เล่าเรื่องหนัง By ติสตู : Sky Ladder ศิลปะแห่ง ‘ไช่กั๋วเฉียง’ (ตอนจบ)
เล่าเรื่องหนัง By ติสตู : Sky Ladder ศิลปะแห่ง ‘ไช่กั๋วเฉียง’ (ตอนจบ)
สัปดาห์ก่อนเล่าถึงหนังสารคดี “Sky Ladder : The Art of C […] The post เล่าเรื่องหนัง By ติสตู : Sky Ladder ศิลปะแห่ง ‘ไช่กั๋วเฉียง’ (ตอนจบ) appeared first on มติชนออนไลน์.


สัปดาห์ก่อนเล่าถึงหนังสารคดี “Sky Ladder : The Art of Cai Guo-Qiang” ที่เผยให้เห็นถึงประวัติความเป็นมา วิธีคิดและวิธีทำงานของศิลปินชาวจีน “ไช่กั๋วเฉียง” ศิลปินร่วมสมัยระดับโลกที่มีชื่อเสียงจากการสร้างสรรค์ศิลปะพลุดอกไม้ไฟ โดยมีผลงานกึกก้องในการจัดแสดงตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก รวมทั้งงานมหกรรมสำคัญของจีนทั้งพิธีเปิดโอลิมปิกที่ปักกิ่ง ปี 2008 และการจัดแสดงพลุในพิธีเปิดประชุมเอเปคเมื่อปี 2014 โดยนอกจากงานพลุดอกไม้ไฟแล้ว อีกหนึ่งผลงานของ “ไช่กั๋วเฉียง” คือการเป็นเจ้าของเอกลักษณ์การนำดินระเบิดมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ตื่นตาตื่นใจ

หนังสารคดีพาไปดูชีวิตตั้งแต่วัยเด็กของเขาในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมเหมาเจ๋อตุง กระทั่งเติบโตและหันเหไปทำงานศิลปะใช้ชีวิตในญี่ปุ่นและต่อมาได้ปักหลักเป็นศิลปินที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกอยู่ในนิวยอร์ก

สัปดาห์ก่อนได้เล่าทิ้งท้ายถึงผลงานที่เขาภูมิใจที่สุดในชีวิตในฐานะ “ผลงานส่วนตัว” ที่พยายามมาอย่างยาวนานถึง 22 ปี กับโปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า “Sky Ladder” หรือ “บันไดไต่ฟ้า” ซึ่ง “ไช่กั๋วเฉียง” รักและอยากจะทำให้เกิดขึ้นได้จริงมากที่สุด แต่จนแล้วจนรอดก็ทำไม่สำเร็จ ผลงาน Sky Ladder เขาต้องการจะสร้างสรรค์ดอกไม้ไฟรูปทรงขั้นบันไดสูงทอดยาวขึ้นไปบนฟ้า โดยตัวขั้นบันไดจะใช้บัลลูนดึงขึ้น ซึ่งโปรเจ็กต์นี้ต้องใช้ความพยายามทั้งด้านวิศวกรรม งานเทคนิค งานวางแผน การเตรียมวัสดุที่เหมาะสม และที่สำคัญ พื้นที่และสภาพอากาศที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งปรากฏว่าเขาต้องผ่านความล้มเหลวมาถึง 3 ครั้ง

ยิ่งเมื่อคิดได้ว่านี่คือความพยายามอย่างแรงกล้าเพื่อแสดงผลงานที่ผู้คนจะได้เห็นแค่ 150 วินาทีเท่านั้น ก็น่าสนใจว่าเขากำลังท้าทายกับการสร้างผลงานยิ่งใหญ่ แต่ให้จบลงไปอย่างไม่ยึดติดใดๆ เช่นที่ Sky Ladder คือโปรเจ็กต์ที่ “ไช่กั๋วเฉียง” ต้องการนำเสนอในแนวคิดกึ่งปรัชญา นั่นคือเชื่อม “โลก” กับ “จักรวาล” ด้วยบันไดพลุดอกไม้ไฟ ซึ่งภาพที่เขาจินตนาการไว้ก็คือ บันไดดอกไม้ไฟที่ระเบิดเป็นสาย ตรงดิ่งขึ้นไปบนท้องฟ้า

โดยสารคดีได้พาไปดูฟุตเทจต่างๆ ของ “ไช่กั๋วเฉียง” ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามครั้งแรกตั้งแต่ยังวัยหนุ่มที่ตั้งใจจะสร้าง Sky Ladder ที่เมืองบาธ ประเทศอังกฤษ ในปี 1994 แต่ทำไม่สำเร็จ แม้จะเริ่มเดินหน้าไปได้บางส่วนแล้ว ตัวโปรเจ็กต์มีความคืบหน้าไปอย่างมาก แต่สุดท้ายต้องถูกยกเลิก เพราะสภาพอากาศไม่อำนวย

ความพยายามครั้งที่สองเกิดที่เซี่ยงไฮ้ในปี 2001 แต่ก็ต้องยกเลิกอีก เพราะเป็นช่วงที่เกิดเหตุตึกเวิลด์เทรดถล่ม ทำให้โปรเจ็กต์ของเขาสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างความหวั่นเกรงทางความรู้สึกจากสถานการณ์ภัยคุกคามก่อการร้ายช่วงนั้น

