้านน้อย กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล ก้านใบออกจากลำต้นตรงส่วนปลายของลำต้น เรียงกันหนาแน่นช่วงปลายกิ่ง


ปลาไหลเผือก สรรพคุณและประโยชน์

ปลาไหลเผือก ชื่อวิทยาศาสตร์ Eurycoma longifolia Jack จัดอยู่ในวงศ์ปลาไหลเผือก (SIMAROUBACEAE)

สมุนไพรปลาไหลเผือก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า คะนาง ชะนาง (ตราด), กรุงบาดาล (สุราษฎร์ธานี), ไหลเผือก (ตรัง), ตรึงบาดาล (ปัตตานี), ตุงสอ ตรึงบาดาล เพียก หยิกบ่อถอง แฮพันชั้น (ภาคเหนือ), หยิกบ่อถอง หยิกไม่ถึง เอียนด่อน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ปลาไหลเผือก ไหลเผือก (ภาคกลาง), เพียก (ภาคใต้), ตุวุวอมิง ตุวเบ๊าะมิง (มาเลย์-นราธิวาส), หมุนขึ้น เป็นต้น ส่วนชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้จะเรียกต้นปลาไหลเผือกว่า "ตงกัตอาลี" (Tongkat Ali)

สาเหตุที่เรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า "ปลาไหลเผือก" เนื่องมาจากรากของสมุนไพรชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับ "ปลาไหลเผือก" คือ รากเป็นสีขาว มีลักษณะยาวคล้ายปลาไหลเผือก อีกทั้งยังมีเพียงรากเดียว จึงทำให้บางท้องถิ่นจึงเรียกอีกชื่อว่า "พญารากเดียว"

รากปลาไหลเผือกที่ยิ่งมีอายุหลายปีจะยิ่งมีความยาวมาก ซึ่งบางครั้งอาจยาวได้มากกว่า 2 เมตร ทำให้บางท้องที่เรียกว่า "ตรึงบาดาล" ส่วนทางอีสานจะเรียกมันว่า เอี่ยนด่อน (คำว่า "เอี่ยน" ในภาษาอีสานแปลว่าปลาไหว ส่วนคำว่า "ด่อน" แปลว่าเผือก) แต่ชาวอีสานบางท้องที่จะเรียกว่า "หยิกบ่ถอง" ที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะมีเรื่องเล่าตรงกันว่าในสมัยก่อนผู้ที่จะออกรบจะต้องพกปลาไหลเผือก (ที่ผ่านการปลุกเสกแล้ว) ติดตัวไปด้วย เพราะถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และก่อนเข้าสู่สนามรบก็นำมาเคี้ยวกิน จะทำให้มีเรี่ยวแรงและพละกำลังในการรบ ทำให้อยู่ยงคงกะพัน จึงได้ชื่อ หยิกบ่ถอง อีเฒ่าหนังยาน เพราะมีความหมายว่าหนังเหนียว ผิวหนังไม่มีความรู้สึกใด ๆ

ลักษณะของปลาไหลเผือก

ต้นปลาไหลเผือก จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง มีความสูงตั้งแต่ 1-10 เมตร เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาล แตกกิ่งก้านน้อย กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล ก้านใบออกจากลำต้นตรงส่วนปลายของลำต้น เรียงกันหนาแน่นช่วงปลายกิ่ง กิ่งก้านสั้นเป็นกระจุกที่ปลายยอดของลำต้น เป็นไม้ลงราก รากมีลักษณะกลมโตสีเขียวและยาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และวิธีการตอนกิ่ง จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ต้องการน้ำและความชื้นสูง เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท มักพบขึ้นกระจายทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าเต็งรัง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 700 เมตร

รากปลาไหลเผือก รากมีลักษณะยาวและหยั่งลึกลงไปใต้ดิน กลมโต สีขาวนวล รากยิ่งมีอายุหลายปีก็จะยิ่งยาวมาก โดยอาจมีความยาวได้มากกว่า 2 เมตร รากมีรสขมและเบื่อเมาเล็กน้อย ใช้เป็นยาสมุนไพร

ใบปลาไหลเผือก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงเวียนจากลำต้น ใบประกอบมีความยาวได้กว่า 35 เซนติเมตร มีใบย่อยประมาณ 8-13 คู่ ออกเรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับหรือเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่เรียวยาว ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซติเมตรและยาวประมาณ 5-10 เมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 8-12 เส้น เส้นใบเห็นได้ไม่ชัดเจน เส้นกลางใบนูนเล็กน้อยด้านบนและนูนเด่นด้านล่าง แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบด้านเรียบเป็นมัน ส่วนด้านล่างใบมีขนอยู่ประปราย ไม่มีก้านใบย่อย ส่วนก้านช่อยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร

