มุมมอง
เปิดสถิติ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ฮัลโหลหลอกหลอนพุ่ง 270% จากปีก่อน ผงะ คนไทย 95% รับรู้ถึงปัญหา ฝากความหวัง “ตำรวจ-ดีอีเอส-กสทช.” จัดการ ก่อนเปิด Action 2 หน่วยงานล้อมคอก
วันที่ 23 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาสายโทรศัพท์ลึกลับปลอมตัวเป็นหน่วยงานต่าง ๆ โทรเข้ามาหลอกเอาเงินจากประชาชน ยังเป็นปัญหาที่ผู้คนในสังคมพบเจอกันได้บ่อย จนแพร่หลายในโซเชียลมีเดียและกลายเป็นเรื่องปกติ หรือนำมาแชร์กันเป็นเรื่องตลกขบขันไปแล้ว
หลายรายแชร์กลเม็ดเคล็ดลับในการตอบโต้สายโทรศัพท์ลึกลับเหล่านี้ด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะมีแต่การตอบโต้ของชาวโซเชียลฯที่สร้างความขำขันเท่านั้น ผู้คนบางส่วนก็ตกเป็นเหยื่อ หลงกลโอนเงินให้มิจฉาชีพด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่าง 2 เหตุการณ์
- เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 มติชน รายงานว่า น.ส.อนงค์นุช นามวงษา ภรรยานายยมนิล นามวงษา หรือหนุ่มโจ ผู้ก่อตั้งวงดนตรีหมอลำคณะสาวน้อยเพชรบ้านแพง เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พ.ต.ท.จตุรงค์ ดรอ่อนเบ้า สว.(สอบสวน) สภ.โกสุมพิสัย ภายหลังถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงิน รวมเป็นเงินกว่า 2,000,000 บาท
- อีกเหตุการณ์หนึ่ง ไม่นานมานี้ ข่าวสด รายงานว่า วันที่ 19 มีนาคม 2565 นางสิงห์ (นามสมมติ) พ่อค้าขายซาลาเปา ต.ช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ เดินทางเข้าแจ้งความกับ ร.ต.อ.พินัย เหรา รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ หลังถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงินไป 3.7 ล้านบาท
ดังนั้น ปัญหาคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงโอนเงิน จึงไม่ใช่ปัญหาประเภทเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เป็นปัญหาที่อาจจะล้างผลาญทรัพย์สินของประชาชนโดยใช่เหตุด้วย และท่ามกลางความตลกขบขันเหล่านี้ เรากลับไม่เห็นว่าภาครัฐจะมีปฏิบัติการเชิงรุกในการคว้านหา-จับกุมแก๊งเหล่านี้มาดำเนินคดีแต่อย่างใด
ฮัลโหลหลอกลวงพุ่ง 270% สูญกว่า 100 ล้าน
ตามรายงานของแอปพลิเคชัน Whoscall แอปฯ ที่คนมักโหลดไว้เพื่อดูว่า สายโทรศัพท์แปลก ๆ ที่โทรเข้ามาหรือข้อความ SMS ที่ส่งเข้ามือถือเป็นใคร เปิดเผยรายงานปี 2564 ว่า ในปี 2564 มีการใช้โทรศัพท์เพื่อหลอกลวงในประเทศไทยกว่า 6.4 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 270% จากปีก่อนหน้า ขณะที่ ข้อความ SMS หลอกลวงยังเพิ่มขึ้นถึง 57%
และในปี 2564 จำนวนการโทร และข้อความหลอกลวงทั่วโลก มีถึง 460 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 58% จากปีที่แล้ว ซึ่งการหลอกลวงลักษณะนี้ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังการแพร่ระบาดโควิด-19
ผู้บริหารของแอปฯ วิเคราะห์ว่า ในปี 2564 การโทรหลอกลวงมีความแนบเนียนมากขึ้น และมีความถี่สูงขึ้น
โดยพบว่า สายโทรเข้าจากมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น การโทรที่อ้างว่ามาจากคอลเซ็นเตอร์บริการจัดส่งสินค้า เริ่มรุนแรงมาตั้งแต่เดือนเมษายน ถือเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 ส่งผลให้เหยื่อสูญเสียเงินมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท
นอกจากนี้ การฉ้อโกงอีกแบบที่ได้รับการรายงานจากผู้ใช้ Whoscall คือ การโทรศัพท์ที่อ้างว่ามาจากตำรวจ โดยกล่าวหาว่าผู้ใช้มีส่วนร่วมในอาชญากรรม เช่น การฟอกเงิน เป็นต้น
คนไทยเคยเจออื้อ 95%
สอดคล้องกับ ผลการสำรวจของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 สำรวจความเห็นประชาชน 1,221 ตัวอย่าง เรื่อง “มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ภัยสังคม ณ วันนี้” กลุ่มตัวอย่าง 40.19% ระบุว่า เคยพบเห็นการโทรเข้ามาของแก๊งคอลเซ็นเตอร์จากสื่อ, 32.87% ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนพบเจอ และ 21.02% พบเจอด้วยตัวเอง
ส่วนผู้ที่ไม่เคยเจอเลยมีจำนวน 5.92% เท่ากับว่าตัวอย่างกว่า 95% ล้วนเคยพบเจอปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์
เมื่อถามว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นภัยสังคมหรือไม่ กลุ่มตัวอย่าง 86.9% ยืนยันว่าเป็นปัญหาอย่างมาก และมีเพียง 12.93% ที่บอกว่าค่อนข้างเป็นปัญหาสังคม และ 0.17% ที่มองไม่เป็นปัญหาเลย
ส่วนสาเหตุที่ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนัก ส่วนใหญ่ 76.09% มองว่า เพราะมีวิธีการหลอกลวงที่ทันสมัยและไม่ต้องแสดงตัวตน รองลงมา 69.04% มองว่ามีเครือข่ายข้ามชาติหนุนหลัง และ 66.26% มองว่ามาจากผลประโยชน์
เมื่อถามว่าหน่วยงานใดสามารถแก้ปัญหาได้ กว่า 80.88% มองว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะแก้ปัญหาได้ รองลงมาเป็น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
โดนหลอกแล้ว แจ้งใครดี?
