ชุมเห็ดไทย สรรพคุณและประโยชน์
ชุมเห็ดไทย ชื่อสามัญ Foetid cassia, Sickle senna
ชุมเห็ดไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna tora (L.) Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia tora L.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)
สมุนไพรชุมเห็ดไทย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พรมดาน พราดาน (สุโขทัย), หญ้าลึกลืน หญ้าลักลืน (ปราจีนบุรี), เล็นเค็ด (มหาสารคาม), เล็บหมื่นน้อย ลับมืนน้อย เล็บมื่นน้อย (ภาคเหนือ), ชุมเห็ดควาย ชุมเห็ดเขาควาย ชุมเห็ดนา ชุมเห็ดเล็ก เล็บมื่นน้อย เล็บมื้น (ภาคกลาง), กิเกีย หน่อปะหน่าเหน่อ หน่อปะหน่ำเหน่อ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ก๊วกเม้ง เอียฮวยแซ (จีน), เจี๋ยหมิงจื่อ (จีนกลาง) เป็นต้น
ลักษณะของชุมเห็ดไทย
ต้นชุมเห็ดไทย จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุราว 1 ปี ต้นมีความสูงประมาณ 0.3-1.3 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นประมาณ 12.3-17.4 มิลลิเมตร ลำต้นเป็นสีเขียวอมสีน้ำตาลแดง ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก เป็นทรงพุ่ม ตามลำต้นและกิ่งก้านมีขนอ่อนปกคลุมอยู่เต็มไปหมด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยมักพบขึ้นเองตามริมคลอง ตามที่รกร้าง หรือตามริมทางทั่วไป
ใบชุมเห็ดไทย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 คู่ ตรงกลางใบย่อยที่ติดเชื่อมกันนั้นจะพบว่ามีตุ่มตารองน้ำ 1 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบมนและมีติ่งหนาม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบมีรอยหยักแบบขนครุย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.19-2.69 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4.27-5.17 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเรียบเนียนไม่มีขน ท้องใบมีขนละเอียดอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่หนาแน่น ใบมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย ก้านใบมีร่องลึก ก้านใบยาวประมาณ 2.71-3.99 เซนติเมตร ไม่มีขน มีหูใบแบบเข็มแหลมสีเขียว 2 อัน ยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร
ดอกชุมเห็ดไทย ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 2.71-4.03 เซนติเมตร ในช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 2-4 ดอก ดอกเป็นสีเหลืองสด มีกลีบดอก 5 ดอก และมีกลีบเลี้ยงสีเขียวอีก 5 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน และมีรังไข่เป็นเส้นยาวงอโค้งเล็กน้อยและมีขนปกคลุม ส่วนปลายเกสรเพศเมียจะเป็นตุ่มสั้น ๆ ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีขนปกคลุม โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน
ผลชุมเห็ดไทย ออกผลเป็นฝักยาวโค้งเล็กน้อย ฝักจะแบนทั้งสองด้าน ฝักมีความยาวประมาณ 15-24 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และปกคลุมไปด้วยขนอ่อนนุ่มสั้น ๆ ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 20-30 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลเหลือง สีน้ำตาล หรือสีเขียวอมเทา ผิวเมล็ดเรียบ เงาเป็นมัน เมล็ดมีลักษณะแข็งและแบน หน้าตัดเฉียงเป็นรูปสีเหลี่ยมขนมเปียกปูน มองเห็นเหมือนเป็นจะงอยอีกด้านหนึ่งของเมล็ด เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-6 มิลลิเมตร เมล็ดมีรสชาติขมเมา มีกลิ่นเฉพาะตัว หอมเล็กน้อย
