ติ้วเกลี้ยง สรรพคุณและประโยชน์
ติ้วเกลี้ยง ชื่อวิทยาศาสตร์ Cratoxylum cochinchinense (Lour.) Blume ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ติ้ว (HYPERICACEAE)
สมุนไพรติ้วเกลี้ยง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ติ้วส้ม (คนเมือง), กุ่ยฉ่องบ้าง (กะเหรี่ยง-ลำปาง), ติ้วแดง (สุรินทร์), ขี้ติ้ว ติ้วใบเลื่อม (ภาคเหนือ), ติ้วหม่น, ลำติ้ว (ลั้วะ), ตุ๊ดจรึ่ม (ขมุ) เป็นต้น
ลักษณะของติ้วเกลี้ยง
ต้นติ้วเกลี้ยง จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของลำต้นได้ถึง 30 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ด เปลือกสีเทาอมน้ำตาล เปลือกต้นด้านในเป็นสีเหลืองอ่อน มีน้ำยางเหนียวสีเหลืองออกสีแดงซึมออกมาเมื่อถูกตัด และลำต้นยังมีหนามแหลมยาวแข็งเป็นเนื้อไม้ออกตามลำต้น สามารถพบได้ในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ที่ระดับความสูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลไปจนถึงความสูงประมาณ 700 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดเพาะกล้า
ใบติ้วเกลี้ยง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม (อาจพบบ้างที่ปลายทู่หรือกลม) โคนใบสอบหรือมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีความกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4.5-10 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะบางคล้ายกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายกับแผ่นหนัง แผ่นใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ด้านล่างมักมีนวล เส้นแขนงของใบมีอยู่ข้างละ 10-18 เส้น ปลายเชื่อมกันก่อนถึงขอบใบ และมีก้านใบยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร
ดอกติ้วเกลี้ยง ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกประมาณ 2-5 ดอก โดยจะออกดอกตามซอกใบหรือตามปลายกิ่ง ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศ มีใบประดับขนาดเล็ก ร่วงหลุดได้ง่าย ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ โดยจะแยกเป็น 2 วง ได้แก่ กลีบเลี้ยงวงนอก 3 กลีบ ตรงกลางของกลีบวงนอกเป็นสีม่วงแดง ขอบสีเขียว และขนาดของกลีบจะใหญ่กว่ากลีบเลี้ยงวงในเล็กน้อย และกลีบเลี้ยงวงในมี 2 กลีบ เป็นกลีบสีเขียว ลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ แยกออกจากกัน เป็นสีส้มหรือส้มแดง ลักษณะกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ผิวกลีบเกลี้ยง มีเส้นสีม่วงแดงถึงสีดำตามยาว ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมากเชื่อมติดกันเป็น 3 กลุ่ม สลับกับกลุ่มของเกสรตัวผู้ที่ไม่สมบูรณ์ 3 ก้าน ลักษณะเป็นก้อน อวบน้ำ มีสีเหลือง ส่วนรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบเลี้ยง มี 3 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุลอยู่จำนวนมาก ส่วนก้านเกสรตัวเมียมี 3 ก้าน แยกออกจากกัน
ผลติ้วเกลี้ยง ผลเป็นแบบผลแห้งแตก ลักษณะของผลเป็นรูปวงรี ผลแข็งเกลี้ยงและเป็นมัน มีขนาดกว้างประมาณ 7-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 10-12 มิลลิเมตร ผลมีกลีบเลี้ยงติดทนหุ้มอยู่ประมาณ 2 ใน 3 ของความยาวผล ผลเมื่อแก่จะแตกตามรอยประสานออกเป็น 3 พู ภายในผลมีเมล็ดอยู่ประมาณ 6-8 เมล็ดต่อพู เมล็ดเป็นลักษณะมีปีกแบนและบางใส โดยจะออกดอกและผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม
ภาพจาก facebook.com / ChumchnKhnRaksPhrrnMi
สรรพคุณและประโยชน์ของติ้วเกลี้ยง
- ต้นหรือรากติ้วเกลี้ยงใช้ผสมกับลำต้นกำแพงเจ็ดชั้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กระษัยเส้นและเป็นยาระบาย (ต้น, ราก)
- ใบอ่อนและยอดอ่อนใช้รับประทาน มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ใบ)
- ช่วยรักษาอาการเสียดท้องหรืออาการที่เกี่ยวกับลำไส้ (เปลือกต้น)
- น้ำยางจากเปลือกที่เปลี่ยนเป็นสีแดงใช้เป็นยารักษาโรคหิด (ยาง)
- ใบอ่อนและยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวค่อนข้างฝาด ใช้รับประทานเป็นผักสด รับประทานกับลาบหรือน้ำพริก หรือรับประทานร่วมกับอาหารพื้นเมืองของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- เปลือกต้นใช้สกัดทำสีย้อมผ้า
- เนื้อไม้ติ้วเกลี้ยงสามารถนำมาใช้สร้างบ้าน ทำกระดาน ทำเสา ฟืน และถ่านได้
- เนื้อไม้ยังใช้เป็นเชื้อเพลิงทำฟืนสำหรับจุดไฟต้มยาให้สตรีหลังคลอดบุตรที่อยู่ไฟ เพราะมีควันไม่เหม็น อีกทั้งเนื้อไม้ยังติดไฟได้ดีมากอีกด้วย
- ชาวมาเลเซียจะใช้เปลือกต้นและใบของติ้วเกลี้ยงมาผสมกับน้ำมันมะพร้าวเพื่อช่วยบำรุงผิวพรรณ
- ต้นติ้วเกลี้ยงสามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ โดยความสนใจของพันธุ์ไม้ชนิดนี้ก็คือ เป็นต้นไม้มีขนาดที่ปรับตัวได้ตามพื้นที่ที่ปลูก มีสีสันเมื่อใบแก่และอ่อน ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดรูปกรวยคว่ำดูสวยงาม ใช้ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาได้ดีแม้ผลัดใบ อีกทั้งยังมีดอกที่สวยงามแม้มีขนาดเล็ก
- บางข้อมูลระบุว่ามีการนำพันธุ์ไม้ชนิดนี้มาใช้สำหรับทำเครื่องสำอาง (ไม่ได้ระบุว่าส่วนไหน ใช้ทำเครื่องสำอางอะไร)
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)
ภาพจาก : treeofthai