สิ่งที่หลายคนคงอยากทราบว่า หลังปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนักขนาดนี้ หากพบเจอจะแจ้งหน่วยงานใดได้บ้าง? ตอบได้ทันทีว่า หน่วยงานหลักที่ต้องดูแลจัดการคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งนอกจากการไปแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้านแล้ว สตช. ก็ได้เพิ่มช่องทางในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนด้วย
ซึ่งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 สตช.ได้ร่วม MOU กับสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก รวม 21 ธนาคาร ในโครงการระบบรับแจ้งความออนไลน์อาชญากรรทางเทคโนโลยีผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com สามารถแจ้งความผ่านทั้งระบบคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน
ขั้นตอนการแจ้งความ มีดังนี้
- ลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน กรอกข้อมูลทางคดี ตามขั้นตอน
- เมื่อแล้วเสร็จ ผู้แจ้งจะได้รับ “เลขรับแจ้งความออนไลน์ หรือ Case ID” เช่น 65021 จะมีผู้บริหารการรับแจ้ง (Admin) และผู้บริหารคดี (Case Manager) วิเคราะห์ข้อมูล และส่งเรื่องต่อไปยังสถานีตำรวจที่ผู้แจ้งสะดวกในการเดินทางไปแจ้งความ
- สถานีตำรวจที่ได้รับเรื่องจะเริ่มกระบวนการสืบสวนในทันทีที่ได้รับข้อมูลจากระบบรับแจ้งความออนไลน์
- เมื่อ Admin ของสถานีตำรวจรับเรื่องแล้ว ก็จะนำเสนอผู้บริหารคดี เพื่อจ่ายคดีให้แก่พนักงานสอบสวนทำการโทรนัดหมายผู้แจ้ง หรือผู้เสียหายมาสอบปากคำ และรายงานความคืบหน้าทางคดีในระบบออนไลน์
- ผู้เสียหายจะสามารถติดตามความคืบหน้า ส่งข้อมูลเพิ่มเติม หรือสอบถามปัญหาผ่านระบบได้ตลอดเวลา
กสทช.ผนึก 6 ค่ายล้อมคอก
ส่วนการป้องกันและกำกับดูแล หน่วยงานหลักที่ดูแล “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” ซึ่งเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขา กสทช. เปิดเผยว่า กำชับผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ (IDD) ทั้ง 6 ราย ได้แก่ AIS, TRUE, AIN, DTAC, OTARO และ NT กำหนดมาตรการ ดังนี้
- ระงับสายโทร.เข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบของเบอร์ที่โทร.เข้ามาเป็นเบอร์โทรศัพท์บ้าน เบอร์โทรศัพท์สั้น 3 หลัก และเบอร์โทรศัพท์สั้น 4 หลัก ของประเทศไทย ที่โทร.มายังเลขหมายปลายทางของประเทศไทย
- ะงับสายโทร.เข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบของเบอร์ที่โทร.เข้ามาเป็นรหัสโทรศัพท์ประจำประเทศ (Country Code) ที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ยังไม่ได้จัดสรรให้กับประเทศใด
- กรณีที่สายโทร.เข้ามาจากต่างประเทศไม่ได้มีการกำหนดเลขหมายต้นทาง (Non Calling Line Identification) ให้ดำเนินการเพิ่มเครื่องหมาย +66 นำหน้าเบอร์โทรศัพท์ เพื่อให้ประชาชนทราบว่าเป็นการโทร.เข้ามาจากต่างประเทศ
- ตรวจสอบสายโทร.เข้ามาจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ว่ามีการดัดแปลงเลขหมายหรือไม่ ด้วยระบบ Test Call Generator (TCG) อย่างต่อเนื่อง
แม้จะมีการกำหนดหน่วยงานที่ทำหน้าที่ “ปราบปราม” และ “ป้องกัน” ชัดเจน แต่ไม่รู้ว่าหลังจากนี้ ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามหลอกโอนเงินจะซาลงหรือไม่ คงต้องรอการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังของหน่วยงานทั้งสองว่า จะทำได้ไหม ทำได้หรือเปล่า?
- ปิ๋ม ซีโฟร์ อำนวยการสร้าง MV #อย่าโอน ดีเอสไอสั่งทำ สกัดแก๊งคอลเซนเตอร์
- ดีอีเอสแนะวิธีป้องกันกลโกงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน
- ชำแหละ 14 กลโกง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ กสทช. เร่งแก้ปัญหาต่อ
อ่านข่าวต้นฉบับ: แก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาด พุ่ง 270% ตำรวจ-กสทช. ล้อมคอก