ผ่านมาร่วม 10 ปี ความพยายามสร้างบันไดไต่ฟ้าหนที่สามเกิดขึ้นที่ลอสแองเจลีสในปี 2012 ซึ่งเขาได้ออกแบบภาพวิดีโอจำลองที่แสดงให้เห็นพลุบันไดที่สว่างไสวดูตระการตา แต่ต่อมาโปรเจ็กต์ถูกถอนใบอนุญาต เพราะทางการกลัวไฟป่าจากพลุดอกไม้ไฟ

ดูเหมือนความฝันในโปรเจ็กต์ส่วนตัวของเขาจะเงียบหายไปในที่สุด ขณะที่เวลาผ่านไปนับทศวรรษเขาได้สร้างสรรค์ผลงานพลุดอกไม้ไฟ และภาพวาดดินระเบิด สะสมชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่โปรเจ็กต์ Sky Ladder ก็ยังคงเป็นความฝันที่ “ไช่กั๋วเฉียง” ยังทำไม่สำเร็จ

พร้อมกับเมื่อเวลาล่วงเลยไปเขายังต้องเผชิญกับสถานการณ์การเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จย่อมต้องมีอีโก้ เขารับมือและบริหารอีโก้นี้อย่างไร ซึ่งเป็นเฉกเช่นกับที่ศิลปินดังๆ ที่มีผลงานประสบความสำเร็จทั้งในด้านศิลปะและพาณิชย์ศิลป์หลายคนประสบ เพราะเมื่อไปถึงจุดจุดหนึ่ง มีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับการยอมรับระดับโลกมากพอ มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี การคิดใคร่ครวญถึง “ศิลปะที่แท้จริง” และเจตนาดั้งเดิมของพวกเขาคืออะไร

ว่ากันว่าเมื่อศิลปินเข้าถึงภาวะนี้ ก็มักจะเจอกับคำถามและข้อกังขาของผู้คนมากมาย ยิ่งศิลปินประสบความสำเร็จมาก สถานการณ์ก็ยิ่งจะอันตรายมาก และ “ไช่กั๋วเฉียง” ก็อยู่ในจุดที่ตั้งคำถามกับการทำงานศิลป์โดยเป็นตัวของตัวเองเช่นกัน ซึ่งวิธีของเขาคือ การลงไปคลุกคลีทำงานกับศิลปินมือสมัครเล่นและท้องถิ่นให้มากที่สุด เพื่อมองและสะท้อนตัวตนรากเหง้า และกลับสู่ผลงานที่จะช่วยดึงตัวตนเริ่มแรกของเขากลับมา

ความพยายามจะสร้าง “Sky Ladder” หนที่สี่ในปี 2016 จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง และครั้งนี้มันจะไม่เอิกเกริกโด่งดังอะไร แต่เขาต้องการสร้างผลงานที่พาเขาหวนกลับสู่ตัวตนดั้งเดิมอีกครั้ง “ไช่กั๋วเฉียง” จึงเลือกทำผลงานชิ้นนี้ที่หมู่บ้านชาวประมง เมืองฉวนโจวบ้านเกิดของเขาเอง โดยมีย่าผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวเป็นแรงบันดาลใจในวาระที่ย่าของเขาเวลานั้นกำลังจะมีอายุครบ 100 ปี เขาจึงต้องการทำโปรเจ็กต์นี้ให้กับย่า ที่เปรียบเหมือนตัวแทนวัยเด็ก และตัวแทนเมืองบ้านเกิดของเขาเอง

หนังสารคดีพาไปดูการเตรียมโปรเจ็กต์ที่ต้องลุ้นว่าครั้งนี้จะทำได้สำเร็จหรือไม่ เพราะสภาพอากาศไม่เป็นใจ และยังถือเป็นโปรเจ็กต์ที่เขาเอาเงินมาเผาทิ้งในเวลาโชว์ผลงานเพียง 150 วินาทีเท่านั้น โดยที่เขาปรับสเกลงานให้เป็นรูปแบบผลงานส่วนตัวที่จะรับชมร่วมกับญาติ ผู้คน ชุมชนในท้องถิ่น โดยไม่ได้เชิญแขกคนสำคัญที่ไหนมาร่วมงาน

สารคดีพาไปดูความสำเร็จของเขา กับความพยายามอันยาวนานของโปรเจ็กต์ที่ยากที่สุดในชีวิต เพื่อสร้างศิลปะที่ได้ดูสดกับตาเห็นเพียงไม่กี่นาทีนั้น ฟังดูเป็นความบ้าของศิลปินคนหนึ่ง ซึ่งหลายผลงานของ “ไช่กั๋วเฉียง” ที่ได้นำเสนอศิลปะพลุดอกไม้ไฟสุดอลังการ ใช้เทคนิคพิเศษและการออกแบบที่สวยงามนั้นก็เป็นการแสดงที่วูบวาบอลังการสะกดสายตาก่อนจะมลายหายไปในเวลาไม่นาน เหลือไว้แต่ความประทับใจ การจดจำ หรือนัยหนึ่งคือการไม่ยึดติดกับความสำเร็จใดๆ แม้จะผ่านความพยายามอันยาวนาน เช่นที่เขาบอกเสมอในทุกการเริ่มโปรเจ็กต์ของเขาว่า “ศิลปะไม่มีคำว่าล้มเหลวหรือสำเร็จ แต่อยู่ที่เราจะท้าทายตัวเองอย่างไรต่อไป”

The post เล่าเรื่องหนัง By ติสตู : Sky Ladder ศิลปะแห่ง ‘ไช่กั๋วเฉียง’ (ตอนจบ) appeared first on มติชนออนไลน์.



ปฏิกิริยาของคุณ?