เข็มป่า (เข็มโคก) สรรพคุณและประโยชน์

ต้นเข็มป่า จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงของต้นได้ถึง 5 เมตร ต้นมีลักษณะเป็นทรงเรือนยอดแผ่กว้างระเกะระกะ เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอมชมพู เปลือกมีหลุดลอกบ้างเล็กน้อย กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม

เข็มป่า (เข็มโคก) สรรพคุณและประโยชน์

เข็มป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Pavetta indica L. จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)

สมุนไพรเข็มป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เข็มโคก (ภาคอีสาน), ไก่โหล (ลีซอ-แม่ฮ่องสอน), ลำโป๊ะ (ลั้วะ) เป็นต้น

หมายเหตุ : ผู้เขียนเข้าใจว่าเข็มป่าในบทความนี้เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับ ต้นเข็มป่า ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ixora Cibdela Craib. (สามารถอ่านได้ที่บทความ เข็มตาไก่) และ ต้นข้าวสารป่า ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pavetta tomentosa Roxb. ex Smith. (ชื่อท้องถิ่น เข็มป่า เข็มแพะ เข็มขาว กระดูกงูเหลือม) ซึ่งทั้ง 3 ชนิดมีสรรพคุณทางยาที่คล้ายคลึงกัน

ลักษณะของเข็มป่า

ต้นเข็มป่า จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงของต้นได้ถึง 5 เมตร ต้นมีลักษณะเป็นทรงเรือนยอดแผ่กว้างระเกะระกะ เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอมชมพู เปลือกมีหลุดลอกบ้างเล็กน้อย กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม

ใบเข็มป่า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามแบบสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-22 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบมีขนนุ่มสีขาว ใบแก่เรียบบางหรือมีขนห่าง ๆ มีก้านใบยาวประมาณ 0.6-3.5 เซนติเมตร

ดอกเข็มป่า ออกดอกเป็นช่อตั้ง โดยจะออกที่ปลายยอด ช่อดอกเป็นช่อแบบหลวม ๆ ดอกย่อยเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอม มีขนาดประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร บางครั้งแต้มไปด้วยสีม่วงหรือสีเขียวที่ปลายกลีบ ดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวเล็ก ๆ ปลายกลีบดอกแหลม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว มีลักษณะเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 4 แฉก

ผลเข็มป่า ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือแบนเล็กน้อย มี 2 พู ผลมีขนาดประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเกลี้ยงและเป็นมัน เนื้อผลบาง ผลเป็นสีเขียวและจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่ ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล 2 เมล็ด

ภาพจาก : homeest.com

สรรพคุณและประโยชน์ของเข็มป่า

  1. ดอกมีรสฝาดเย็น ช่วยแก้ตาแดง ตาแฉะ (ดอก)
  2. เปลือกต้นมีรสเมาเบื่อ นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำใช้เป็นยาหยอดหูฆ่าแมงคาเข้าหู (เปลือกต้น)
  3. ใบใช้เป็นยารักษาโรคในจมูก (ใบ)
  4. ผลมีรสเมาเบื่อ เป็นยาแก้ริดสีดวงงอกในจมูก (ผล)
  5. รากมีรสเฝื่อน เป็นยาแก้เสมหะในทรวงอกและในท้อง (ราก)
  6. โคนต้นและรากนำไปต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย (โคนต้นและราก)
  7. รากนำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้บิด (ราก)
  8. ใบมีรสเมาเบื่อ ใช้เป็นยาฆ่าพยาธิ (ใบ)
  9. ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร (ใบและราก)
  10. ใบและรากใช้เป็นยาพอกฝี (ใบและราก)
  11. ใบและรากใช้เป็นยารักษาโรคหิด (ใบและราก)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : homeest