ทองกวาว สรรพคุณและประโยชน์
สมุนไพร ทองกวาว ชื่อสามัญ Bastard teak, Bengal kino, Kino tree, Flame of the forest
สมุนไพร ทองกวาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Butea monosperma (Lam.) Taub. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)
สมุนไพรทองกวาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จาน (อุบลราชธานี), จ้า (สุรินทร์), ทองต้น (ราชบุรี), ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ (ภาคกลาง), กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ), ดอกจาน (ภาคอีสาน), จอมทอง (ภาคใต้), กวาวต้น เป็นต้น
ลักษณะของทองกวาว
ต้นทองกวาว มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียใต้ จากประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย ศรีลังกา เนปาล บังกลาเทศ ปากีสถาน อินเดีย และในแถบทางภาคตะวันตกของอินโดนีเซีย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 12-18 เมตร กิ่งอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลหนา ลักษณะของการแตกกิ่งก้านจะเป็นไปในทิศทางที่ไม่เป็นระเบียบ ส่วนเปลือกต้นจะเป็นปุ่มปม ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือการใช้กิ่งปักชำ
ใบทองกวาว ลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบเรียงสลับ ใบย่อยที่ปลายรูปไข่ กลีบแกมสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ส่วนใบย่อยด้านข้างจะเป็นรูปไม่เบี้ยว มีความกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร มีความยาวประมาณ 17 เซนติเมตร
ดอกทองกวาว ออกดอกเป็นช่อคล้ายกับดอกทองหลาง ดอกมีสีแดงส้มหรือแสด มีความยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร มีดอกย่อยเกาะกันเป็นกลุ่ม เมื่อดอกบานจะมีกลีบ 5 กลีบ และจะออกดอกมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
ผลทองกวาว ลักษณะของผลเป็นฝักแบน ฝักมีสีเขียวอ่อนและจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองเมื่อแก่เต็มที่ ที่ฝักมีขนอ่อนนุ่มสีขาวเป็นมัน ฝักโค้งงอเล็กน้อย ไม่แตก ส่วนด้านบนหนาแตกเป็น 2 ซีก ในฝักมีเมล็ดขนาดเล็กอยู่ภายใน 1 เมล็ด ฝักมีความยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร
ภาพจาก disthai.com
สรรพคุณและประโยชน์ทองกวาว
- รากทองกวาวมีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุ (ราก)
- รากทองกวาวใช้ต้มรักษาโรคประสาท (ราก)
- ดอกทองกวาวใช้ต้มดื่มช่วยถอนพิษไข้ได้ (ดอก)
- ช่วยแก้กระหายน้ำ (ดอก)
- ช่วยสมานแผลปากเปื่อย (ดอก)
- แก่นสามารถใช้ทาแก้อาการปวดฟันได้ (แก่น)
- ดอกใช้หยอดตาแก้อาการตาแดง เจ็บตา ปวดตา ระคายเคืองตา ตามัว ตาแฉะ ตาฟาง (ดอก)
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ยาง)
- ทองกวาวมีสรรพคุณช่วยแก้อาการท้องขึ้น (อาการท้องอืดเพราะลมในกระเพาะอาหารเฟ้อขึ้น) (ใบ)
- ฝัก ใบ หรือเมล็ด นำมาต้มเอาแต่น้ำใช้เป็นยาขับพยาธิหรือพยาธิตัวกลม (ฝัก, ใบ, เมล็ด)
- ใช้บำบัดพยาธิภายใน (เมล็ด)
- ดอกใช้ต้มดื่มช่วยขับปัสสาวะ (ดอก)
- ใบช่วยรักษาริดสีดวง (ใบ)
- ดอกหรือใบใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้ปวดได้ (ดอก, ใบ)
- เมล็ดนำมาบดผสมกับมะนาว นำมาทาบริเวณที่เป็นผดผื่นแดง อักเสบ
ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : prayod