ภาพจาก : honestdocs.co
สรรพคุณและประโยชน์ของชุมเห็ดไทย
- เมล็ดมีรสขมหวานชุ่ม เป็นยาเย็น โดยออกฤทธิ์ต่อตับและไต ช่วยทำให้เลือดเย็น (เมล็ด)
- ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (เมล็ด)
- เมล็ดนำมาคั่วชงกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงประสาท (เมล็ด) ส่วนใบหรือรากก็เป็นยาบำรุงประสาทเช่นกัน (ใบ, ราก)
- เมล็ดใช้เป็นยาระงับประสาท (เมล็ด)
- ช่วยทำให้นอนหลับสบาย ทำให้ง่วงนอน แก้อาการนอนไม่หลับ ด้วยการใช้เมล็ดชุมเห็ดไทยนำมาคั่วให้เกรียมคล้ายเมล็ดกาแฟ แล้วนำมาบดเป็นผง ใช้ชงกับน้ำร้อนดื่ม จะให้รสหอมชุ่มชื่นใจดี ไม่ทำให้หัวใจสั่น (เมล็ด) ส่วนใบก็แก้อาการนอนไม่หลับได้เช่นกัน (ใบ)
- ช่วยบำรุงกำลัง (ใช้เมล็ดคั่วชงกับน้ำดื่ม)
- เมล็ดคั่วชงกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่น (เมล็ด) ส่วนผลหรือฝักชุมเห็ดไทยก็มีสรรพคุณบำรุงหัวใจเช่นกัน (ผล)
- ช่วยแก้กระษัย (ใช้เมล็ดคั่วชงกับน้ำดื่ม)
- เมล็ดใช้เป็นยาแก้เด็กเป็นตานขโมย ด้วยการใช้เมล็ดแห้ง 10 กรัม ตับไก่ 1 คู่ นำมาบดผสมกับเหล้าขาวเล็กน้อย แล้วปั้นเป็นก้อนนำมานึ่งให้สุกและใช้รับประทาน (เมล็ด)
- เมล็ดใช้คั่วกับน้ำดื่มเป็นยาลดความดันชั่วคราว (เมล็ด) โดยใช้เมล็ดแห้ง 15 กรัม (บ้างว่าใช้ 30 กรัม) นำมาคั่วให้เกรียมบดเป็นผง ใช้ชงกับน้ำดื่มแทนน้ำชาจะช่วยลดความดันโลหิตได้ (เมล็ด) ส่วนใบก็ช่วยลดความดันโลหิตได้เช่นกัน (ใบ)
- ช่วยรักษาอาการตาบวมแดง ตาฝ้ามัว ตาฟาง (เมล็ด) หากตาฝ้ามัว (ที่ไม่ได้เกิดจากโรคติดเชื้ออื่นใด) ให้ใช้เมล็ด 2 ถ้วยชานำมาบดเป็นผงรับประทานกับข้าวต้มเป็นประจำ และห้ามรับประทานร่วมกับปลา เนื้อหมู ต้นหอม และซิงไฉ่ (Rorippa Montana (Wall.) Small.) หากตาฟาง ให้ใช้เมล็ดแห้ง 60 กรัมและเมล็ดโคเชีย (Kochia scoparia (L.) Schrad.) แห้ง 30 กรัม นำมาบดเป็นผงรับประทานหลังอาหารครั้งละ 3 กรัม[9] หากเยื่อตาอักเสบแบบเฉียบพลัน ก็ให้ใช้เมล็ดชุมเห็ดไทยแห้งและเก๊กฮวยอย่างละ 10 กรัม, บักชัก (Equisetum hiemale L.) 6 กรัม และมั่งเก๊กจี้ (Vitex rotundifolia L.) 6 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (เมล็ด)
- ทั้งต้นช่วยทำให้ตาสว่าง (ทั้งต้น) ส่วนอีกตำราระบุว่าใช้เมล็ดชุมเห็ดไทยนำมาคั่วให้เกรียม ผสมกับคนทีสออย่างละเท่ากัน นำมาบดเป็นผง ใช้ครั้งละประมาณ 5-6 กรัม นำมาชงกับน้ำรับประทาน 2 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน (เมล็ด) หรือจะใช้เมล็ดแห้ง 1 ถ้วยชา มั่งเก๊กจี้ (Vitex rotundifolia L.) แห้ง 1 ถ้วยชา และเหล้าอย่างดีอีก 1 ถ้วยชา นำมาต้มจนเหล้าแห้งแล้วบดให้เป็นผง ใช้ดื่มกับน้ำอุ่นหลังอาหารและก่อนนอนครั้งละ 6 กรัม วันละ 4 ครั้ง (เมล็ด)
- ทั้งต้นและใบใช้ประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ (ทั้งต้นและใบ)
- ใบใช้เป็นยารักษาโรคไข้มาลาเรีย (ใบ)
- ทั้งต้นมีรสเมา ใช้ปรุงเป็นยาแก้ไข้ ไข้หวัด (ทั้งต้น, ต้นและราก, ใบ, ราก, เมล็ด, หากเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ให้ใช้ทั้งต้นหรือใบแห้งประมาณ 15-30 กรัม หากใช้สดให้เพิ่มอีก 1 เท่าตัว ใช้ผสมกับชะเอมต้มน้ำดื่ม (ใบ, ทั้งต้น) ส่วนตำรายาไทยจะใช้เมล็ดหรือราก โดยมักใช้คู่กับหญ้าขัด ในกรณีที่เป็นไข้ มีอาการปวดศีรษะและสันนิบาต (เมล็ด, ราก)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : dnp.go.th