ภาพจาก sanook.com
เคล็ดลับดูแลมดลูกให้แข็งแรง
การมีสุขภาพที่ดี สมบูรณ์แข็งแรงถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง และมดลูกก็เป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้หญิง ดังนั้นเราจึงอย่ามองข้ามการดูแลมดลูกให้แข็งแรงเป็นอันขาด วันนี้เรามีเคล็ดลับการดูแลมดลูกที่ถูกต้องมาฝากกัน ไปดูพร้อมๆ กันเลยดีกว่าค่ะ
มดลูกคืออวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย หากร่างกายแข็งแรง โลหิตจะไหลเวียนไปเลี้ยงได้เต็มที่ ทำให้มดลูกแข็งแรง การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เช่น การดูแลน้ำหนักตัวให้ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ผอมหรืออ้วนจนเกินไป การนอนหลับให้เพียงพอ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักและผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8 แก่ว และงดการดื่มเหล้า สูบบุหรี่
ภาพจาก แพทย์ทางเลือก.com
- ดูแลสุขภาพใจให้แข็งแรง ความเครียดทำให้มดลูกไม่ปกติ เพราะระบบฮอร์โมนผิดปกติ ประจำเดือนจึงมาไม่ปกติ การลดความเครียดมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น รู้จักปลงตก มองโลกในแง่บวก หัวเราะทุกวัน ใช้ชีวิตพอเพียง ประหยัด พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ให้อภัยผู้อื่น มีจุดมุ่งหมายในชีวิต
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำให้ภูมิต้านทานดี กล้ามเนื้อหัวใจและปอดแข็งแรง สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดี ช่วยป้องกันมดลูกอักเสบและมดลูกต่ำ ควรออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ จ๊อกกิ้ง เต้นแอโรบิก โยคะ เป็นต้น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 วัน ครั้งและประมาณครึ่งชั่วโมง
- ระวังการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทำให้เกิดอาการตกขาว ปวดท้องน้อย มีไข้ มดลูกอักเสบ แม้รักษาหายก็ยังมีอาการปวดมดลูก ปวดประจำเดือน มีตกขาวเรื้อรัง ไข้ทับระดู ไม่ตั้งครรภ์ หรือตั้งครรภ์นอกมดลูก การหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จึงเป็นสิ่งสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้มดลูกดี ดังนั้นควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งกับคนที่ไม่รู้จักไม่รู้ใจหรือไม่แน่ใจ
- ขมิบเพื่อบริหารอุ้มเชิงกรานอย่างสม่ำเสมอ การขมิบคือ การเกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (เหมือนการกลั้นอุจจาระ ปัสสาวะ) วิธีการคือ ให้เกร็งค้างไว้ นับ 1 – 5 แล้วผ่อนคลาย อาจทำต่อเนื่องกันหรือแบ่งเป็นครั้งละ 20 – 30 ชุดก็ได้ จะทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรง และมดลูกไม่ต่ำ
- ไม่ยกของหนัก การยกของหนักทำให้มดลูกต่ำ กระเพาะปัสสาวะกระทบกระเทือน หากจำเป็นต้องยกของหนักควรปัสสาวะก่อน
- ตรวจร่างกายและตรวจภายในเป็นประจำ แม้ว่าเราจะแข็งแรง ก็ควรตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ เพื่อค้นหาโรคในระยะเริ่มแรก โรคภัยไข้เจ็บมีผลต่อมดลูกไม่มากก็น้อย เช่น โรคเบาหวาน อาจทำให้มดลูกอักเสบ ติดเชื้อ เป็นเชื้อรา และโรคเรื้อรังอื่นๆ อย่างความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ โรคตับ โรคไต อาจทำให้มีการตกเลือด ประจำเดือนมามากหรือกะปริบกะปรอย รวมไปถึงการตรวจภายใน โดยตรวจวินิจฉัยและรักษาการอักเสบ ติดเชื้อในช่องคลอด ปากมดลูก จนทำให้มดลูกไม่ดีได้ ทั้งยังสามารถตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการผิดปกติของมดลูกได้แต่เนิ่นๆ เช่น เนื้องอกธรรมดาของโพรงมดลูก เนื้องอกธรรมดาของมดลูก และเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ก่อนลงเอยด้วยการตัดมดลูก
ไม่กินสมุนไพร ยาสตรี หรืออาหารเสริมที่มีฮอร์โมนเพศหญิงเป็นประจำ โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
- เนื่องจากมดลูกเป็นอวัยวะภายในสตรีที่ไวต่อฮอร์โมนมาก การกินฮอร์โมนเพศหญิง จึงเป็นการเพิ่มการอักเสบของมดลูก ทำให้มดลูกโต เนื้องอก มดลูกขยายขนาด และเกิดโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุของมดลูกไม่ดี อาจทำให้ไม่สามารถมีลูกได้ และอาจต้องตัดมดลูก
ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร WomanPlus