มุมมอง
ขมิ้นอ้อย สรรพคุณและประโยชน์
ขมิ้นอ้อย ชื่อสามัญ Zedoary, Luya-Luyahan
ขมิ้นอ้อย ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma zedoaria (Christm.) Roscoe จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
สมุนไพรขมิ้นอ้อย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สากเบือ (ละว้า), ขมิ้นขึ้น (ภาคเหนือ), ว่านเหลือง (ภาคกลาง), ละเมียด (เขมร), ว่านขมิ้นอ้อย, ขมิ้นเจดีย์, หมิ้นหัวขึ้น, สากกะเบือ, เผิงเอ๋อซู๋ (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของขมิ้นอ้อย
ต้นขมิ้นอ้อย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุหลายปีที่มีเหง้าอยู่ใต้ดินและมีรากเล็กน้อยที่บริเวณเหง้า มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับขมิ้นชันแต่มีลำต้นที่สูงกว่า ขนาดเหง้าและใบใหญ่กว่า โดยต้นขมิ้นอ้อยจะมีความสูงประมาณ 1-1.2 เมตร เหง้ามักโผล่ขึ้นมาเหนือดินเล็กน้อย เหมือนเจดีย์ทรงกลมสูงหลายชั้น ๆ (บ้างเรียกว่าขมิ้นขึ้นหรือขมิ้นเจดีย์) ลักษณะของเหง้ามีลักษณะเป็นรูปกลมรี มีความยาวประมาณ 18-24 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-11 เซนติเมตร ผิวด้านนอกเป็นสีขาวอมเหลือง ส่วนเนื้อในเป็นสีเหลืองอ่อน บ้างว่าเป็นสีเหลืองเข้ม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เหง้านำมาปลูก และควรจะปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคม ย่างเข้าฤดูฝน ไม่ควรให้น้ำท่วมขังเพราะจะทำให้เหง้าขมิ้นอ้อยเน่าเสียได้ โดยขมิ้นอ้อยจะงอกงามในช่วงฤดูฝนและจะมีต้นโทรมหัวใหญ่ในช่วงฤดูหนาว
ใบขมิ้นอ้อย ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับรอบลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบแคบ ผิวใบนูนตามลายของเส้นใบ เส้นกลางใบเป็นร่องเล็กน้อย ผิวด้านหน้าเรียบ ส่วนทางด้านท้องใบจะมีขนนิ่มเล็กน้อย ก้านใบเป็นกาบหุ้มกับลำต้น มีความยาวเป็น 1 ใน 3 ของใบ กลางก้านเป็นร่องลึกตลอดความยาว ในหน้าแล้งกาบใบจะแห้งลงหัวแล้วเหง้าจะโผล่ขึ้นมา (จนบางครั้งเราก็เรียกกันว่าขมิ้นหัวขึ้น)
ดอกขมิ้นอ้อย ออกดอกเป็นช่อ ก้านดอกจะยาวและพุ่งออกมาจากเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ช่อดอกมีความยาวประมาณ 14 เซนติเมตร ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ช่อดอกมีใบประดับ และดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน กลีบดอกมีลักษณะกลมเป็นรูปไข่สีเขียว ตรงปลายของช่อดอกจะเป็นสีชมพูหรือสีแดงอ่อน ส่วนดอกสีเหลืองจะบานจากล่างขึ้นบน และจะบานครั้งละประมาณ 2-3 ดอก
ผลขมิ้นอ้อย ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีกลิ่นฉุนน้อยกว่าผลของขมิ้นชัน (ผล)
สรรพคุณและประโยชน์ของขมิ้นอ้อย
- เหง้าขมิ้นอ้อยมีรสเผ็ดขม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับและม้าม ช่วยกระจายโลหิต รักษาอาการเลือดคั่ง หรือเลือดไหลเวียนไม่สะดวก เส้นเลือดในท้องอุดตัน (เหง้า)
- ช่วยแก้โลหิตเป็นพิษ แก้พิษโลหิต ใช้เป็นเป็นยาชำระโลหิต (เหง้า)
- ช่วยลดความดันโลหิต (เหง้า)
- ในเหง้าหรือในหัวสดของขมิ้นอ้อย มีสารหอมชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์เป็นยาบำรุงกำลัง (เหง้า)
- ช่วยแก้อาการหืดหอบหายใจไม่เป็นปกติ (เหง้า)
- เหง้าสดนำมาตำผสมกับการบูรเล็กน้อย นำมาดอง (ไม่แน่ใจว่าดองหรือผสม) กับน้ำฝนกลางหาว ใช้รินเอาแต่น้ำเป็นยาหยอดตา แก้อาการตาแดง ตามัว ตาแฉะ และตาพิการ (เหง้าสด)
- ตำรายาไทยใช้เหง้าเป็นยาแก้ไข้ (เหง้า) ช่วยแก้ไข้ทั้งปวง (เหง้า)
- ใช้รักษาอาการหวัด ด้วยการใช้หัวขมิ้นอ้อย อบเชยเทศ และพริกหาง นำมาต้มแล้วเติมน้ำผึ้งใช้รับประทานเป็นยาแก้หวัด (เหง้า)
- ช่วยแก้อาเจียน (เหง้า)
- ช่วยแก้เสมหะ (เหง้า)
- เหง้าใช้เป็นยาแก้ลม (เหง้า)
- ขมิ้นอ้อยมีฤทธิ์กระตุ้นกระเพาะและลำไส้ให้เกิดการบีบตัว จึงช่วยในการขับลม ช่วยแก้อาการจุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยในการย่อยอาหาร แก้อาการปวดท้อง และแก้อาการปวดลำไส้ได้ (เหง้า)
- เหง้าใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน (ที่ไม่ใช่บิดหรืออหิวาตกโรค) เหง้าสดประมาณ 2 แว่น เมื่อนำมาบดผสมกับน้ำปูนใส สามารถนำมาใช้ดื่มเป็นยารักษาอาการท้องร่วงได้ (เหง้าสด)
- เหง้านำมาหั่นเป็นแว่น ๆ จะใช้สดหรือตากแห้งก็ได้ โดยนำมาต้มกับน้ำเป็นยาดื่มแก้โรคกระเพาะ (เหง้า)
- ช่วยสมานลำไส้ (เหง้า)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : วิถีชีวิตเกษตรพอเพียง