ดอกปลาไหลเผือก ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนง โดยจะออกเป็นกระจุกที่ซอกใบและปลายกิ่ง เป็นช่อพวงใหญ่ มีความยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกันหรือเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่ต่างต้นกัน ที่ดอกจะมีขนสั้นและขนละเอียดเป็นต่อมกระจาย ทั้งบริเวณก้านช่อดอก ก้านดอก ใบประดับ และกลีบเลี้ยงมีขนขึ้นประปรายและมีขนต่อมเป็นกระจุก ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปใบหอกหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ และเป็นสีม่วงปนแดง มีขนาดกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร กลีบดอกจะแยกออกจากกันอย่างอิสระ ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 5-6 ก้าน มีความยาวประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร อยู่ติดสลับกับกลีบดอก โคนก้านชูอับเรณูมีรยางค์และมีขน ส่วนเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันในดอกเพศเมียจะมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ส่วนดอกเพศเมีย รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ มี 5-6 คาร์เพล แยกออกจากกัน ในแต่ละอันจะมีช่อง 1 ช่อง มีออวุล 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียจะเรียวยาว เชื่อมกันหรือแนบชิดติดเหนือรังไข่ประมาณ 1 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนยอดเกสรเป็นรูปโล่ มีแฉกประมาณ 5-6 แฉกชี้ขึ้น ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนใบประดับจะมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ร่วงได้ง่าย ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม มีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร หลอดกลีบเลี้ยงสั้น ที่โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย และก้านยอดยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเดือนมกราคม

ผลปลาไหลเผือก ออกผลเป็นพวง หนึ่งพวงจะมีผลประมาณ 5 ผลย่อย ลักษณะของผลย่อยเป็นรูปทรงกลม ทรงรี หรือเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร เปลือกนอกบาง กลางผลมีร่องตื้น ๆ ตามยาว ส่วนผนังผลชั้นในมีลักษณะแข็ง ผลเมื่อแก่จะเป็นสีแดงถึงสีม่วงดำ และก้านผลยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดปลาไหลเผือกเป็นรูปรี

ภาพจาก : pantip.com

สรรพคุณและประโยชน์ของปลาไหลเผือก

  1. รากใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย คนเดินป่านิยมกันนัก เพราะจะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง อดทน ช่วยคลายอาการปวดเมื่อย ป้องกันและรักษาไข้ป่าในระหว่างการเดินทาง (ราก) ส่วนทางภาคใต้จะใช้ทั้งแก่นและรากนำมาต้มกับน้ำกินวันละ 3-4 ครั้ง และช่วงก่อนนอนเป็นยาโด๊ปชั้นยอดที่ช่วยบำรุงกำลังและบำรุงสมรรถภาพทางเพศ ทำให้เลือดไหลเวียนดี (แก่นและราก)
  2. ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าคือส่วนของราก)
  3. ช่วยรักษาความดันโลหิตสูง (ราก)
  4. รากมีรสขม เบื่อเมาเล็กน้อย ใช้เป็นยาถ่ายพิษต่าง ๆ ทุกชนิด ถ่ายฝีในท้อง ถ่ายพิษไข้ พิษเสมหะ และโลหิต (ราก) รากปลาไหลเผือก ใช้ผสมกับรากย่านางแดงและพญายา นำมาฝนกับน้ำกินเป็นยาขับพิษ (ราก)
  5. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ทุกชนิด แก้ไข้เรื้อรัง เป็นยาลดไข้ แก้ไข้มาลาเรีย ไข้จับสั่น ตัดไข้ทุกชนิด ตามตำรับยาจะใช้รากแห้งหนักประมาณ 8-15 กรัมหรือครั้งละ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหาร วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (ราก) การใช้เป็นยาตัดไข้ ให้ใช้รากแห้งนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 1 กำมือ แล้วนำมาต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหาร เช้าและเย็น (ราก) ส่วนทางภาคใต้จะใช้รากต้มกินเพื่อป้องกันและรักษาไข้ป่า (ราก)
  6. เปลือกลำต้นนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ไข้จับสั่น แก้ไข้สันนิบาต แก้ไข้พิษ ไข้ทรพิษ แก้ไข้เหือดหัด ไข้กาฬนกนางแอ่น (เปลือกต้น)
  7. ช่วยขับเหงื่อ (ราก)
  8. สำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์มักจะติดเชื้อได้ง่ายและเป็นไข้อยู่บ่อย ๆ ก็อาจจะใช้รากของต้นปลาไหลเผือกนำมาต้มกินก็ได้ (ราก)
  9. ช่วยแก้วัณโรค วัณโรคระยะบวมขึ้น แก้กาฬโรค (ราก)
  10. ใช้รากปลาไหลเผือก รากโลดทะนงแดง และพญาไฟ นำมาฝนกับน้ำกินเป็นยาทำให้อาเจียน ใช้เลิกเหล้า (ราก)
  11. รากใช้ภายนอกเป็นยาพอกแก้อาการปวดศีรษะ (ราก)
  12. ช่วยแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้อาการเจ็บคอ (ราก)
  13. ช่วยรักษาโรคคอพอก ด้วยการใช้ตำรับยาสามราก นำมาฝนกับน้ำมะนาว ใส่เกลือทะเล เติมน้ำใส่ขวดไว้ใช้กินต่างน้ำประมาณ 2 เดือน อาการคอพอกก็จะค่อย ๆ ยุบไป จนหายเป็นปกติ (ราก)
  14. ตำรายาไทยใช้รากเป็นยาแก้ลม (ราก)
  15. ช่วยแก้พิษสำแดง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าคือส่วนของราก)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : medthai



ปฏิกิริยาของคุณ?