กระดูกไก่ดำ สรรพคุณและประโยชน์

ต้นกระดูกไก่ดำ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 90-100 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสีแดงเข้มถึงสีดำหรือเป็นสีม่วง เกลี้ยงมัน ลักษณะของลำต้นและกิ่งเป็นปล้องข้อ ดูคล้ายกับกระดูกไก่ โดยมีขนาดข้อของลำต้นยาวประมาณ 2.5-3 นิ้ว ส่วนข้อของปล้องกิ่งยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว ตามลำต้น

กระดูกไก่ดำ สรรพคุณและประโยชน์

กระดูกไก่ดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Justicia gendarussa Burm.f. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gendarussa vulgaris Nees, Justicia gandarussa L.f.) จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)

สมุนไพรกระดูกไก่ดำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระดูกดำ (จันทบุรี), ปองดำ แสนทะแมน (ตราด), เฉียงพร้า (สุราษฎรณ์ธานี), กุลาดำ บัวลาดำ (ภาคเหนือ), เกียงพา เกียงผา เฉียงพร้าบ้าน เฉียงพร้าม่าน เฉียงพร้ามอญ เฉียงพร่าม่าน ผีมอญ สันพร้ามอญ สำมะงาจีน (ภาคกลาง), โอกุด๊ดอื้งติ้น (จีน), ปั๋วกู่ตาน อูกู่หวางเถิง (จีนกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของต้นกระดูกดำ

ต้นกระดูกไก่ดำ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 90-100 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสีแดงเข้มถึงสีดำหรือเป็นสีม่วง เกลี้ยงมัน ลักษณะของลำต้นและกิ่งเป็นปล้องข้อ ดูคล้ายกับกระดูกไก่ โดยมีขนาดข้อของลำต้นยาวประมาณ 2.5-3 นิ้ว ส่วนข้อของปล้องกิ่งยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว ตามลำต้น กิ่งก้าน และใบมีสีแดงเรื่อ ๆ ต้นกระดูกดำเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำและวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ดีในดินที่ร่วนซุย มักขึ้นเองตามริมลำธารในป่าดงดิบ

ใบกระดูกไก่ดำ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงคู่ ใบมีลักษณะเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเรียบไม่มีหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-14 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเงาเป็นสีเขียวเข้ม หน้าใบเป็นสีเขียวสด ส่วนหลังใบเป็นสีเหลืองอมสีเขียว มีเส้นกลางใบเป็นสีแดงอมดำ ส่วนก้านใบสั้น

ดอกกระดูกไก่ดำ ออกดอกเป็นช่อบริเวณส่วนยอดของต้นหรือบริเวณปลายกิ่ง ในช่อหนึ่ง ๆ จะมีความยาวประมาณ 2-3 นิ้ว ดอกมีลักษณะเป็นหลอดเล็ก ๆ ปลายดอกแยกออกเป็นกลีบ กลีบดอกเป็นสีขาวอมเขียวแกมสีชมพู โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกเป็นกลีบบนและกลีบล่าง กลีบดอกมีลักษณะโค้งงอนเหมือนช้อน ข้างในหลอดดอกมีเกสรเพศผู้ 2 ก้าน โผล่พ้นขึ้นมาจากหลอด

ผลกระดูกไก่ดำ ผลมีลักษณะเป็นฝัก มีความยาวประมาณ 1.3-1.5 เซนติเมตร

ภาพจาก : stem.in.th

สรรพคุณและประโยชน์ของกระดูกไก่ดำ

  1. ที่มาเลเซียและอินโดนีเซียจะนำใบมาต้มกับน้ำกินเป็นยาบำรุงโลหิต (ใบ)
  2. ใบสดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำมาดื่มเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ ส่วนในมาเลเซียและอินโดนีเซียจะนำใบสดมาตำผสมกับหัวหอมและเมล็ดเทียนแดง แล้วนำมาพอกแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)
  3. ใบสดนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำมาดื่มเป็นยาแก้โรคหืด (ใบ)
  4. ใช้ใบสดนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้ใบนำมาตำผสมกับเหล้าคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ ลดความร้อน ช่วยขับเลือดข้นในร่างกายให้กระจาย ช่วยกระจายเลือด แก้เลือดคั่งค้างเป็นลิ่มเป็นก้อน ทำให้เลือดที่อุดตันในร่างกายไหลเวียนสะดวก(ใบ)
  5. น้ำคั้นจากใบใช้ผสมกับเหล้ากินเป็นยาแก้อาเจียนเป็นเลือด (ใบ)
  6. ใบเมื่อนำมาตำแล้วให้คั้นเอาแต่น้ำมาใช้ผสมกับเหล้ารับประทานเป็นยาแก้ไอ (ใบ)
  7. รากเป็นยาแก้ท้องเสีย (ราก) น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาทาแก้อาการปวดท้อง (ใบ)
  8. ใบนำมาต้มกับนมรับประทานเป็นยาแก้ท้องร่วงอย่างแรง (ใบ)
  9. น้ำคั้นจากใบใช้ผสมกับเหล้ารับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ (ใบ)
  10. รากและใบนำมาตำผสมกัน ใช้เป็นยาพอกถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น พิษงู ผึ้ง ต่อ แตนต่อย เป็นต้น หรือจะใช้กากของใบนำมาพอกแผลบริเวณที่ถูกกัดจะช่วยดูดพิษของอสรพิษได้ หรือจะใช้ใบนำมาขยี้ผสมกับเหล้าขาวเป็นยาทาก็ได้เช่นกัน (ใบ,รากและใบ)
  11. รากและใบนำมาต้มกับน้ำใช้อาบแก้โรคผิวหนังและผื่นคันตามตัว (บ้างว่าใช้รักษางูสวัดได้ด้วย) (รากและใบ) ใช้รากเป็นยาทาเด็กที่เป็นเม็ดตุ่มขึ้นตามตัว (ราก)
  12. ใบนำมาต้มกับนมรับประทานเป็นยาแก้ฝีฝักบัว (ใบ)
  13. น้ำคั้นจากใบใช้ผสมกับเหล้ากินช่วยแก้อาการช้ำใน แก้ปวดบวมตามข้อ หรือจะใช้น้ำคั้นจากใบทาแก้อาการปวดตามข้อก็ได้เช่นกัน (ใบ)
  14. ช่วยแก้เคล็ดขัดยอก ด้วยการใช้รากนำมาตำผสมกับเหล้าหรือน้ำส้มสายชู แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น (ราก)
  15. ทางตอนใต้ของอินเดียมีการใช้ใบของต้นกระดูกไก่ดำเพื่อรักษาโรคติดเชื้อหลายชนิด (ใบ)
  16. ทั้งต้นมีรสเผ็ด เป็นยาร้อนเล็กน้อย สรรพคุณเป็นยาขับลมชื้นตามข้อกระดูก (ทั้งต้น)

ขอบคุณที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี , thaihealth (สสส.) , หมอชาวบ้าน
ภาพจาก : mgronline