สังคมไทยของเราทุกวันนี้กำลังก้าวเข้าสู่ยุคไอที...ที่นอกจากจะนำมาซึ่งเทคโนโลยีการสื่อสารที่เจริญก้าวหน้าแล้ว ยังมาพร้อมกับการแพร่ระบาดของอินเตอร์เนต และเกมส์ออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากกับลูกหลานของเรา เชื่อว่าคงมีพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยที่กำลังปวดหัวกับลูกหลานในบ้านที่ติดเนตหรือเกมส์คอมพิวเตอร์ วันๆ เอาแต่นั่งอยู่หน้าจอไม่สนใจการเล่าเรียน ลองอ่านบทความนี้กันดูนะคะ เผื่อจะได้ไอเดียดีๆ เอาไปแนะนำหรือปรับใช้กับลูกหลานของคุณ
ปัญหาเรื่องเด็กติดเกมส์ถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในบ้านเมืองก็มิได้เพิกเฉย เมื่อประมาณอาทิตย์กว่าๆ ที่ผ่านมา สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ในสังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดการอบรมพิเศษสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกติดเกมส์ ซึ่งคอร์สนี้ประกอบไปด้วยการสัมมนาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง 1 วันเต็ม และการออกค่ายพักแรมสำหรับครอบครัวที่ลูกๆ เพิ่งจะเริ่มติดเกมส์ ไปจนถึงการบำบัดฟื้นฟูต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน สำหรับรายที่ติดเกมส์อย่างรุนแรง ก็ปรากฏว่ามีบรรดาคุณพ่อคุณแม่ที่สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนไม่น้อยเลยค่ะ
คุณพ่อท่านหนึ่งเล่าให้ฟังด้วยความวิตกกังวลถึงลูกชายวัย 13 ขวบ ซึ่งเคยเป็นเด็กเรียนดี และชอบเล่นกีฬาเป็นชีวิตจิตใจ แต่ลูกชายเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปหลังจากที่ไปติดเกมส์ออนไลน์ยอดฮิตในหมู่วัยรุ่นที่ชื่อ "แร็กนาร็อค" ผลการเรียนของลูกตกลงอย่างมาก และอาจถึงขั้นต้องออกจากโรงเรียน ถ้าเกรดเฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์ นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กล่าวถึงปัญหาเด็กติดเกมส์ว่า เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยอาการของเด็กที่ติดเกมส์นั้นจะแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ ระดับเริ่มต้น ระดับปานกลาง และระดับรุนแรง"วัยรุ่นที่ติดเกมส์แต่ละรายนั้น นอกจากจะต้องการการดูแลอย่างเหมาะสมจากจิตแพทย์แล้ว ยังต้องการกำลังใจและความเข้าใจอย่างมากจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่ใกล้ชิด"นพ.บัณฑิตกล่าวว่า สถาบันฯ ตระหนักดีถึงปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่หลั่งไหลเข้ามาสู่สังคมไทย ปัจจุบันพบว่าเด็กส่วนมากที่ติดคอมพิวเตอร์จะมีอายุระหว่าง 11-14 ปี ไปจนถึงที่กำลังศึกษาในชั้น ม.4-ม.6 เด็กวัยรุ่นชายส่วนใหญ่จะติดเกมส์ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและการต่อสู้ที่เสมือนจริง ในขณะที่เด็กวัยรุ่นหญิงจะชอบคุยหรือ Chat กับคนแปลกหน้าทางอินเตอร์เนต บางคนจะนั่งอยู่หน้าจอทั้งวันทั้งคืนโดยไม่สามารถบังคับตัวเองให้กลับไปสนใจการเรียน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ตามปกติได้ นพ.บัณฑิต เรียกอาการเหล่านี้ว่าเป็น "Computer Vision Syndrome" ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ติดเกมส์มีอาการปวดตา ปวดศีรษะ และ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สำหรับบางรายที่มีอาการติดเกมส์ขั้นรุนแรง ก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็ก และทำให้ความสามารถในการเรียนรู้เสื่อมถอยลง หลังจากที่ได้เล่นเกมส์ต่อเนื่องเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์
นักจิตวิทยาเด็กจากกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำแนะนำแก่พ่อแม่ที่ประสบปัญหาทำนองนี้ไว้ค่ะ ว่าให้พยายามทำความเข้าใจกับลูก และค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมของเขาโดยการใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากขึ้น และพยายามหากิจกรรมที่สมาชิกในครอบครัวทุกคนสามารถทำร่วมกันได้ เช่นการเล่นกีฬาในวันหยุดสุดสัปดาห์"คำชมและการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าการใช้อารมณ์ หรือลงโทษลูกอย่างรุนแรง แม้ว่าอาจจะต้องใช้เวลานานสักหน่อย"นายวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในการอบรมพ่อแม่ผู้ปกครองครั้งนี้ไว้ด้วยค่ะว่า ขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรมกำลังทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการร่างกฎหมายเพื่อให้มีการจดทะเบียนร้านอินเตอร์เนตคาเฟ่ที่กำลังเปิดบริการอยู่ทั่วประเทศ และเพื่อควบคุมการเข้าถึงสื่อลามกผ่านทางเว็บไซต์และโทรศัพท์มือถือนอกจากนี้กระทรวงวัฒนธรรมยังขอความร่วมมือมายังคุณพ่อคุณแม่ ให้มาช่วยกันตรวจจับเว็บไซต์ลามก โดยสามารถเข้าไปดาวน์โหลดโปรแกรมเว็บการ์ดนี้ได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงฯ ซึ่งหากได้รับรายงานเกี่ยวกับเว็บใดที่ไม่ชอบมาพากล เจ้าหน้าที่จะได้ทำการปิดเว็บไซต์นั้นๆ และดำเนินการกับผู้จัดทำเว็บได้ในทันทีที่ร่างกฎกระทรวงผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เห็นไหมคะว่าเรื่องเด็กติดเกมส์นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย คุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่เจอกับปัญหานี้อยู่ ก็อย่านิ่งดูดายหรือมองข้ามไปนะคะ เพราะมันมีอิทธิพลกับลูกของคุณไม่น้อยเลย พยายามแก้ไขอย่างใจเย็น ด้วยความเข้าใจ อย่าใช้อารมณ์นะคะ สถานการณ์น่าจะดีขึ้นได้ ทีมงานเราขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ
ขอขอบคุณ ที่มา : นิตยสาร Modern Mom ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต