โกงกางเขา สรรพคุณและประโยชน์

ต้นโกงกางเขา จัดเป็นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 3-15 เมตร และมักเกาะอาศัยอยู่บนต้นไม้อื่น ๆ มีรากอากาศคล้ายกับต้นไทร เปลือกต้นเป็นสีเทา เรียบและบาง ส่วนเปลือกชั้นในเป็นสีขาว โดยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โกงกางเขา สรรพคุณและประโยชน์

โกงกางเขา ชื่อวิทยาศาสตร์ Fagraea ceilanica Thunb. จัดอยู่ในวงศ์ดอกหรีดเขา (GENTIANACEAE)

สมุนไพรโกงกางเขา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ฝ่ามือผี (มหาสารคาม, เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), คันโซ่ (อุบลราชธานี), ติดตังนก (หนองคาย), โกงกางเขา (จันทบุรี), โพดา (ปัตตานี), เทียนฤาษี (ภาคเหนือ), นางสวรรค์ นิ้วนางสวรรค์ (ภาคใต้), ชบาเขา, บัวนาค เป็นต้น

หมายเหตุ : จากที่ได้ทำการศึกษาเรื่องโกงกางเขา มีบางข้อมูลระบุว่า โกงกางเขา ได้ถูกเปลี่ยนชื่อทางการค้าใหม่ให้เป็นชื่อ “แก้วมุกดา” แต่เมื่อนำชื่อดังกล่าวไปค้นหากลับพบว่ามีชื่อวิทยาศาสตร์ไม่เหมือนกับโกงกางเขา (มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Fagraea racemosa Javanica หรือ Fagraea blumeana) ผู้เขียนจึงไม่แน่ใจว่าเป็นไม้ชนิดเดียวกันหรือไม่

ลักษณะของโกงกางเขา

ต้นโกงกางเขา จัดเป็นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 3-15 เมตร และมักเกาะอาศัยอยู่บนต้นไม้อื่น ๆ มีรากอากาศคล้ายกับต้นไทร เปลือกต้นเป็นสีเทา เรียบและบาง ส่วนเปลือกชั้นในเป็นสีขาว โดยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงประเทศอินโดนีเซีย (อินเดีย ศรีลังกา ลาว พม่า เวียดนาม มาเลเซีย จีนตอนใต้ และในหมู่เกาะไต้หวันทางตอนใต้) ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค โดยพบขึ้นในป่าดงดิบและตามซอกหินริมหน้าผา บ้างก็ว่าพบได้ตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา

ใบโกงกางเขา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีถึงรูปขอบขนาน ปลายใบมนจนถึงแหลม ส่วนโคนใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนาและเหนียว ใบแก่หนาอุ้มน้ำ เรียบเกลี้ยง เส้นใบตรงข้างเลือนรางมาก และมีเส้นใบประมาณ 4-7 คู่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-9 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-23 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1-3.5 เซนติเมตร และตามซอกใบยังมีหูใบหนาเชื่อมเป็นวงแหวน หนาประมาณ 1-2 มิลลิเมตร

ดอกโกงกางเขา ออกดอกเป็นช่อเชิงลด ออกเป็นช่อสั้น ๆ บริเวณปลายกิ่งหรือซอกใบ มีขนาดประมาณ 4-8 เซนติเมตร กลีบของดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน เชื่อมติดกันเป็นรูปปากแตร ส่วนปลายแยกออกเป็น 5 พู โค้งไปด้านหลัง บางครั้งปลายกลีบอาจแตกเป็นฝอย มีกลิ่นหอม ช่อดอกอาจยาวได้ถึง 8 เซนติเมตร แต่ละดอกมีเกสรตัวผู้ 5 อัน ติดอยู่กับคอหลอดกลีบ ไม่โผล่พ้นหรือยื่นออกมา ส่วนชั้นกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 0.8-2.7 เซนติเมตร แยกออกเป็นพูป้าน ๆ และลึกมากกว่าครึ่งหนึ่งของชั้น

ผลโกงกางเขา ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือทรงรี ผลมีขนาดประมาณ 2.5-4.5 เซนติเมตร ผลเป็นสีขาวหม่นแกมสีเขียว ผลเป็นมัน เหนียว ปลายผลมีก้านเกสรตัวเมียติดอยู่ มีลักษณะเป็นจะงอยแหลมยาว ส่วนโคนผลมีชั้นกลีบเลี้ยงหุ้มอยู่ ผลเมื่อสุกจะเป็นสีม่วงเข้มถึงสีดำ เกลี้ยง เนื้อในผลนิ่มฉ่ำน้ำ และมีเมล็ดในผลมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปไข่ โดยเมล็ดมีขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร

ภาพจาก th.wikipedia.org

สรรพคุณและประโยชน์ของโกงกางเขา

  1. ตามตำรายาพื้นบ้านอีสาน จะใช้รากโกงกางเขานำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต
  2. กิ่ง เปลือกต้น หรือราก สามารถนำมาต้มกับน้ำอาบแก้อาการผดผื่นคันจากยางของต้นรักได้ (กิ่ง, เปลือกต้น, ราก)
  3. ช่วยแก้ลมพิษ โดยใช้ กิ่ง เปลือกต้น หรือราก นำมาต้มกับน้ำอาบ (กิ่ง, เปลือกต้น, ราก)
  4. ต้นโกงกางเขามีดอกสวย มีกลิ่นหอมและใบที่ดูสวยงาม จึงสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.)
ภาพจาก : pantip