Exotic Pet สัตว์เลี้ยงพิเศษ ที่อยากชวนมาทำความรู้จัก
Exotic Pet สัตว์เลี้ยงพิเศษ ที่อยากชวนมาทำความรู้จัก
เคยเห็น Exotic Pet กันไหม? เราอยากชวนคุณมาทำความรู้จักสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ที่ถูกจำกัดความว่าเป็น "สัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ"


เมื่อ Pet แปลว่า "สัตว์เลี้ยง"
แล้ว Exotic Pet คืออะไร?

อธิบายสั้น ๆ Exotic Pet ก็คือ "สัตว์แปลก" หรืออีกความหมายหนึ่งในภาษาไทยแปลว่า "สัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ" และตามตำราของสัตวแพทย์ให้คำจำกัดความถึงสัตว์เลี้ยงชนิดใดก็ได้ ที่ไม่ใช่สุนัขและแมว (ในชนิดปกติ) ไม่นับรวมสัตว์ในภาคปศุสัตว์

จากความหมายที่ว่ามาทั้งหมด บางคนอาจจะนึกไม่ออกว่า Exotic Pet นั้นมีอะไรบ้าง?

แต่ถ้าเอ่ยถึงชื่อเหล่านี้ล่ะ!

อูฐ, อัลปาก้า (Alpaca), ม้าแคระ, วัวแคระ, นกฟลามิงโก (Flamingo), เฟนเน็คฟ็อกซ์ (Fennec Fox) และกระต่ายแองโกล่า (Angora Rabbit)

 


เราต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี แม้จะเป็นสัตว์เหมือน ๆ กัน แต่ด้วย "ความแปลก" จึงทำให้สัตว์เหล่านี้ถูกจัดอยู่ในประเภทสัตว์เลี้ยงพิเศษ หรือ Exotic Pet นั่นเอง

Exotic Pet สามารถจำแนกออกเป็น 6 กลุ่ม

  1. กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน เช่น อีกัวน่า, กิ้งก่า beard dragon
  2. กลุ่มสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น poison frog, Salamander
  3. กลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น ด้วง
  4. กลุ่มสัตว์ปีก เช่น นกคอคคาเทล, นกแก้วมาคอร์
  5. กลุ่มปลาแปลก
  6. กลุ่มเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น กระต่าย เฟอเรท แฮมสเตอร์

ความเกี่ยวข้องของ Exotic Pet กับ "กฎหมายของไทย" นั้น แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม

     1. กลุ่มที่เป็นสัตว์ต่างถิ่น คือ มิได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย สัตว์กลุ่มนี้ การนำเข้าส่งออกจะอยู่ภายใต้อนุสัญญาไซเตส ซึ่งมีการระบุชัดเจนว่า ชนิดพันธุ์ใดสามารถนำเข้าโดยไม่ต้องอนุญาตนำเข้า (non-CITES), ชนิดพันธุ์ใดสามารถเลี้ยงและครอบครองได้ แต่ต้องมีการขออนุญาตนำเข้า(CITES ii) และชนิดใดไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปครอบครอง(CITES i) เว้นแต่สวนสัตว์หรือหน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเท่านั้น โดยสัตว์ชนิดนี้ เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการนำเข้าแล้ว จะไม่มีข้อผูกพันกับ พ.ร.บ.สัตว์ป่าคุ้มครองของไทย เนื่องจากไม่มีรายชื่อปรากฏใน พ.ร.บ.สัตว์ป่าคุ้มครองของไทย แต่จัดว่าเป็นสัตว์เลี้ยง จึงต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ เฉกเช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงในภาคปรกติทั่วไป

     2. กลุ่มสัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย หากไม่มีรายชื่อใน พ.ร.บ.สัตว์ป่าคุ้มครองของไทย ผู้เลี้ยงสามารถเลี้ยงได้โดยปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์

 

 


สำหรับสัตว์ที่มีรายชื่อใน พ.ร.บ.สัตว์ป่าคุ้มครองของไทย ผู้เลี้ยงจะต้องมีเอกสาร สป.2
(ในกรณีที่นำสัตว์จากป่า หรือสัตว์มิได้อยู่ในรายชื่อสัตว์ป่าที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้) และเอกสาร สป.9 (ในกรณีที่เป็นสัตว์ในกลุ่มที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้ และเกิดจากสถานที่เพาะพันธุ์ที่ได้รับใบอนุญาต)

by Thai PBS Photo



ปฏิกิริยาของคุณ?