ผักหวานป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Melientha suavis Pierre จัดอยู่ในวงศ์ OPILIACEAE (เป็นวงศ์พิเศษที่ยังไม่มีผักหรือผลไม้ชนิดใดที่อยู่ในวงศ์นี้)
ผักหวานป่า บางครั้งก็เรียกว่า ผักหวาน มีเรียกแปลกไปบ้างเฉพาะจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งจะเรียกผักหวานป่าว่า "ผักวาน" (เข้าใจว่าคงเพี้ยนมาจากผักหวานนั่นเอง) ส่วนประเทศลาวจะเรียกว่า "Hvaan" กัมพูชาเรียกว่า "Daam prec" เวียดนามเรียกว่า "Rau" มาเลเซียเรียกว่า "Tangal" และประเทศฟิลิปปินส์เรียกว่า"Malatado"
หมายเหตุ : ผักหวานชนิดนี้เป็นผักหวานคนละชนิดกับผักหวานที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sauropus androgynus (L.) Merr. หรือที่ทั่วไปเรียกว่า "ผักหวานบ้าน"
ผักหวานป่า เป็นผักพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในพื้นที่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เนื่องจากเป็นผักที่มีรสชาติหวานอร่อย แต่หารับประทานได้ค่อนข้างยากเพราะผักชนิดนี้จะให้ผลผลิตในบางช่วงฤดูกาลเท่านั้น คือในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน และส่วนใหญ่จะเก็บมาจากป่า แต่ในปัจจุบันได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกผักหวานป่าเพื่อการค้ากันมากขึ้น ทำให้ในหลาย ๆ พื้นที่มีผลผลิตออกจำหน่ายมากขึ้น โดยแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญในประเทศไทยอยู่ที่จังหวัดสระบุรี และพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ผักหวานป่าสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ยอดเหลืองและพันธุ์ยอดเขียว โดยพันธุ์ยอดเขียวจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าและเร็วกว่าพันธุ์ยอดเหลือง และลักษณะโดยรวมของทั้งสองสายพันธุ์ก็ดูจะไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นทรงพุ่ม กิ่ง และแขนงใบ หากไม่สังเกตดี ๆ ก็จะมองไม่ออก มีคนสงสัยกันว่าผักหวานป่ากับผักหวานบ้านนั้นเป็นพืชชนิดเดียวกันหรือไม่ คำตอบก็คือพืชทั้งสองชนิดนี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือเป็นพืชในตระกูลเดียวกันแม้แต่น้อย เพียงแต่มีชื่อเรียกที่พ้องกันเท่านั้น
ลักษณะของผักหวานป่า
ต้นผักหวานป่า มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 4-11 เมตร เปลือกต้นเรียบ กิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมสีน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้มีความแข็ง เป็นพืชผลัดใบตามฤดูกาล จึงเก็บสะสมอาหารไว้ที่รากและลำต้น นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มักจะพบต้นผักหวานป่าได้ตามป่าเบญจพรรณในที่ราบหรือเชิงเขาที่มีความสูงไม่เกิน 600 เมตรจากระดับน้ำทะเล และโดยปกติจะชอบขึ้นอยู่บนดินร่วนปนทราย
ใบผักหวานป่า ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรียาว ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบสอบเรียว ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อแก่แล้วจะเป็นสีเขียวเข้ม มีก้านใบยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร
ดอกผักหวานป่า ออกดอกเป็นช่อยาว ก้านช่อดอกยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร โดยจะออกจากกิ่งหรือตามซอกใบ ใบประดับดอกเป็นรูปไข่ปลายแหลม ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนก้านดอกเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะมีกลีบสีเขียวอ่อน เกสรสีเหลือง ส่วนดอกเพศเมียจะมีกลีบดอกเป็นสีเขียวเข้ม และก้านดอกจะสั้นกว่าดอกเพศผู้ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม
ผลผักหวานป่า ผลเป็นผลเดี่ยวอยู่บนช่อยาวที่เป็นช่อดอกเดิม ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-1.7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.3-3 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มหรือสีแดง ส่วนก้านผลจะยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร
สรรพคุณและประโยชน์ของผักหวานป่า
- ผักหวานป่าเป็นอาหารและยาประจำฤดูร้อนที่ช่วยแก้อาการของธาตุไฟได้ตามหลักแพทย์แผนไทย
- ใบและรากมีสรรพคุณแก้อาการปวดศีรษะ (ใบและราก)
- รากมีรสเย็น เป็นยาแก้ไข้ สงบพิษไข้ (ราก) ส่วนยอดใช้ปรุงเป็นยาเขียวลดไข้ ลดความร้อน (ยอด)
- รากเป็นยาเย็น สรรพคุณเป็นยาแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้กระสับกระส่าย (ราก) รากใช้ต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาเย็นแก้พิษร้อนใน (ราก) ส่วนยอดมีรสหวานกรอบช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ระบายความร้อน (ยอด)
- ยางใช้กวาดคอเด็ก แก้ลิ้นเป็นฝ้าขาว (ยาง)
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ใบและราก)
- รากใช้ต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้อาการปวดมดลูกของสตรี (ราก)
- รากใช้ต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้น้ำดีพิการ (ราก)
- ช่วยแก้ดีพิการ แก้เชื่อมมัว (ราก)
- ใช้รักษาแผล (ใบและราก)
- ช่วยแก้อาการปวดในข้อ (ใบและราก)
- ใช้แก่นของต้นผักหวาน นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้อาการปวดตามข้อหรือปานดง (แก่น)
- ใช้ต้นผักหวานกับต้นนมสาวเป็นยาเพิ่มน้ำนมแม่หลังการคลอดบุตรได้ (ต้น)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : kapook