ผักกาดน้ำ สรรพคุณและประโยชน์
ผักกาดน้ำ สรรพคุณและประโยชน์
ต้นผักกาดน้ำ หรือ หญ้าเอ็นยืด จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็กที่มีเนื้ออ่อน มีอายุหลายปี ลำต้นมีความสูงประมาณ 30-120 เซนติเมตร โคนต้นติดอยู่กับดิน รากสั้น แตกแขนงเป็นฝอยมาก พืชชนิดนี้เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีส่วนผสมพิเศษ


ผักกาดน้ำ ชื่อสามัญ Common plantain, Greater plantain, Waybread (ในภาษาอังกฤษคำว่า Plantain จะหมายถึง ต้นกล้วย ซึ่งต้นกล้วยชนิดนี้เมื่อสุกแล้วจะต้องเอาไปเผาถึงจะใช้ปรุงเป็นอาหารได้)

ผักกาดน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Plantago major L. จัดอยู่ในวงศ์เทียนเกล็ดหอย (PLANTAGINACEAE)

สมุนไพรผักกาดน้ำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าเอ็นยืด หญ้าเอ็นหยืด หญ้าเอ็นอืด (เชียงใหม่), หมอน้อย (กรุงเทพฯ), ผักกาดน้ํา ผักกาดน้ำไทย ผักกาดน้ำใหญ่ (ไทย), เชียจ่อยเช่า ตะปุกชี้ ยั้วเช่า ฮำผั่วเช่า เซียแต้เฉ้า (จีน), ต้าเชอเฉียนเฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น

ในพืชวงศ์เดียวกันยังพบอีกพันธุ์คือ ผักกาดน้ำเล็ก ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plantago asiatica L. ซึ่งมีสรรพคุณทางยาที่คล้ายกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ จะแตกต่างกับผักกาดน้ำที่กล่าวถึงในบทความนี้ตรงที่ผักกาดน้ำจะมีขนาดของใบใหญ่กว่า ลำต้นสูงกว่า และมีเมล็ดมากกว่าผักกาดน้ำเล็ก

ลักษณะของผักกาดน้ำ

ต้นผักกาดน้ำ หรือ หญ้าเอ็นยืด จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็กที่มีเนื้ออ่อน มีอายุหลายปี ลำต้นมีความสูงประมาณ 30-120 เซนติเมตร โคนต้นติดอยู่กับดิน รากสั้น แตกแขนงเป็นฝอยมาก พืชชนิดนี้เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีส่วนผสมพิเศษ ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค โดยมักขึ้นตามทุ่งหญ้า พื้นที่โล่งแจ้งที่มีความชุ่มชื้น

ใบผักกาดน้ำ ใบจะแทงขึ้นมาจากใต้ดินคล้ายกับใบผักกาด แต่จะมีก้านใบที่ยาวกว่า ก้านใบยาวเท่ากับแผ่นใบ ใบเป็นใบเรียงสลับ โคนลำต้นมีกาบใบห่อหุ้มอยู่ แผ่นใบผักกาดน้ำมีลักษณะหนาคล้ายกับใบผักคะน้า ใบเป็นรูปไข่กลับและมีขนาดกว้าง โคนใบสอบ ขอบใบเป็นคลื่น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 12-16 เซนติเมตรและยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร มีเส้นใบตามยาวประมาณ 5-7 เส้น โดยลักษณะของใบจะคล้ายกับช้อนสังกะสีขนาดใหญ่ และใบจะแตกออกรอบ ๆ บริเวณต้น ที่เรียกว่าหญ้าเอ็นยืดก็เพราะเมื่อนำก้านใบมาหักแล้วค่อย ๆ ดึงออกจะเห็นเส้นเอ็นยืดออกมา

ดอกผักกาดน้ำ ออกดอกเป็นช่อ โดยช่อดอกจะชูขึ้นมาจากกลางกอ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร และมีดอกย่อยขนาดเล็ก แห้ง เป็นสีเขียวอ่อนหรือสีน้ำตาล และไม่มีก้านดอก

ผลผักกาดน้ำ ผลพบได้ในดอก เป็นผลแห้ง ลักษณะค่อนข้างกลม มีรูปร่างไม่แน่นอน ผลมีขนาดเล็กสีเขียวอมสีน้ำตาลหรือเป็นสีน้ำตาลถึงสีดำ เมื่อสุกแล้วจะแตกออก ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 8-15 เมล็ด หรืออาจมีมากถึง 15 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร

ภาพจาก technologychaoban.com

สรรพคุณและประโยชน์ของผักกาดน้ำ

  1. ทั้งต้นใช้ปรุงเป็นยาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ได้แก่ ดอกเก๊กฮวย ว่านกาบหอย กล้วยหอมดิบ รากบัวหลวง สนหมอก ฯลฯ (ทั้งต้น)
  2. รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กระษัย (ราก)
  3. ใช้แก้ความดันโลหิตสูง ด้วยการใช้ผักกาดน้ำและพลูคาวอย่างละ 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (เข้าใจว่าคือส่วนของต้นและใบ)
  4. ช่วยทำให้ตาสว่าง (เมล็ด)
  5. ช่วยรักษาตาแดงเฉียบพลัน ตาเป็นต้อ (ต้น) แก้ขอบตาเป็นเม็ดบวม (ทั้งต้น)
  6. ทั้งต้นนำไปต้มกับน้ำตาลกรวด ใช้กินเป็นยาแก้อาการร้อนใน แก้เจ็บคอ มีฤทธิ์เป็นยาเย็น (ต้น) ส่วนเมล็ดก็เป็นยาแก้ร้อนในเช่นกัน (เมล็ด)
  7. ช่วยแก้ไอหวัด หลอดลมอักเสบ (ต้น) ช่วยขับเสมหะ แก้อาการไอ (เมล็ด)รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ราก)
  8. ใบใช้ต้มกินเป็นยาแก้เลือดกำเดาไหล (ใบ)
  9. ช่วยขับน้ำชื้น (ต้น)
  10. ช่วยแก้ท้องร่วง (ทั้งต้น)[4] ต้นใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ (ต้น)
  11. แก้บิด ให้นำมาต้มร่วมกับผักพลูคาว (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
  12. ตำรายาไทยใช้ทั้งต้นเป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว ละลายก้อนนิ่วในไต แก้นิ่วในถุงน้ำดี ขับล้างทางเดินปัสสาวะ แก้ช้ำรั่ว หรือทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ด้วยการใช้ทั้งต้นประมาณ 1 กำมือนำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะใช้ทั้งต้นที่ได้มาใส่ในเครื่องปั่นแล้วปั่นให้ละเอียด นำไปผสมกับน้ำซาวข้าวประมาณ 1 ขวดแม่โขง แล้วนำมาดื่มให้หมดภายใน 1 วัน และให้ดื่มติดต่อกัน 2-3 วัน ก้อนนิ่วจะละลายหลุดออกมาตามท่อปัสสาวะ (ทั้งต้น) ส่วนอีกตำราระบุให้ใช้เมล็ด 500 กรัมนำมาต้มกับน้ำ 3 ลิตร โดยต้มจนเหลือน้ำ 1 ลิตรแล้วนำมาแบ่งกิน 3 ครั้ง เป็นยาขับปัสสาวะ (เมล็ด)
  13. ช่วยแก้ปัสสาวะแดง ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขุ่น (ทั้งต้น) ส่วนเมล็ดก็เป็นยาแก้ปัสสาวะเป็นเลือดเช่นกัน (เมล็ด)
  14. ช่วยแก้กามโรค หนองใน (ทั้งต้น)
  15. มีบางข้อมูลที่ระบุว่าสามารถนำมาใช้เป็นยาบำรุงกำหนัด เพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ โดยใช้ได้ทั้งต้นและใบ แต่ส่วนของใบจะมีสรรพคุณมากที่สุด วิธีก็คือให้นำไปตากแดดให้แห้งแล้วทำเป็นชาชงดื่ม หรือจะกินเป็นผักสดก็ได้ และยังใช้เป็นยาขับประจำเดือนของตรี โดยช่วงที่สรรพคุณตัวยาดีที่สุด คือ ช่วงการออกดอกใหม่ ๆ (ช่วงฤดูฝน) ข้อมูลนี้ไม่ขอยืนยันนะครับ เพราะแหล่งข้อมูลไม่ได้อ้างอิงไว้ว่าเอาข้อมูลมาจากที่ไหน (ใบ)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : healthaddict



ปฏิกิริยาของคุณ?